Skip to main content
sharethis

หลังจากกัญชาถูกถอดออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 โดยที่ยังไม่มีกฎหมายใดๆ ออกมารองรับ ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศและความโกลาหลจากการขายและใช้กัญชาที่ถูกเสนอข่าวอยู่เป็นระยะ เกิดสภาพที่เรียกว่า ‘กัญชาเสรี’

หากมองในแง่การผลักดันนโยบายตามที่ได้หาเสียงต้องถือว่าพรรคภูมิใจไทยประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นความสำเร็จที่พรรคภูมิใจไทยเองก็ไม่กล้าใช้หาเสียงในช่วงก่อนเลือกตั้ง เพราะสังคมมองเรื่องนี้ไปในทางลบมากกว่าบวก

ปลายปี 2565 พรรคก้าวไกลยื่นหนังสือแก่ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อฟ้องศาลปกครองต่อไป โดยต้องการอาศัยอำนาจศาลปกครองเพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นประกาศที่ปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด และออกกฎหมายกัญชง-กัญชาให้เรียบร้อยเสียงก่อนเพื่อควบคุมกำกับดูแลไม่ให้เกิดสภาพ ‘เสรี’ อย่างที่เป็นอยู่

ประเด็นนี้ยังปรากฏในบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ข้อ 16 ที่ระบุว่านำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์กัญชา

จุดนี้เองที่นำไปสู่การคัดค้านของเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยต่อพรรคก้าวไกล

ร่างกฎหมายกัญชา

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย กล่าวว่าเดิมทีร่างกฎหมายกัญชง-กัญชาเป็นร่างของพรรคภูมิใจไทยและพลังประชารัฐ ต่อมามีการตั้งคณะกรรมาธิการ 25 คนเพื่อพิจารณา จนออกมาเป็นร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ.... ก่อนที่จะยุบสภา เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว หากคณะรัฐมนตรีมีมติให้นำร่างไปพิจารณาต่อร่างกฎหมายก็จะเข้ากระบวนการตามปกติต่อไป

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย (คนตรงกลาง, แฟ้มภาพจากเพจเขียนอนาคตกัญชาไทย)

ก่อนหน้านั้นทางเครือข่ายได้ตระเวนเดินทางฟังเสียงประชาชนโดยมีเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ตัวแทนพรรคก้าวไกลเข้าร่วมด้วยในบางเวที ท้ายที่สุดมีการยื่นร่างกฎหมายกัญชาฉบับประชาชนให้แก่พรรคก้าวไกล แต่ด้วยเงื่อนไขด้านเวลาทำให้ไม่สามารถยื่นได้ทัน อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่ผ่านคณะกรรมาธิการก็ได้บรรจุเนื้อหาของภาคประชาชนเข้าไปด้วยแม้ไม่ทั้งหมด

“มีเนื้อหาหนึ่งที่ไม่ได้เข้าไปอยู่คือเราเสนอให้ท้องถิ่นจัดการ รายได้หรือภาษีต้องตกแก่ท้องถิ่นในสัดส่วนหนึ่ง แต่เรื่องนี้ไม่ผ่านเนื่องจากยังมีความกังวลเรื่องพิษภัยเยอะ มีหลายองค์กรมายื่น กมธ. เห็นว่าใช้ไปก่อนสักพัก แล้วค่อยมาปรับ มันก้าวหน้าเกินไป ขณะที่สังคมยังไม่รับรู้และกังวลอยู่มาก เราจะไปไกลแบบนั้นไม่ได้ เลยยกเอาไว้ก่อน ส่วนหลักการอื่นๆ คิดว่าอยู่ในฉบับ กมธ.”

‘กัญชาเสรี’ วาทกรรมสร้างความเข้าใจผิด

แต่เอ็มโอยูของ 8 พรรคร่วมกำลังจะทำให้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับกัญชาถอยหลังกลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งประสิทธิ์ชัยและเครือข่ายไม่เห็นด้วย เขาเห็นว่า ‘กัญชาเสรี’ ถูกทำให้เป็นวาทกรรมที่สร้างปัญหานำมาสู่ความพยายามข้างต้น เขากล่าวว่า เสรี กลายเป็นคำที่ถูกในมาใช้โจมตีกันทางการเมือง ทั้งที่ ‘เสรี’ ในความหมายของเครือข่ายฯ หมายถึงประชาชนต้องปลูกได้เพื่อความมั่นคงทางยาเพราะเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน

“พอมันเป็นยาเสพติด มันถูกตัดสินแล้วว่าร้าย พอเอาคำว่าเสรีมาปั่นกันเอง สังคมห่างไกลจากข้อเท็จจริงเรื่องกัญชาไกลมากจากสไตล์ของนักการเมืองที่ปั่นเรื่องนี้ให้ดังเพราะอานุภาพทำลายคู่แข่ง”

ประการต่อมา ต้องเป็นกลไกที่ให้ประชาชนปลูกได้จริง ในชั้นกรรมาธิการตัวแทนเครือข่ายฯ จึงปลดล็อกเรื่องสเป็คการปลูก เนื่องจากก่อนปลดล็อก 9 มิถุนายนกระทรวงสาธารณสุขมีความพยายามของจะออกกฎเกณฑ์ให้วิสาหกิจชุมชน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล เป็นองค์กรไม่ใช่บุคคล แต่ที่ผ่านมาวิสาหกิจชุมชนทำได้ยากเพราะติดเงื่อนไขว่าแค่ต้องเป็นโรงเรือนราคาสามแสนห้าแสน ต้องเขียนโปรโตคอล และมีรายละเอียดมากมาย ซึ่งถือเป็นการกีดกันชาวบ้านโดยกลไก

“เราจึงปลดล็อกว่ากัญชาคือพืชพื้นเมืองที่ประชาชนปลูกมาก่อน มีภูมิปัญญาอยู่แล้ว อย่าบังคับ ต้องให้เสรี มันจะเป็นงานวิจัยขนาดใหญ่ที่เราจะพัฒนาสายพันธุ์กัญชาคืนมาหลังจากที่ต่างชาติขโมยสายพันธุ์ไปเกลี้ยง”

ประชาชนต้องปลูกได้ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย

ประชาชนมีเสรีในการปลูกในที่นี้ไม่ใช่การปลูกโดยไร้กฎเกณฑ์ควบคุม ประสิทธิ์ชัยอธิบายว่ากฎหมายเขียนชัดเจนว่าผู้ปลูกต้องขออนุญาต ปลูกได้ไม่เกิน 16 ต้น และสามารถนำมาผลิตยาเพื่อบริโภคเองได้ แต่ห้ามจำหน่ายจ่ายแจกซึ่งเป็นอีกมาตราหนึ่งในกฎหมาย หากนำมาจำหน่ายจ่ายแจกจะมีความผิด ถูกถอนใบอนุญาต และไม่สามารถปลูกได้อีก

จากมาตรการต่างๆ ที่ประสิทธิ์ชัยกล่าว เขาเชื่อว่าการกำกับควบคุมกัญชาค่อนข้างเคร่งครัดกว่ายาเสพติดหลายเท่า และเป็นการคุมตั้งนำเข้า ส่งออก แปรรูป สกัด หากไม่มีใบอนุญาตสกัดยาไม่สามารถทำได้ เขาการันตีว่ากัญาเสรีไม่มีอยู่จริงในประเทศไทย แต่คำว่า เสรี ในที่นี้คือเสรีของประชาชนภายใต้ระบบใบอนุญาต

นอกจากนี้ กฎหมายยังระบุด้วยว่าหากเจ้าหน้าที่พบความผิดเบื้องต้นให้ตักเตือนก่อน แล้วให้ระยะเวลาผู้ปลูกจัดการให้เป็นไปตามกฎหมาย ถ้าผู้ปลูก ผู้ขาย หรือผู้รับใบอนุญาตสามารถปรับตามคำเตือนภายในระยะเวลาที่กำหนดก็จะไม่มีความผิด แต่ถ้าไม่แก้ไขก็จะถูกพักและเพิกถอนใบอนุญาตตามลำดับ ประสิทธิ์ชัยกล่าวว่าที่กฎหมายเขียนเช่นนี้เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจกลั่นแกล้ง ยกเว้นความผิดในหมวดบุคคลที่ต้องคุ้มครองอื่นๆ อย่างเยาวชนที่จะไม่มีการเตือน แต่ลงโทษทันที

อีกทั้งกฎหมายก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ มีแต่เขียนว่าห้ามใช้กัญชาโดยวิธีการสูบในพื้นที่สาธารณะ แล้วยังเพิ่มเติมด้วยว่าห้ามใช้กัญชาในสวนสาธารณะ ท่าเรือ สนามบิน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มีวรรคท้ายวรรคเดียวที่จะใช้หรือไม่ก็ได้ที่เขียนว่าถ้ารัฐมนตรีจะอนุญาตให้ทำเขตสูบกัญชาจะต้องดำเนินตามกฎกระทรวงที่ออกจากคณะกรรมการในกฎหมายนี้ แล้วต้องผ่านคณะรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจจะอนุญาตหรือไม่ก็ได้

“ต่างจากข้อเสนอของก้าวไกลที่ไม่พูดเรื่องการปลูกแม้แต่ต้นเดียว พูดอย่างเดียวคือจะใช้สันทนาการและขายกันยังไง เสนอแม้กระทั่งว่าให้มีเขตสันทนาการแล้วในเขตนี้ไม่ต้องมีระบบใบอนุญาต ใครจะขายก็ได้ ซึ่งเสนออย่างนี้หายนะแน่นอน เราต้องเข้าใจวงการกัญชาก่อน เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณบอกว่าเขตสันทนาการไม่ต้องมีใบอนุญาต ยาเสพติดประเภทอื่นจะเข้าไป มันจะกลายเป็นแหล่งมั่วสุม ซึ่งตรงนี้ต้องระวัง แม้เราจะก้าวหน้าแต่เราต้องดูบริบทสังคมด้วย ผมไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเขตสันทนาการ ผมเป็นสายเขียว แต่เราต้องดูบริบทสังคมว่าพร้อมหรือยัง มันมีมาตรการดีหรือยัง เพราะตอนนี้พวกผมถูกด่ายับในรอบสองปีที่ผ่านมาว่าทำกัญชาเสรี คนไม่อ่านว่ากฎหมายคุมอะไร”

เรียกร้องก้าวไกลทำข้อมูลเทียบอันตรายกัญชา เหล้า บุหรี่

เอ็มโอยูของ 8 พรรคร่วมเขียนว่า “นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติด โดยออกกฎหมายควบคุมและรับรองการใช้ประโยชน์จากกัญชา” ถามประสิทธิ์ชัยเมื่ออ่านทั้งสองวรรคก็ยังคงคัดค้านใช่หรือไม่

“ยังคัดค้านครับ ทั้งสองวรรคมีปัญหาในเชิงรากฐานวิธีคิดและในเชิงกลไกปฏิบัติ วรรคแรก คำถามพื้นฐานที่ผมเรียกร้องมาตลอดหลังเลือกตั้งคือเวลาเราจะกำหนดนโยบายประเภทนี้ให้เริ่มที่ข้อเท็จจริง เพราะหลายเรื่องเราไม่ได้เริ่มที่ข้อเท็จจริง แต่เราเริ่มที่อะไรคือกระแสสังคมที่เราอยากเอาใจแฟนๆ อะไรคือการเอาชนะทางการเมือง กระบวนการทางนโยบายถ้าไม่ได้ใช้ข้อเท็จจริงมันก้าวหน้าไม่ได้ ผมจึงเรียกร้องให้พรรคก้าวไกลทำข้อเท็จจริงด้านวิทยาศาสตร์มาชี้แจงว่าระหว่างกัญชา บุหรี่ และเหล้า มันมีข้อดี ข้อเสียยังไง ทำไมเลือกเหล้าและบุหรี่ เพราะมันใกล้ชิดกับเรา แล้วถ้าเราเอากัญชาไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ใกล้ชิดกับเรามากๆ เราจะเห็นภาพชัด อย่าเอาการเมืองมาพูด”

 

ประสิทธิ์ชัยกล่าวว่าถ้าข้อเท็จจริงพบว่ากัญชามีพิษภัยร้ายกว่าสุราและบุหรี่ เขาจะสนับสนุนให้นำกลับไปสู่บัญชียาเสพติดเอง แต่จากข้อมูลที่เขาค้นคว้าพบว่าในประเทศไทยอัตราการตายของผู้ชายที่มากที่สุดเกิดจากการเมาแล้วขับและสุรายังเป็นสาเหตุของ 200 โรคที่เป็นวิกฤตทางสังคม ขณะที่บุหรี่ร้ายแรงกว่าในการก่อให้เกิดโรคตามตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่กัญชาสามารถรักษาโรคสารพัด

ต้องคุมด้วยกฎหมายกัญชา ไม่ใช่เอากลับเข้าบัญชียาเสพติด

“ประเด็นถัดมาเขาบอกว่าเอาไปเป็นยาเสพติดแล้วจะออกกฎหมายให้ใช้ได้ คำถามแรกกัญชาเป็นยาเสพติดใน พ.ร.บ.ยาเสพติด และไม่เป็นยาเสพติดใน พ.ร.ก. หรือประกาศกระทรวงหรืออะไรก็แล้วแต่ที่พรรคก้าวไกลจะผลิต คำถามคือมันเป็นไปได้มั้ยที่พืชต้นหนึ่งอยู่ในสองกฎหมาย

“ประเด็นต่อมาถ้าคุณเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด กลไกหรือระบบอะไรในกฎหมายยาเสพติดมันยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพพอที่จะออกแบบกลไกเพื่อให้ประชาชนใช้กัญชาอย่างถูกต้องและเป็นธรรมได้หรือไม่ ถ้าก้าวไกลเอาเป็นยาเสพติด วันหนึ่งก้าวไกลจะออกใบอนุญาตขายยาเสพติดให้คนหรือครับ จะออกใบอนุญาตปลูกยาเสพติดให้คนเหรอครับ มันจะมีปัญหาในระดับนานาชาติ”

ประสิทธิ์ชัยยังกล่าวด้วยว่าก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.กัญชาจะเข้าสู่กระบวนการ มีรายงานฉบับหนึ่งของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการใช้ประโยชน์กัญชา กัญชง และกระท่อม ซึ่งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยก็เป็นส่วนหนึ่ง รายงานนั้นมีบทสรุปชัดเจนว่าต้องเอากัญชา กัญชง กระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดและให้มีกฎหมายควบคุมการใช้อย่างเป็นระบบ

“สิ่งที่ผมถามก็คือตกลงแล้วรายงานศึกษานี้มีไว้ฉีกทิ้งใช่มั้ย คุณเอาการเมืองมาเป็นตัวกำหนด ไม่ได้เอาข้อเท็จจริงมาเป็นตัวกำหนด เพราะรายงานฉบับนี้ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้านมากจึงมีบทสรุปแบบนี้ ในรายงานฉบับนี้เขียนไว้ด้วยว่ากัญชาถูกเอาไปเป็นยาเสพติดเพราะการผลักดันของบริษัทยา คือพวกคุณวิเคราะห์กันอย่างถึงแก่น แต่วันหนึ่งคุณฉีกทิ้งเพราะเอาการเมืองเป็นใหญ่”

พอเป็นอย่างนี้ผมจึงเห็นว่าวิธีคิดของพรรคก้าวไกลมีปัญหา กลับมาข้อเท็จจริงเถอะ มันคุมได้ดีกว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดแน่ๆ ถ้าเรายึดสิทธิประชาชน เราต้องเอากฎหมายที่ให้สิทธิประชาชนในการออกแบบและต้องใช้กฎหมายที่ตัวแทนประชาชนเป็นผู้อนุมัติ ไม่อย่างนั้นเราต้องรื้อ พ.ร.บ.ยาเสพติดกันใหม่ซึ่งมันไม่ใช่เรื่อง ผมเลยเสนอว่าต้องคุมด้วย พ.ร.บ. และไม่เห็นด้วยเลยกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ

“สิ่งที่คนในประเทศนี้รับรู้ห่างไกลจากข้อเท็จจริงมาก ได้ยินแต่คำว่าเสรี คุ้มคลั่ง หลอน ทำร้ายคนอื่น ตอนนี้คนเลยเกลียดกัญชากันทั้งประเทศ ผมใช้กัญชารักษาคนมาเป็นพันคน ถ้าเอากลับไปเป็นยาเสพติดสิ่งที่เกิดขึ้นคือลงใต้ดินเหมือนเดิม

“เราล่ารายชื่อประชาชนทั้งประเทศในแบบฟอร์มไม่เอากัญชาเป็นยาเสพติด เพื่อให้ลงรายชื่อ แล้วเราจะทำการเคลื่อนไหวเมื่อมีรัฐมนตรีสาธารณสุข จะไปบอกรัฐบาลว่าต้องคุมกัญชาโดย พ.ร.บ. อันนี้คือปฏิบัติการของเรา มายืนยันว่ากัญชาคือความมั่นคงทางยา ไม่ใช่สันทนาการอย่างที่นักการเมืองกำลังพูดกัน แต่ถ้ากฎหมายไม่ผ่าน เราก็เสนอ พ.ร.บ.ใหม่ ตอนนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ พอมีรัฐบาลแล้วก็น่าจะถึงเวลายื่น”

เท่าพิภพยืนยันผลลัพธ์สุดท้ายยังเหมือนเดิม

‘ประชาไท’ สอบถาม เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ว่าจุดยืนของพรรคก้าวไกลเรื่องกัญชาเปลี่ยนไปแล้วหรือไม่ เขาตอบว่า

“เราต้องเอาเข้าในบัญชียาเสพติดเพราะว่าตอนนี้พอไม่มีการบังคับใช้กฎหมายก็ลำบาก เพราะว่าเอาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปบังคับใช้ก็ไม่มีกำลังเพียงพอ มันเหมือนว่าตอนนี้กัญชาที่ทุกคนเห็นมันฟรีหมด แต่สิ่งที่เราจะทำทั้งการแพทย์หรือสันทนาการเราควรจะแทร็คได้ว่ามาจากไหน พูดง่ายๆ ว่าต้องควบคุมไม่ต่ำกว่าเหล้าเบียร์ ผมว่าอธิบายมากแล้วก็ไม่เข้าใจกันอยู่ดี อธิบายไปหลายทีแล้วทุกคนก็เหมือนกับเข้าใจนะ แล้วสามวันก็มาถามอีกที ผมก็งงเหมือนกันว่าคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง”

เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร

เท่าพิภพยืนยันว่าแม้จะปฏิบัติตามเอ็มโอยู แต่สุดท้ายผลลัพธ์จะไม่เปลี่ยน การใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์และสันทนาการจะยังคงทำได้เหมือนเดิม

“ในความคิดผมถ้าเป็นสันทนาการต้องเก็บภาษี จะเก็บภาษีก็ต้องรู้แหล่งที่มาว่าปลูกจากไหน ขายให้ใคร มันควรจะแทร็กไปอย่านั้น แล้วก็การบังคับที่เราเปิดให้ก็เหมือนเดิม คือสุดท้ายกัญชาเถื่อนก็ผิดกฎหมาย”

หมายความประชาชนยังสามารถปลูกได้ แต่ต้องติดตามแหล่งที่มาได้ หากปลูกโดยไม่มีการอนุญาตจะถือเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ใช่หรือไม่

“ใช่ครับ เรา decriminalize ไง การเป็นยาเสพติดอาจไม่ต้องมีโทษก็ได้”

ส่วนที่ว่าจะนำร่างกฎหมายฉบับเดิมกลับมาพิจารณาหรือไม่ เท่าพิภพตอบว่ายังไม่สามารถตอบได้เพราะยังไม่ได้คุยกับพรรคอย่างจริงจังว่าจะเอาร่างไหน แต่โดยส่วนตัวเขาอยากนำร่างที่ตนทำที่เคยเสนอสภาแล้วมาพิจารณาต่อ เขากล่าวไปถึงเครือข่ายฯ ด้วยว่า

“ผมก็เข้าใจความกังวลของเขา ความน่ากลัวของคำว่ายาเสพติด ผมเข้าใจนะ แต่สุดท้ายถ้าผลลัพธ์เท่ากัน ในทางการเมืองเราก็มีความรับผิดชอบกับประชาชนทุกฝ่าย คือไม่ต้องกดดันพรรคเรา เราอยู่ข้างคุณอยู่แล้ว เราก็เป็นพรรคเดียวที่อยู่ข้างคุณอยู่แล้ว ตอนนี้พอเราเป็นรัฐบาลเรามีความรับผิดชอบต่อคนทุกฝ่าย เราก็ต้องฟังทุกคน แล้วต้องยอมรับว่าสังคมไม่ได้เฟเวอร์กัญชา เราก็พยายามจะหาจุดตรงกลางให้ทุกคนได้ยังไง

“ก็วานผู้ประกอบการกัญชา เครือข่ายต่างๆ ช่วยออกมายืนหยัด ให้ความรู้สังคมว่าทางออกของมันคืออะไร แล้วก็เสนอทางออก ก็รู้ว่าอยากได้อย่างนี้ แต่ให้ผมทำยังไง เพราะอีกฝ่ายเขาก็อย่างนี้ พรรคร่วมอื่นๆ ก็ไม่เห็นด้วย ผมมีความฝันเหมือนพี่ประสิทธิ์ชัยนั่นแหละ แต่สุดท้ายเมื่อคุณเป็นนักการเมืองมันก็ต้องมีวิธีที่คุณทำให้ได้ ต้องแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เจรจากับพรรคร่วมที่เขาค่อนข้างชัดเจนในมุมเขา ก็เข้าใจอยู่ว่าอย่างพรรคก้าวไกลก็เป็นพรรคที่เปิดกว้างที่สุด เราเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลด้วย เราก็ไม่สามารถไปหักล้างทุกคนได้เพราะว่าสุดท้ายคือการเมืองที่เราต้องรักษาน้ำใจพรรคร่วมหรือพันธมิตรทุกคน

“แต่ผมเข้าใจพี่ประสิทธิ์ชัยและเครือข่ายฯ ทุกคนเลยนะ แต่อยากให้เชื่อใจว่าเราทำไปถึงจุดนั้นได้อยู่แล้ว แค่เชื่อในวิธีการ เชื่อในกระบวนการ เชื่อในระบอบประชาธิปไตย เรื่องกัญชาต้องทำงานทางความคิด มันไม่ใช่นโยบายเราแต่ต้นด้วยซ้ำ แต่เราก็พยายามทำให้มันเต็มที่ มันเกิดขึ้นแล้ว เราก็พยายามพูดคุยกับทุกฝ่ายให้ได้ จะบอกว่าไม่ใช่หน้าที่เราก็ไม่ใช่”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net