Skip to main content
sharethis

ไทยติดอันดับ 6 ประเทศน่าอยู่-เหมาะทำงานมากสุดในโลก

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ได้รับทราบว่า ไทยได้รับการจัดให้อยู่อันดับที่ 6 ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าอยู่และเหมาะให้ชาวต่างชาติมาทำงานมากที่สุดในโลก จาก 53 อันดับ ทั่วโลก จากรายงาน Expat Insider 2023 ซึ่งจัดทำโดยเว็ปไซต์ InterNations ซึ่งมีเครือข่าย Expat เป็นสมาชิกกว่า 5 ล้านคนทั่วโลก

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รายงาน Expat Insider 2023 ได้จัดให้ไทยอยู่ในลำดับที่ 6 ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าอยู่และเหมาะให้ชาวต่างชาติมาทำงานมากที่สุดในโลก จากทั้งหมด 53 ประเทศ ซึ่งสำรวจผ่านความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็น Expat 12,065 คน ใน 172 ประเทศและดินแดน ทั้งนี้ ไทยมีอันดับประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าอยู่และเหมาะให้ชาวต่างชาติมาทำงานมากที่สุดในโลกที่ดีขึ้น โดยในปี 2022 ไทยอยู่อันดับที่ 8 และ ในปี 2021 ไทยอยู่อันดับที่ 12 สำหรับปี 2023 นี้ 3 อันดับแรกได้แก่ 1 เม็กซิโก 2 สเปน และ 3 ปานามา

สำหรับเกณฑ์การจัดลำดับของ Expat Insider 2023 ประกอบไปด้วย การพิจารณาจาก 5 ดัชนีหลักครอบคลุมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย รัฐบาล ภาษา และชีวิตดิจิทัล ซึ่งไทยนับได้ว่าอยู่ในลำดับที่ค่อนข้างสูง ดังนี้ ดัชนีคุณภาพชีวิต (ลำดับที่ 37) ดัชนีความสะดวกสบายในการเข้าพัก (ลำดับที่ 11) ดัชนีการทำงานในต่างประเทศ (ลำดับที่ 39) ดัชนีการเงินส่วนบุคคล (ลำดับที่ 4) และ ดัชนีสิ่งที่จำเป็นสำหรับชาวต่างชาติ (ลำดับที่ 18) ซึ่งในรายงานยังระบุว่า ประเทศไทยมีระดับความสุขต่อการไปอยู่ไปทำงานของ Expat 86% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งอยู่ที่ 72 % โดยหมวดของเกณฑ์วัดที่ไทยได้คะแนนดี ได้แก่ คุณภาพชีวิต และปัจจัยที่เอื้อต่อการย้ายไปทำงาน เช่น ค่าตอบแทน อีกทั้งยังเป็นสวรรค์ของ Expat ที่ชอบท่องเที่ยวพักผ่อน ขณะที่ค่าครองชีพก็มีความเหมาะสม นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า ชาวต่างชาติ 86% เห็นว่ารายได้ครัวเรือนเพียงพอต่อการอาศัยอยู่ในประเทศไทย ราคาบ้านถูก และชาวต่างชาติ 9 ใน 10 พึงพอใจกับอาหารไทยที่มีความหลากหลาย วัฒนธรรมไทยและชีวิตกลางคืนก็เป็นปัจจัยที่ชาวต่างชาติชื่นชอบมากถึง 78% อีกด้วย

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณผลการจัดลำดับดังกล่าว เชื่อมั่นว่าเป็นผลสะท้อนการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมา ว่าแก้ไขปัญหาตรงจุด ตอบโจทย์ความต้องการของชาวต่างชาติในไทย รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นการจัดอันดับด้วยการสำรวจความคิดเห็นจึงเชื่อมั่นได้ว่าเป็นผลที่สะท้อนความคิดของลูกค้า หรือคือชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยอย่างแท้จริง ถือเป็นอีกเสียงสะท้อนว่าชาวต่างชาติ เห็นศักยภาพ โอกาส และมีความชื่นชอบประเทศไทย ทั้งนี้ การเข้ามาของกลุ่ม Expat นั้นมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการสร้างรายได้ การลงทุน และเพิ่มโอกาสการจ้างงานภายในประเทศ” นางสาวรัชดา กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 15/7/2566

กำชับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เร่งแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน พร้อมบูรณาการนโยบาย MIND ใช้ "หัว" และ "ใจ" ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ส่งเสริมการประกอบการตามนโยบาย MIND เพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 2 พร้อมย้ำการใช้ "หัว" และ "ใจ" ในการทำงานส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านนโยบาย MIND ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมจาก สอจ. ในเขตภาคตะวันออกและภาคกลาง สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 7 และศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก และภาคตะวันตก กรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงกำชับให้ สอจ. บังคับใช้กฎหมายในการกำกับดูแลโรงงานอย่างสุดซอย กล่าวคือ หากพบกรณีโรงงานมีข้อร้องเรียน ให้ สอจ. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวโดยละเอียด อีกทั้งยังเพิ่มความเข้มข้นให้ดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมาย/กฎระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงงานในทุกมิติ เพื่อไม่ให้โรงงานกล้ากระทำความผิด  โดยมีนายเตมีย์ พันธุวงค์ราช ผู้อำนวยการกองตรวจราชการ กล่าวรายงาน พร้อมกันนี้ได้รับเกียรติจากนายสุรพล ชามาตย์ นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเปิดงาน ณ โรงแรมโนโวเทล ระยอง ริมเพ รีสอร์ท จังหวัดระยอง

สำหรับการสัมมนาฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 ก.ค. 2566 โดยมีหัวข้อการบรรยาย อาทิ การดำเนินงานศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีตัวอย่างและข้อควรรู้เกี่ยวกับคดีศาลปกครอง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการแก้ไขปัญหาของ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด เทคนิคการส่งเสริมการประกอบการอุตสาหกรรมให้เกิดผลสัมฤทธิ์

ทั้งนี้ ผลของการสัมมนาฯ ดังกล่าว จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพแก่บุคลากรของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นแนวทางในการบูรณาการนโยบาย MIND มุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการไปสู่ความสำเร็จ พร้อมกับแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนอย่างยั่งยืน

ที่มา: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล, 14/7/2566

ประกันสังคม ยืนยันสถานะกองทุนยังมีเสถียรภาพ และ มีเงินทุนสะสมเพิ่มขึ้น 3.24% ขอประชาชนมั่นใจพร้อมดูแลผู้ประกันตนได้ทุกกรณี

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงรายงานสถานะการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ว่า จากข้อมูลผลการบริหารการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ณ วันที่ 31 ธ.ค.65 ที่ผ่านมา พบว่า มีเงินลงทุนสะสมของกองทุนประกันสังคมอยู่ที่ 2,271,818 ล้านบาท และในปี 66 ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 66 มีเงินลงทุนสะสมอยู่ที่ 2,345,347ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.24 % เมื่อเทียบกับข้อมูลปี 65 และจากการประมาณการ สถานะกองทุนประกันสังคม ในปี 2570 คาดว่าจะมีเงินลงทุนสะสมคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านล้านบาท

โดยปัจจุบันสำนักงานประกันสังคม มีการบริหารสภาพคล่อง โดยใช้กลยุทธ์การลงทุนที่มีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการถือครองหลักทรัพย์ในระยะยาว มีการมองหาโอกาสในการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่กองทุน ซึ่งผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาวนั้น ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ และ สถานะของกองทุนมีเม็ดเงินที่เพียงพอสำหรับการจ่ายสิทธิประโยชน์ในทุกกรณี

ส่วนมาตรการเสริมสร้างเสถียรภาพ กองทุนประกันสังคมในระยะยาวนั้น สำนักงานประกันสังคมได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและข้อระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป อย่างรวดเร็ว สามารถรองรับวิกฤตการณ์ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยยึดประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ

“สำนักงานประกันสังคม ขอให้พี่น้องผู้ประกันตนทุกท่านมั่นใจ ได้ว่ากองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่มีเสถียรภาพ มั่นคง สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอ สำหรับการจ่ายสิทธิประโยชน์ในระยะยาวให้กับผู้ประกันตนทุกกรณีอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถค้นหาข้อมูลการลงทุนและสถานะกองทุนประกันสังคมเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th นายบุญสงค์ กล่าวท้ายสุด

ที่มา: เนชั่นออนไลน์, 13/7/2566

แรงงานข้ามชาติหลุดระบบ 5 แสนคน 'หอการค้า' เตือนนายจ้างเตรียมขึ้นทะเบียน

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานถือว่าเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 และมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทั้งในและพื้นที่นอกเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ซึ่งการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรม เช่น ภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคประมงและอาหารแปรรูป ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งต้องใช้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยภาคเอกชนมีการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับภาครัฐโดยกระทรวงแรงงานเพื่อผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้แรงงานเหล่านี้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวอยู่ในประเทศไทยประมาณ 2.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากในช่วงสถานการณ์โควิด -19 ที่ลดลงเหลือ 1.9 ล้านคน คาดว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวในไทยจะค่อยๆเพิ่มขึ้น และมีโอกาสจะกลับไปอยู่ที่ระดับ 3 ล้านคน เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ซึ่งหอการค้าได้มีการหารือกับรัฐบาลว่าจะมีการเตรียมมาตรการรองรับในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยประมาณ 2.4 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นแรงงานตามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่เข้ามาทำงานในไทยแล้วใบอนุญาตทำงานหมดอายุไปตั้งแต่ 13 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา โดยมีการมาต่อใบอนุญาตทำงานเพียง 1.9 ล้านคน ที่เหลือเป็นแรงงานที่ยังไม่ได้ต่ออายุการทำงาน หรือมีการเปลี่ยนนายจ้างแต่ไม่ได้แจ้งอย่างถูกต้อง ทำให้สถานะในการเป็นแรงงานในขณะนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งมีอยู่จำนวนประมาณ 5 แสนคน

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมาได้เห็นชอบให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายสามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษโดยผ่อนผันให้ถึงวันที่ 31 ก.ค.2566 โดยนายจ้างมีหน้าที่ต้องดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว (name list) ให้กับกระทรวงแรงงานเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าคนต่างด้าวได้รับการผ่อนผันตามกฎหมาย และจากนั้นจะเสนอรัฐบาลใหม่ในการออกมาตรการเหมือนที่ทำ MOU รอบที่ผ่านมาในการต่ออายุให้แรงงานต่างด้าวทำงานทำงานในไทยได้อีก 2 ปี ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 13 ก.พ.2568

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่าสาเหตุที่ ครม.อนุมัติระยะเวลาในการผ่อนผันให้แรงงานกลุ่มนี้ไว้เพียงประมาณ 1 เดือน ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 31 ก.ค.เนื่องจากในขณะนี้เป็นรัฐบาลรักษาการหากมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาออกไป แล้วยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ ก็จะเสนอขอขยายระยะเวลาจาก ครม.รักษาการอีกครั้ง ส่วนหากได้รัฐบาลใหม่เข้ามาก็จะเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาทั้งในเรื่องของกรอบระยะเวลา และแนวทางการขยายอายุ MOU ให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำงานในประเทศไทยได้ถึงเดือน ก.พ.2568

“แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ที่มีอยู่ประมาณ 5 แสนคน เป็นแรงงานที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะอยู่ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งการก่อสร้าง อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ยางพารา ภาคการท่องเที่ยว และแรงงานที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการส่งออก ซึ่งแนวทางบริหารจัดการคือผ่อนผันให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้แรงงานกลุ่มนี้เข้ามามีส่วนในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสาขาต่างๆ”

นายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล กรรมการ หอการค้าไทย และรองประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรี ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอนั้น มีความสำคัญที่จะช่วยให้พลิกฟื้นเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมการส่งออก และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยกลับมาขับเคลื่อนศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของตนได้อีกครั้ง

โดยขอเชิญชวนและประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบกิจการที่ใช้แรงงานต่างด้าวทั่วประเทศ สมาชิกหอการค้าไทย หอการค้า จังหวัด และสมาคมการค้าต่างๆ โปรดเร่งดำเนินการนำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องเพื่อให้ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานถึงวันที่ 31 ก.ค.2566 หากมีข้อสงสัยกรุณาติดต่อ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรสายด่วน : 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 13/7/2566

ก.แรงงาน เอ็มโอยู เกาหลีใต้ ยกระดับความปลอดภัยในการทำงาน

12 ก.ค. 2566 ที่กระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายประทีป ทรงลำยอง รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานเนื่องในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชา (เอ็มโอยู) การด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ระหว่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กับองค์กรความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) โดยมี นายสมพจน์ กวางแก้ว รองอธิบดี กสร.และ นายรยู ชาง ชิน (Mr.Ryoo, Jang Jin) รองประธานองค์กรความปลอดภัยและอาชีวอนามัย แห่งสาธารณรัฐเกาหลี ร่วมลงนาม ท่ามกลางสักขีพยานทั้งสองฝ่าย

สำหรับเอ็มโอยูนี้ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล นโยบาย และแนวปฏิบัติที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ รวมถึงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ สำหรับการฝึกอบรมทางเทคนิควิชาการต่างๆ การให้คำปรึกษา แนะนำ การสัมมนา ประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือโครงการวิจัยในหัวข้อที่มีสนใจร่วมกัน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ และเครื่องมือในด้านสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน อันเป็นการช่วยพัฒนาขีดความสามารถ ทางวิชาการด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัยของประเทศไทย และช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานของทั้ง 2 ประเทศ มีความปลอดภัยและมีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น

นายประทีปกล่าวว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในครั้งนี้ ดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงที่ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญยิ่งที่จะช่วยยกระดับงานด้านความปลอดภัยฯ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตและความมั่นคง ของแรงงาน อันเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และมีความยั่งยืน อันจะยังประโยชน์และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตในการทำงานให้แก่ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ

“นอกจากนี้ สาธารณรัฐเกาหลี ถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำ ในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ โดยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาไอแอลโอ (ILO) ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และอนุสัญญา ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ตั้งแต่ปี 2551 จึงถือได้ว่ามีประสบการณ์ในการพัฒนา การดำเนินงานรองรับอนุสัญญาฯ และสามารถให้คำปรึกษาแนะนำประเทศไทยซึ่งกำลังพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 155 นี้” นายประทีปกล่าว

รองปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวเพิ่มเติมว่า ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของผู้ใช้แรงงานถือได้ว่าเป็นประเด็นที่ทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญ ทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และภาครัฐ สำหรับประเทศไทยงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานได้มีจุดเริ่มต้นและเป็นที่รู้จักมากว่า 50 ปี ปัจจุบันพบว่า สถานการณ์การประสบอันตรายจากการทำงานและที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีอัตราที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ ที่พัฒนาแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อเผชิญกับปัญหาและความท้าทายดังกล่าว

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้ง 2 หน่วยงาน จะได้มีความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด และเข้มแข็ง จะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ในการลดการเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย และโรคเนื่องจากการทำงาน อันจะสร้างเสริมความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของคนทำงานและประชาชนให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน” นายประทีปกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 12/7/2566

เอกชนเตรียมเสนอรัฐบาลรักษาการแก้แรงงานเถื่อนให้ถูกกฎหมาย

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่าการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศนั้น โดยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 66 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและสามารถทำงานกับนายจ้างไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยให้นายจ้างดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว พร้อมรูปถ่าย ต่อกรมการจัดหางาน ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยให้นายทะเบียนออกหลักฐานการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวให้แก่นายจ้าง และให้คนต่างด้าวใช้บัญชีรายชื่อดังกล่าว เป็นหลักฐานแสดงว่าคนต่างด้าวได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566

ทั้งนี้ กรมการจัดหางาน ดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจยังคงปรากฏอยู่ เนื่องจากคนต่างด้าว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 65 ที่ไม่ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 500,000 คน ปัจจุบันกลายเป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ ในขณะที่นายจ้าง/สถานประกอบการ มีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบางส่วนจำเป็นต้องจ้างงานคนต่างด้าวที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด หรือเข้าเมืองโดยไม่ถูกต้อง กระทรวงแรงงานจึงเสนอแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้รับข้อร้องเรียนถึงประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากสมาชิกผู้ประกอบการ สมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการจัดประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลมาโดยตลอดเป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน อย่างใกล้ชิด โดยมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาและมุ่งเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นรูปธรรม ซึ่งต้องขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้มีมาตรการเชิงรุกต่างๆ ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของประเทศไทย และแก้ไขปัญหาการแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน

"ภาคเอกชนยังกังวลอยู่จากแนวทางดังกล่าวที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 66 นี้ และยังไม่รู้ว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศได้ต่อไปเมื่อไหร่ ดังนั้น คาดหวังหากยังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่มาก็อยากให้รัฐบาลชุดรักษาการณ์ได้พิจารณาผ่อนผันขยายเวลาให้กับแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ออกไปอีกเพื่อให้ภาคเอกชนต่างๆ สามารถมีแรงงานที่ถูกกฎหมายสามารถเข้ามาช่วยภาคอุตสาหกรรมต่างๆของไทยที่ยังจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวต่อไปได้อีกและหากได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแล้วค่อยพิจารณาต่ออายุแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมายไปจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 68 กันได้ต่อไป” นายพจน์กล่าว

อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจเอกชนยังคงต้องอาศัยกำลังแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ภาคธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และผู้ประกอบการ SMEs ยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และมีความต้องการแรงงานจำนวนมากเพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 12/7/2566

รมว.แรงงานส่งหัวหน้าผู้ตรวจ กรง.พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบหลังเกิดเหตุคานสะพานข้ามแยกถล่มขณะกำลังก่อสร้างพร้อมดูแลสิทธิประโยชน์ลูกจ้างเต็มที่

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังทราบเหตุคานสะพานข้ามแยกถล่มในพื้นที่ลาดกระบังจนทำให้มีลูกจ้างเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ ว่า ผมขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม มีความห่วงใย และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ผมได้มอบหมายให้ นางโสภา เกียรตินิรชา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสมพจน์ กวางแก้ว รองอธิบดี กสร. ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับพนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 10 (สรพ.10) และ ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 12 (ศปข.12) พบว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 13 ราย และเสียชีวิตจำนวน 2 ราย เบื้องต้นผมได้สั่งการให้เร่งดำเนินการให้ลูกจ้างผู้ได้รับบาดเจ็บและญาติของผู้เสียชีวิต ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย และตรวจสอบสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน

นางโสภา เกียรตินิรชา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตนได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ได้แก่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่บาดเจ็บและเสียชีวิต ทราบว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลาดกระบัง จำนวน 8 ราย โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำนวน 5 ราย และผู้เสียชีวิตจำนวน 2 ราย เป็นลูกจ้างผู้รับเหมาช่วง โดย สรพ.10 และศปข.12 จะเชิญนายจ้างและผู้เกี่ยวข้องมาพบในวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 เพื่อตรวจสอบว่านายจ้างได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น หม้อน้ำ พ.ศ. 2564 หรือไม่ หากพบว่านายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป จากนั้นยังได้เดินทางไปเยี่ยมลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บ ณ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้บาดเจ็บ

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะเร่งดำเนินการให้ลูกจ้างที่บาดเจ็บได้รับสิทธิประโยชน์เรื่องการรักษาพยาบาล สิทธิประโยชน์ทดแทนจากสำนักงานประกันสังคม พร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวลูกจ้างที่เสียชีวิตให้ได้รับสิทธิประโยชน์พึงได้ตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: สยามรัฐ, 11/7/2566

สานพลังแก้ปัญหาเล่นพนันในกลุ่มแรงงาน "จากความหวังรวยทางลัดกลายเป็นหนี้ล้น"

จากปัญหาโครงสร้างการจ้างงาน ค่าจ้างไม่เป็นธรรม การควบคุมของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีวิถีชีวิตที่ขัดสน เกิดความเครียด คนงานต้องหาวิธีปลดปล่อย และพยายามหาหนทางเพิ่มรายได้ ทั้งเพื่อปากท้องของตัวเอง เพื่อส่งเงินกลับบ้าน เพื่อใช้หนี้เงินผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ ซื้อสินค้า สุดท้ายก็ใช้หนทางเสี่ยง กู้เงินนอกระบบ จนต้องเผชิญกับดอกเบี้ยโหดทบต้น และพึ่งพาความหวังที่จะหาเงินจากพนัน ซึ่งทุกวันนี้มีการพนันออนไลน์ที่เข้าถึงได้ทันทีผ่านมือถือ ไม่ว่าจะเป็นสล็อตแมชชีน หวยใต้ดิน พนันบอล และ ฯลฯ

ข้อมูลเหล่านี้มาจากงานเสวนาในหัวข้อ “การพนันในวิถีชีวิตประจำวันของแรงงานภาคอุตสาหกรรม” ที่ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับมูลนิธิชายหญิงก้าวไกลเพื่อสังคม สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่กำลังลุกลามระบาดหนัก และจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรสานพลังร่วมมือช่วยกันชี้ทางออก ก่อนที่จะสะสมกลายเป็นปัญหาสังคม

ผศ.ปัทมาภรณ์ สุขสมโสด อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า สำรวจกลุ่มแรงงานผลิตอายุ 20-60 ปี เงินเดือน 1-2 หมื่นบาท และกลุ่มระดับหัวหน้าปฏิบัติการแรงงานฝีมือวัย 30-45 ปี ระดับการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป มีเงินเดือนสูง หนุ่มสาวโรงงานมีวันหยุดเพียงวันเดียวคือวันอาทิตย์ ชอบพักผ่อนอยู่บ้านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ บางคนชอบใช้โทรศัพท์เล่นการพนัน นัดเพื่อนกินข้าวหรือนัดช่วงเย็นหลังเลิกงาน

ผลสำรวจแรงงานมีวิถีชีวิตที่จำเจ ส่วนใหญ่ทำงานล่วงเวลาเพื่อเพิ่มรายได้ นอกจากค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต หลายคนต้องส่งเงินกลับบ้าน ต้องใช้หนี้เงินผ่อน ผ่อนรถ ผ่อนซื้อสินค้า โดยทั่วไปคนงานไม่ค่อยมีเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเล่นพนันกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ โดยเริ่มเล่นตามการแนะนำของเพื่อนในโรงงาน สังเกตเพื่อนและตามไปเล่น เวลาที่ใช้เล่นพนันมีทั้งช่วงพักเบรก พักกลางวัน กลุ่มที่เล่นเสียมักจะขอยืมเงินจากเพื่อนก่อน หนักๆ เข้าก็ไปกู้ยืมเงินนอกระบบ กลายเป็นปัญหาต่อเนื่อง

“ทุกคนมีเฟซบุ๊ก หาข้อมูล คลิกตามเข้าไปเล่นพนัน ระบบก็จะพบคุณแล้วเสนอเว็บพนันให้ตามเข้าไปเล่น มีสูตรเด็ด เว็บจ่ายจริง อะไรอีกสารพัด แถมมีไลน์กลุ่มให้บริการ 24 ชั่วโมง การเล่นพนันออนไลน์จึงสะดวก คนงานเข้าถึงได้ด้วยความรวดเร็ว แค่ไม่กี่วินาทีโอนเงินเข้าไปก็เล่นได้เลย บางคนหารายได้เสริมด้วยการแชร์หน้าเว็บ คนงานจึงไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นปัญหา ไม่เคยจดจำว่าเสียไปแล้วเท่าไหร่ บางคนมีปัญหาหนี้สิน ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ความเครียดจากพนันทำให้เสียสุขภาพ เสียสมาธิในการทำงาน นายจ้างเองก็เห็นปัญหาและอยากร่วมแก้ไขปัญหา เพื่อให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ผศ.ปัทมาภรณ์เปิดเผย

สัดส่วนการเล่นสล็อตแมชชีนเข้าถึงง่าย เล่นง่าย เป็นที่นิยมทั้งหญิงชาย หวยใต้ดิน คนที่มีรายได้น้อยจะเล่นงวดชนงวด คนมีเงินก็จะเล่นหวยรัฐบาล ผู้ชายชอบเล่นการพนัน มวย บ่อน ไก่ชน ในช่วงโควิดสนามมวย สนามบอลหยุดก็เล่นทางออนไลน์ ไพ่บัคคาราเล่นทั้งหญิงและชาย ลงทุนน้อยได้เงินเยอะ ส่วนใหญ่เพื่อนชักชวนให้เล่นผ่านทางไลน์ ทำให้อยากรู้อยากลอง ศึกษาการเล่นผ่านกูเกิลก็เล่นได้ บางคนเลือกเล่นช่วงพักกลางวัน บางคนติดการพนันถึงกับหยิบยืมเงินกู้เพื่อนดอกเบี้ยร้อยละ 10 ในช่วงโควิดโรงงานลดเงินเดือนลง 50-70% เมื่อมีเวลาว่างก็เล่นพนันออนไลน์มากขึ้น เล่นได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา

จากการสำรวจบางคนต้องการปลดหนี้ บางคนเป็นหนี้บัตรเครดิต คิดหนักต้องกู้ยืมเงินนอกระบบมาโปะหนี้สิน เพราะธนาคารไม่ปล่อยเงินกู้ เลือกกู้เงินนอกระบบ บางคนเล่นการพนันจนนอนดึกถึงโต้รุ่ง ตื่นสายเสียงานเสียการ ทุกข์กายทุกข์ใจว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาเป็นค่าใช้จ่าย โกหกคนใกล้ตัวว่าไม่ได้เล่นการพนัน เริ่มโกหกไปเรื่อยๆ ติดหนี้จำนวนมาก ต้องกู้หนี้ยืมสิน ครอบครัวเดือดร้อน เพื่อนเลิกคบเพราะไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ ครอบครัวแตกแยกกลายเป็นปัญหาสังคมในกลุ่มแรงงาน ข้อเสนอแนะให้นายจ้างจัดเงินสวัสดิการเพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต ตักเตือนพนักงานที่เล่นการพนัน กำหนดบทลงโทษชัดเจน

ผศ.ดร.ธนิต โตอดิเทพย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.บูรพา เปิดเผยว่า ผลสำรวจงานวิจัยแรงงานในภาคอุตสาหกรรมชลบุรี อยุธยา  การทำงานในนิคมอุตสาหกรรมด้วยนโยบายรัฐซ้อนรัฐ กลุ่มแรงงานจำเป็นต้องมีรถมอเตอร์ไซค์มือสองดอกเบี้ยแพง รถกระบะเดินทางไปทำงานในนิคมฯ เนื่องจากหอพักอยู่ไกลแหล่งงาน ค่าครองชีพในนิคมฯ สูง เมื่อก่อนเวลาพูดถึงการพนันในโรงงานคนจะคิดถึงหวย มวย พนันบอล แต่ปัจจุบันการพนันออนไลน์กำลังรุกคืบเข้าสู่สังคมแรงงาน ส่งผลกระทบไปในวงกว้าง

ในงานวิจัยพยายามค้นหาว่าทำไมคนงานถึงเล่นพนัน  ก็พบว่าคนงานแบกความคาดหวังจากบ้านออกมาทำงาน คนงานไม่ได้ต้องการเป็นคนงานตลอดชีวิต แต่คาดหวังจะมีเงินสักก้อนกลับไปทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่บ้านเกิด แต่ด้วยรายได้ที่ต่ำ ความสิ้นหวัง ความเครียด ทำให้คนงานเล่นพนัน ยิ่งเล่นก็ยิ่งเพิ่มเงินพนัน เสียพนันจนเป็นหนี้ก็ไม่เลิก ปัญหาต่างๆ ก็ตามมา

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางกลุ่มแผนงานลดปัญหาจากการพนัน สสส. นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้แนวคิดว่าอบายมุขคือการพนัน เป็นหัวข้อที่พูดกันมาตลอดว่าควรเลิกการพนัน ด้วยโครงสร้างการจ้างงาน ค่าจ้างไม่เป็นธรรม การควบคุมของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความเครียดในชีวิตการงาน คนงานต้องหาวิธีปลดปล่อยซึ่งมีหลายวิธีที่ไม่ได้เสี่ยง แต่ทำไมคนงานกลุ่มหนึ่งถึงเลือกผ่อนคลายกับสิ่งที่เป็นความเสี่ยง เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ เล่นการพนัน ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าเป็นเรื่องไม่ดีทำให้ชีวิตยิ่งเสี่ยง หลายคนได้รับผลกระทบก็ไม่หยุด

“การมีรายได้ไม่เพียงพอ ไม่สามารถคาดหวังอนาคตได้ ทำให้การเล่นพนันของคนงานเป็นความหวังของกลุ่มคนที่สิ้นหวัง คนงานมีความเชื่อว่าชีวิตจะไม่มีทางดีขึ้นได้ นอกจากถูกหวย ถ้าจะแก้ไขปัญหาต้องแก้ที่โครงสร้างรายได้ของแรงงาน คนงานต้องได้ค่าจ้างที่สอดคล้องกับคุณภาพชีวิต พอมีรายได้เพียงพอ ความเครียดลดลง ก็ไม่ต้องหวังลมๆ แล้งๆ ไม่ต้องหวังออกจากกับดักรายได้ด้วยการเล่นหวย” ศาสตราภิชานแลเปิดเผย

"อะไรคือความหวัง เมื่อผู้ใช้แรงงานกลุ่มหนึ่งเลือกเล่นการพนัน รัฐต้องทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี ถ้าจะไขปัญหาก็ต้องให้คนหัวอกเดียวกันเข้าไปช่วยกันแก้ไข การที่ฝ่ายบุคคลหรือ HR ออกกฎระเบียบ ห้ามเล่นการพนันออนไลน์หรือจะออนไซต์เป็นเรื่องยากมาก เป็นเรื่องจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน”

“การมีรายได้ไม่เพียงพอ ไม่สามารถคาดหวังอนาคตได้ ทำให้การเล่นพนันของคนงานเป็นความหวังของกลุ่มคนที่สิ้นหวัง คนงานมีความเชื่อว่าชีวิตจะไม่มีทางดีขึ้นได้ นอกจากถูกหวย ถ้าจะแก้ไขปัญหาต้องแก้ที่โครงสร้างรายได้ของแรงงาน คนงานต้องได้ค่าจ้างที่สอดคล้องกับคุณภาพชีวิต พอมีรายได้เพียงพอ ความเครียดลดลง ก็ไม่ต้องหวังลมๆ แล้งๆ ไม่ต้องหวังออกจากกับดักรายได้ด้วยการเล่นหวย” ศาสตราภิชานแลกล่าว

นายจิระศักดิ์ ล้ำเลิศ ประธานสหภาพแรงงานไทยนิปปอนสตีล กล่าวว่า คนงานเล่นพนันมี 3 กลุ่ม คือ 1) เล่นเพื่อมีความสุข สนุกสนาน เผื่อฟลุก 2) เล่นเพราะโลภ อยากได้โดยไม่ต้องลงมือทำ 3) เล่นเพราะนิสัยไม่ยอม เสียแล้วอยากได้คืน เสียแล้วตาม พวกนี้มักจบลงด้วยปัญหา ถึงโรงงานจะมีระเบียบห้ามเล่นพนัน ถ้าถูกเลิกจ้างเพราะเล่นพนันจะไม่ได้เงินชดเชย ก็ไม่กลัว คิดว่าทางแก้เรื่องแรกคือ รัฐต้องห้ามโฆษณา ห้ามการเชิญชวนในรายการทีวีต่างๆ อีกด้านต้องพยายามสื่อสารให้คนงานรู้เท่าทันปัญหาพนัน  เข้าใจเรื่องสุขภาวะ เรื่องดีๆ ที่ สสส.ทำ ทุกวันนี้คนงานแทบจะไม่รู้ ต้องหาวิธีสื่อสารให้เข้าถึงคนงาน

นายธนกร พวยไพบูลย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ค่าจ้างต้องเป็นธรรม สวัสดิการต้องเป็นจริง ปัญหาเริ่มจากรายได้ไม่พอ เครียด แล้วก็ทำเรื่องเสี่ยงๆ  ทำให้ยิ่งไม่พอ ยิ่งเครียด การพนันของคนงานมีมานานแล้ว แต่ออนไลน์ทำให้เล่นง่าย เล่นได้เร็วขึ้น เลยติดพนันกันมากขึ้น เดี๋ยวนี้คนปล่อยกู้ในโรงงานแปลงร่างเป็นเจ้ามือ กระตุ้นให้คนงานเล่นพนันหนักขึ้น หลายคนเล่นพนันจนเสียรถเครื่อง.

สรุปข้อเสนอต่อแนวทางแก้ไขปัญหา

1) ต้องปรับโครงสร้างการจ้างงาน รวมถึงการจัดสวัสดิการ ทำให้แรงงานมีรายได้เพียงพอในการดูแลตนเองและครอบครัวได้จริง

2) รณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรู้เท่าทันพนัน ให้ความรู้เรื่องโทษของการเล่นพนันแก่ผู้ใช้แรงงานอย่างทั่วถึง

3) ผู้ประกอบการควรปรับข้อตกลงในการจ้างหรือสัญญาการจ้างงาน ระบุให้ชัดเจนว่า ถ้าเล่นการพนันในระหว่างทำงานจะถูกลงโทษอย่างไร และกรณีโดนเลิกจ้างเพราะเล่นการพนันในระหว่างทำงานจะเสียสิทธิ์ในการได้ค่าชดเชยอะไรบ้าง ส่วนข้อเสนอที่สามารถดำเนินการได้เลยคือ สหภาพแรงงานควรจับมือกับนายจ้างในการรณรงค์ “ห้ามเล่นการพนันและโทษของการเล่นพนันในสถานประกอบการ”

ที่มา: ไทยโพสต์, 11/7/2566

‘BOI’ เผยผลสำรวจเอกชน ต้องการแรงงาน รับการลงทุนใหม่ใน ‘EEC’

รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 2566 มีจำนวน 128 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 28% รวมมูลค่าเงินลงทุน 101,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 84% โดยส่วนมากเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

โดยเมื่อแบ่งเป็นการลงทุนรายจังหวัด พบว่าจังหวัดชลบุรีมีโครงการลงทุนมากที่สุด จำนวน 70 โครงการ เงินลงทุน 81,232 ล้านบาท รองลงมาคือ จังหวัดระยองมี 41 โครงการ เงินลงทุน18,653 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทราอยู่ที่ 17 โครงการ เงินลงทุน 1,218 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทที่ทำเรื่องขอรับส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค. 2566 จำนวน 86 โครงการได้แจ้งความต้องการแรงงานไปยังบีโอไอให้จัดหากำลังคนที่จะเข้ามาทำงานในโรงงานเปิดใหม่ในหลายสาขาวิชาชีพ รวมทั้งสิ้น 5,585 คน โดยเป็นแรงงานที่จบการศึกษา ระดับป.6-ม.6 มากที่สุด จำนวน 2,970 คน ระดับปริญญาตรี 842 คน ระดับปวช.-ปวศ. 829 คน และอื่นๆ อีก944 คน

ขณะที่เมื่อแบ่งตามอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงานมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 2,136 คน ยานยนต์และชิ้นส่วน 1,032 คน เกษตรและอาหารแปรรูป 142 คนอากาศยาน 114 คน การแพทย์ 92 คน เทคโนโลยีชีวภาพ 46 คน และอื่นๆ 1,996 คน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 9/7/2566

ปีกแรงงานก้าวไกล จัดประชุมใหญ่แรงงาน 89 สหภาพ เปิดแผน 100 วันนโยบายแรงงานก้าวไกล สร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ภายใต้รัฐบาลที่มีนายกฯ ชื่อพิธา

9 ก.ค. 66 พรรคก้าวไกลจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นนโยบายแรงงานรัฐบาลใหม่ รวมตัวแรงงาน 89 สหภาพแรงงานทั่วประเทศเพื่อรับฟังความคิดเห็นแผน 100 วัน นโยบายแรงงานก้าวไกล โดยการแถลงนโยบายนำโดย Wanvipa Maison - วรรณวิภา ไม้สน และ เซีย จำปาทอง - Sia Jampathong ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในสัดส่วนปีกแรงงาน และ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ที่ปรึกษาคณะกรรมการเครือข่ายผู้ใช้แรงงานพรรคก้าวไกล โดยแผน 100 วัน กระทรวงแรงงานก้าวไกลประกอบด้วย การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ให้สัตยาบัน ILO 87, 98 เพื่อรับรองสิทธิแรงงานในการรวมตัวเจรจาต่อรอง เปลี่ยนที่มาคณะกรรมการประกันสังคมให้เป็นธรรม ตั้งศูนย์ One Stop Service ขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติให้รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงาน

ษัษฐรัมย์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงคิดและแนวทางการดำเนินนโยบายแรงงานของพรรคก้าวไกลว่าเป้าหมายนโยบายแรงงานของพรรคก้าวไกลมี 4 เรื่อง ได้แก่การเพิ่มสัดส่วนค่าจ้างแรงงานต่อทุนให้สูงขึ้น สร้างการจ้างงานที่ทำให้คนทุกคนสามารถใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มความสามารถ ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตโดยยึดแรงงานเป็นศูนย์กลาง และสร้างความเสมอภาคด้านรายได้ในทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งหลักคิดเหล่านี้นำมาสู่นโยบายแรงงานของพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเรื่องของการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ การเพิ่มมาตรฐานคุ้มครองแรงงาน-สวัสดิการประกันสังคม และการส่งเสริมและรับรองสิทธิการเจรจารวมตัวต่อรอง

หลักคิดนำมาสู่ 11 ชุดนโยบาย เป้าหมายคือทำให้สำเร็จภายในหนึ่งสมัยของการเป็นรัฐบาล แต่มีเรื่องสำคัญเร่งด่วนและเรื่องที่ทำได้ทันทีภายใน 100 วัน ซึ่งปีกแรงงานได้นำเสนอเป็นนโยบายเร่งด่วนสำหรับพรรคก้าวไกล

จากนั้น วรรณวิภา ในฐานะตัวแทนปีกแรงงาน ได้ขึ้นมาแถลงเปิด Roadmap เปลี่ยนคุณภาพชีวิตแรงงานภายใน 100 วัน รัฐบาลก้าวไกล เรื่องแรกคือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งพรรคก้าวไกลมีแผนการชัดเจนในการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับคณะกรรมการค่าจ้างซึ่งประกอบด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ร่วมกันนอกรอบ จากนั้นจึงจัดประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ และจัดทำประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาท จะมีผลบังคับใช้ในช่วงปีใหม่ พ.ศ. 2567

สอง ให้สัตยาบัน ILO 87, 98 เพื่อรับรองสิทธิแรงงานในการรวมตัวเจรจาต่อรอง โดยแผนการดำเนินการของพรรคก้าวไกลประกอบด้วยการพูดคุยกับหน่วยงานราชการและองค์การแรงงานสากล (ILO) จากนั้นจึงเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบและส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภา คาดว่าเรื่องจะเข้าสู่สภาได้ในต้นเดือน ต.ค. 66 ที่จะถึงนี้

สาม จัดให้มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมอย่างเป็นธรรมโดยเร็วที่สุด เนื่องจากผลของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 40/2558 ที่ทำให้การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมมีที่มาจากการแต่งตั้ง ถึงแม้มีหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งบอร์ดใหม่ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกระเบียบหลักเกณฑ์การเลือกตั้งบอร์ดใหม่ออกมาแล้ว แต่กลับมีการเตะถ่วงไม่มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ปีกแรงงานก้าวไกลจะเข้าไปผลักดันให้มีการให้ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติกว่า 2.4 ล้านคน ให้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย โดยกระบวนการทั้งหมดต้องเสร็จภายในเดือน พ.ย. 66

สี่ ตั้งศูนย์ One Stop Service ขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ จากปัญหาที่การขึ้นทะเบียนแบบเดิมมักเปิดให้ขึ้นทะเบียนเพียงแค่บางช่วงเวลาของปี และจากการสำรวจปัญหาพบว่าร้อยละ 93 แรงงานต่างชาติ ไม่สามารถดำเนินเรื่องด้วยตนเองได้ ต้องพึ่งพานายจ้างและบริษัทจัดหางาน ร้อยละ 71 บอกว่ากระบวนการซับซ้อนเกินไป และร้อยละ 69 กล่าวว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินจริง เพราะส่วนใหญ่ต้องอาศัยนายหน้าหรือบริษัทจัดหางาน ซึ่งทำให้เกิดต้นทุนมากถึง 13,000-17,000 บาท/คน ปีกแรงงานก้าวไกลจึงต้องการเข้าไปจัดการแก้ปัญหานี้ โดยการขยายเวลาขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวออกไปอีก 2 ปี ให้หมดอายุในวันที่ 13 ก.พ. 68 พร้อมทั้งตั้งศูนย์ One Stop Service อ้างอิงตามมติ ครม. ที่ รง 0316/66 ในการดำเนินการให้การขึ้นทะเบียนสะดวก รวดเร็ว และไม่เกิดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน

ห้า ยกระดับการให้บริการ เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน เนื่องจากสภาพปัญหาที่ปัจจุบันพนักงานตรวจแรงงานในประเทศไทยยังน้อยกว่ามาตรฐานของ ILO ที่แนะนำไว้ที่ 1:1,000 คน ในขณะที่สัดส่วนพนักงานตรวจแรงงานของไทยอยู่ที่ 1:100,000 คน ต้องทำงานเกินภารกิจหน้าที่ที่ควรจะเป็น และไม่มีสัดส่วนพนักงานตรวจแรงงานของสหภาพ สิ่งที่ปีกแรงงานต้องการเข้าไปผลักดัน คือจัดทำแผนการเพิ่มอัตรากำลังพนักงานตรวจแรงงานและปรับปรุงภาระหน้าที่ของพนักงานตรวจแรงงาน และอาสาสมัครแรงงาน ให้เหมาะสมกับภาระงาน จำนวนแรงงานในพื้นที่ และสอดคล้องกับมาตรฐาน ILO เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายด้านการคุ้มครองแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ช่วงสุดท้าย ปีกแรงงานพรรคก้าวไกลได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับตัวแทนแรงงานจาก 89 สหภาพแรงงานทั่วประเทศ และมีข้อเสนอประเด็นอื่นเพิ่มเติม เช่น จากสหภาพแพทย์ ประเด็นคุณภาพชีวิตคนทำงานในระบบสาธารณสุข, จากสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ (CUT) เรื่องการคุ้มครองแรงงานภาคบริการอุตสาหกรรมอาหาร, จากสหภาพไรเดอร์ ให้ช่วยพูดคุยเรื่องเงื่อนไขการทำงาน เป็นต้น โดยแกนนำแรงงานทั้งหมดตั้งความหวังกับการเลือกนายกฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 13 ก.ค. ที่จะถึงนี้ ว่าไม่ใช่เป็นเพียงแค่การคืนความปกติสู่ประเทศไทยให้เศรษฐกิจสามารถเดินไปข้างหน้า แต่ยังเป็นความหวังที่แรงงานจะมีตัวแทนของตัวเองเข้าไปผลักดันนโยบายและบริหารกระทรวงแรงงานจริงๆ จากที่แต่เดิมคนที่ดูแลนโยบายมักเป็นข้าราชการหรือนายทุน และคาดหวังว่าประเทศไทยและแรงงานไทยจะมีอนาคตที่ดีขึ้นภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ที่มา: พรรคก้าวไกล, 9/7/2566

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net