Skip to main content
sharethis

กลุ่มประชาชน 'รักษ์เขากระบี่' ประชิดทำเนียบ ร้องนายกฯ ตั้งอนุกรรมการศึกษาพื้นที่ 4 อำเภอ จ.กระบี่ ก่อนระเบิดทำเหมือง หวั่นไม่มีการศึกษารอบด้าน ทำลายพื้นที่ต้นน้ำ และโบราณสถาน สร้างผลกระทบประชาชน

 

8 ธ.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก "กลุ่มรักษ์เขากระบี่" โพสต์ข้อความวันนี้ (8 ธ.ค.) ประชิดทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยุติการดำเนินการระเบิดภูเขาทำแร่ในพื้นที่ 4 อำเภอ จังหวัดกระบี่ ได้แก่ อ.เมือง อ.ลำทับ อ.อ่าวลึก และ อ.ปลายพระยา จนกว่าจะมีการศึกษาว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ต้นน้ำ หรือแหล่งโบราณหรือไม่ โดยเสนอให้มีการตั้งอนุกรรมการจำนวน 3 คณะ ประกอบด้วย อนุกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงการเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำ อนุกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงการเป็นแหล่งโบราณ และอนุกรรมการประเมินทางเลือกที่คุ้มค่าสูงสุดในการใช้ประโยชน์จากภูเขา 4 อำเภอ

ก่อนหน้านี้ ประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมจากภาคใต้ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า เมื่อช่วงเช้าก่อนเดินทางไปหน้าทำเนียบ ประชาชนมีการทำพิธีอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งเส้นทางอาณาจักรโบราณของถ้ำกระบี่ เพื่อปกป้องการทำลายถ้ำกระบี่ของหน่วยงานรัฐ ก่อนที่เมื่อเวลา 10.40 น. ประชาชนได้มานั่งปักหลักบนสะพานชมัยมรุเชษฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้นายกรัฐมนตรี รับข้อเรียกร้องประชาชน

สัดส่วนของอนุกรรมการ ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคประชาชน และนักวิชาการ โดยมีข้อผูกมัดว่า หากการศึกษาชี้ว่า พื้นที่ 4 อำเภอที่จะถูกนำไปทำเหมือง เป็นพื้นที่ต้นน้ำ และเป็นแหล่งโบราณ จะต้องยุติการดำเนินการระเบิดภูเขา และถอดพื้นที่ภูเขา 4 อำเภอจังหวัดกระบี่ ออกจากแผนแม่บทบริหารจัดการแร่

ข้อเรียกร้องกลุ่มรักษ์เขากระบี่

กลุ่มรักษ์เขากระบี่ขอให้หน่วยงานรัฐกลับมาดำเนินการกำหนดพื้นที่โดยใช้ข้อเท็จจริงทางวิชาการ ดังนี้

  1. ขอให้ยุติการดำเนินการใดในการนำไปสู่การสัมปทานระเบิดภูเขาทำแร่ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดกระบี่ประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอลำทับ อำเภออ่าวลึก อำเภอปลายพระยา ไม่ว่าการดำเนินการนั้นจะอยู่ในขั้นตอนใดของกฎหมาย จนกว่าผลการศึกษาข้อเท็จจริงในข้อ 2 จะดำเนินการแล้วเสร็จ
  2. ให้ตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อหาคำตอบว่าภูเขาทุกลูกของ 4 อำเภอจังหวัดกระบี่ เป็นพื้นที่ต้นน้ำ และเป็นพื้นที่แหล่งโบราณสถาน ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 หรือไม่ โดยให้ปฏิบัติตามกฎหมายแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ที่ระบุให้ประยุกต์ใช้หลักการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ในการหาคำตอบ โดยกรรมการชุดดังกล่าวต้องประกอบด้วยอนุกรรมการ 3 ชุดเพื่อใช้หลักการทางวิชาการหาคำตอบ 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย อนุกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงการเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำ อนุกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงการเป็นแหล่งโบราณ และอนุกรรมการประเมินทางเลือกที่คุ้มค่าสูงสุดในการใช้ประโยชน์จากภูเขา 4 อำเภอ 

สัดส่วนคณะกรรมการฯ ประกอบด้วยฝ่ายวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยผลการศึกษาผูกพันเงื่อนไข 2 ประการ คือ หากพิสูจน์ว่าภูเขา 4 อำเภอกระบี่ เป็นแหล้งต้นน้ำและแหล่งโบราณสถานให้ยกเลิกการดำเนินการใดๆ ที่นำไปสู่การระเบิดภูเขาทำแร่และถอดพื้นที่ภูเขา 4 อำเภอจังหวัดกระบี่ ออกจากแผนแม่บทบริหารจัดการแร่

8 ธันวาคม 2566

ทั้งนี้ กลุ่มรักษ์เขากระบี่ ได้เดินทางมาหารือกับหน่วยงานรัฐ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 โดยมีการลงมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ อาคารสำนักงาน กพ. ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล และได้หารือกับสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ 7 ธ.ค. 2566

ทางประชาชนมีข้อกังวลใจว่าโครงการไม่ได้ดำเนินการเป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดพื้นที่ทำแร่ตามแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ไม่ได้ดำเนินไปตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในกระบวนการจัดทำแผนแม่บทแร่ และไม่ได้มีการประยุกต์ใช้เครื่องมือการประเมินผลสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ที่ระบุไว้ในขั้นตอนการจัดทำแผนแม่บทแร่ ทำให้ประชาชนมีความกังวลว่า การศึกษาด้านความอ่อนไหวของพื้นที่ และผลกระทบต่อประชาชน อาจไม่รอบด้านมากเพียงพอ

ต่อมา กลุ่มรักษ์เขากระบี่ มีข้อโต้แย้งด้วยว่า พื้นที่ 4 อำเภอที่ถูกนำไปทำเหมืองแร่นั้นเป็นพื้นที่ต้นน้ำ และเป็นพื้นที่น้ำหล่อเลี้ยง ใช้อุปโภค และบริโภค ทั้งในตัวเมืองกระบี่ และพื้นที่ใกล้เคียง ดังนั้น การดำเนินการระเบิดภูเขาในพื้นที่ 4 อำเภอ จึงขัดกับ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 ที่ระบุว่า และแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ระบุว่าพื้นที่ใดก็ตามเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ห้ามทำแร่ 

นอกจากนี้ กลุ่มคนรักษ์กระบี่ ชี้แจงว่า พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 และแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ระบุว่า พื้นที่ใดเป็นพื้นที่แหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ห้ามมิให้ดำเนินกิจกรรมทำแร่ ซึ่งข้อเท็จจริงนั้น กลุ่มคนรักษ์กระบี่ ระบุว่า พื้นที่ภูเขาทั้ง 4 อำเภอเป็นแหล่งโบราณ ประกอบด้วย ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และภาพเขียนสี ซึ่งเป็นแหล่งโบราณสถานที่สำคัญยิ่งของจังหวัดกระบี่และของโลก 

ดังนั้น การดำเนินดังกล่าวแม้ว่าจะเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมายที่ระบุว่า พื้นที่นั้นจะต้องกำหนดมาก่อนว่าเป็นแหล่งโบราณสถาน แต่ประชาชนมองว่า พื้นที่ที่จะนำไประเบิดภูเขาทำเหมืองแร่ ทั้ง 4 อำเภอ มีสภาพเป็นโบราณสถานแล้ว แม้ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือระบุว่าเป็นแหล่งโบราณของภาครัฐ การกำหนดกฎหมายเช่นนี้ทำให้ประชาชนมีข้อซักถามว่าเป็นการเปิดช่องว่างให้ภาครัฐสามารถใช้พื้นที่ที่มีแหล่งโบราณ แต่ไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นแหล่งโบราณสถานอย่างเป็นทางการอีกหลายแห่ง ถูกใช้ทำเป็นเหมืองหรือไม่

นอกจากนี้ ประชาชนยังมีข้อสงสัยด้วยว่า ทำไมหน่วยงานรัฐไม่ใช้หลักการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ตามที่ระบุในแผนแม่บท ดำเนินการศึกษาข้อเท็จจริงว่าพื้นที่ที่นำมาระเบิดเหมือง เป็นแหล่งโบราณหรือไม่

ด้วยปัญหาดังกล่าว กลุ่มรักษ์เขากระบี่ มาเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการจัดตั้งอนุกรรมการ 3 คณะ เพื่อศึกษาว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ต้นน้ำ หรือแหล่งโบราณ และประเมินแหล่งคุ้มค่าจากการใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าว และระหว่างการศึกษา ต้องยุติการดำเนินการที่นำไปสู่การระเบิดภูเขาทำเหมือง ตามที่กล่าวข้างต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net