Skip to main content
sharethis

นักปกป้องสิทธิกลุ่ม “ฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด” บุกศาลากลางจ.นครราชสีมา จี้หยุดเหมืองโปแตซหลังสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมดิน-น้ำเค็มกว่าทะเล เพาะปลูกไม่ได้ ชาวบ้านต้องซื้อน้ำประปา แต่บริษัทเอกชนไม่เคยเยียวยา หวิดปะทะหลังรองผู้ว่าฯ หยันเป็นคนนอกพื้นที่ พร้อมปักหลักค้างคืนขอเจรจาผู้ว่าฯ โคราชจนกว่าจะได้คำตอบ ปลัดจังหวัดรุดเป็นตัวแทนเจรจาในช่วงเย็นพร้อมเตรียมหาทางออกร่วมกัน ขณะที่ตัวแทนผู้ชุมนุมย้ำขอให้หยุดการดำเนินการของเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ทันที เผยยกแรกผู้ว่าฯรับปากตามข้อเสนอของผู้ชุมนุม ระงับการดำเนินงานของโครงการไว้ก่อน

27 มิ.ย.2566 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จ.นครราชสีมา รายงานต่อสื่อมวลชนว่า จากกรณีที่ทางกลุ่มกว่า 150 คน ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมาเพื่อเรียกร้องให้ให้ สยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดโต๊ะเจรจาในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตซของบริษัท ไทคาลิ จำกัด ภายหลังได้รับอนุญาตตามประทานบัตรทำเหมืองโปแตซ เป็นระยะเวลา 25 ปี ระหว่างปี 2558-2583 ครอบคลุมพื้นที่ ต.หนองไทร ต.หนองบัวตะเกียด และต.โนนเมืองพัฒนา รวมเนื้อที่กว่า 9,000 ไร่ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ 

ซึ่งตลอดทั้งวันของวานนี้ (26 มิ.ย.66) สยาม แจ้งว่าติดภารกิจแต่ได้มอบหมายให้สมเกียรติ์ วิริยกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มารับเรื่องร้องเรียนแทน แต่สมเกียรติ์ ได้เปิดบทสนทนาในการเจรจาที่ใช้ข้อความในลักษณะของการกล่าวหาและดูถูกกลุ่มผู้ชุมนุม จึงสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม

จนต่อมาเมื่อเวลา 18.30 น. ผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา เดินทางมาพบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปักหลักชุมนุมบริเวณห้องโถงชั้นล่างของศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยกล่าวกับผู้ชุมนุมว่า เหตุที่ไม่ได้มาร่วมเจรจาด้วยตั้งแต่ช่วงเช้าเพราะติดภารกิจ และได้ร่วมพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมจนถึงเวลา 19.30 น. และได้ข้อสรุปร่วมกันว่า สยามจะเป็นผู้ไปเจรจากับผู้ประกอบการเหมืองแร่โปแตชไทยคาลิ โดยตรง และจะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงภายในสัปดาห์หน้า เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ภายใน 1 สัปดาห์ จะส่งเรื่องให้กระทรวงอุตสาหกรรมแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป

รายงานข่าวระบุด้วยว่า หลังจากนั้น สยาม โทรศัพท์พูดคุยกับผู้บริหารเหมืองแร่โปแตช ไทยคาลิ จำกัด และทางผู้บริหารเหมืองแร่รับปากว่าจะชะลอการดำเนินการเหมืองแร่ไว้ก่อน 

ประมวลความเคลื่อนไหววันที่ 26 มิ.ย.66

สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น รายงานข่าวระบุว่า  เวลา 08.00 น. ที่ลานย่าโม อ.เมือง จ.นครราชสีมา กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดกว่า 150 คน  รวมตัวกันชุมนุม “หยุดโปแตซดอนหนองโพธิ์ฟื้นฟูที่หนองไทร” เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตซของบริษัท ไทคาลิ จำกัด ภายหลังได้รับอนุญาตตามประทานบัตรทำเหมืองโปแตซ เป็นระยะเวลา 25 ปี ระหว่างปี 2558-2583 ครอบคลุมพื้นที่ ต.หนองไทร ต.หนองบัวตะเกียด และต.โนนเมืองพัฒนา รวมเนื้อที่กว่า 9,000 ไร่ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ 

โดยก่อนเคลื่อนขบวนไปยังศาลากลางฯ จงดี มินขุนทด กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด  จ.นครราชสีมา ได้กล่าวปราศรัยว่า ผลกระทบจากการทำเหมืองทำให้ดินและน้ำในพื้นที่เกิดความเค็ม ไม่สามารถเพาะปลูกได้  สาเหตุที่ไม่ต้องการให้เหมืองโปแตซดำเนินการต่อไปเพราะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน พื้นที่ของเราเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อมเดิมที่เราสามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติมาตลอดจนกระทั่งมีเหมืองโปแตซ  ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นสร้างความเดือดร้อนชัดเจนจากระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะความเค็มของดินและน้ำที่เกิดขึ้น  และบริษัทยังไม่ได้มีการเข้ามาเยียวยา แต่ยังจะดำเนินการขยายพื้นที่ ดังนั้นพวกเราจึงรวมใจกันเป็นหนึ่งเพื่อให้บริษัทเหมืองแร่หยุดขยายพื้นที่ เพราะบริษัทไม่สามารถดำเนินการฟื้นฟูให้สภาพแวดล้อมทั้งดินและน้ำที่เค็มกลับมาดีเหมือนเดิมได้

เดือนรุ่ง มูลขุนทด  กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด  กล่าวว่า วันนี้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดมาปลุกจิตสำนึกของคนโคราชและคน อ.ด่านขุนทด และผู้นำทั้งหลายแหล่ที่ชักชวนทั้งคนนอกและคนในพื้นที่เข้ามาทำลายผืนแผ่นดินบ้านตัวเอง แผ่นดินบรรพชนที่สร้างไว้ให้ลูกหลานได้มีที่พื้นที่ทำมาหากิน ซึ่งเราจะปกป้องพื้นที่ทำมาหากิน และไม่ยอมให้มันมาทำลายพื้นที่บ้านเราเด็ดขาด ที่มาวันนี้มาเป็นปากเป็นเสียงช่วยชาวบ้าน มาร่วมกันต่อต้านเหมืองแร่เพื่อไม่ให้มันขุดเจาะขยายวงกว้างสร้างความเสียหายต่อผืนแผ่นดินบ้านเกิดเราอีก วันนี้พระแม่ธรณีร้องไห้เป็นสายเกลือจนเค็มไปหมดแล้ว ถ้ามีสายหรือมีไส้ศึกในพื้นที่นี้ ขอให้กลับไปบอกผู้นำว่าให้มีสำนึกรักบ้านเกิดตัวเองบ้าง ตอนนี้กลุ่มฅนรักษ์บ้านสระขี้ตุ่น-สระสมบูรณ์ กำลังเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ เราจึงรวมตัวกันต่อต้านไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก การขุดเจาะเหมืองแร่ทุกที่เราจะไปหยุดมัน

ธนาวรรณ ไกรนอก กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวว่า กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดไม่เอาเหมืองแร่เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใน ต.หนองไทร ทำให้เกิดความสูญเสียและเดือดร้อนมาก ไม่รู้ว่าผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมาคนใหม่เคยรับทราบหรือไม่ว่าชาวบ้านเดือดร้อนอย่างไร ตั้งแต่ผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมาคนเก่าที่หมดวาระไปชาวบ้านได้ร้องเรียนแต่ยังไม่มีวี่แววที่จะเข้ามาแก้ปัญหา ความเดือนร้อนของชาวบ้านยังไม่ได้รับการแก้ไขจึงรวมตัวกันมาต่อสู้อีกครั้ง ผลกระทบเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เหมืองแร่ได้ดำเนินการผลิตเกลือและขุดแร่โปแตซขึ้นมา แต่บ่อน้ำเก็บกักไม่เพียงพอและเอ่อล้นออกสู่แม่น้ำลำคลองสภาพแวดล้อมรวมทั้งไร่นาของชาวบ้าน จนถึงปี 2566 นี้ยังไม่สามารถทำกินได้ ผลกระทบในพื้นที่ไร่นาของชาวบ้านยังไม่จบ ยังส่งผลกระทบต่อวัดบ้านหนองไทร อีกทั้งความเค็มยังกระจายไปทั่วแผ่นดิน อ.ด่านขุนทด

“ความเค็มที่เกิดขึ้นยิ่งกว่าทะเล ซึ่งมีค่าความเค็มอยู่ที่ 35 ส่วนต่อพันส่วน (ppt) แต่วัดค่าความเค็มของน้ำที่ ต.หนองไทร คือ 46 ppt เป็นความเค็มที่มากกว่าธรรมชาติและน้ำทะเล เค็มจนไม่รู้ว่าจะบรรยายอย่างไร สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 เข้ามาวัดค่าความเค็มของน้ำ แต่เครื่องมือไม่สามารถอ่านค่าได้ อีกทั้งชาวบ้านต้องแบกรับค่าน้ำประปา 25บาท/หน่วย   เรื่องนี้ได้เคยพูดคุยกับบริษัทเหมืองแร่แต่เขาปฏิเสธว่าความเค็มและผลกระทบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำเหมืองของบริษัท แต่เกิดจากค่าความเค็มดั้งเดิมตามธรรมชาติ นอกจากนั้นยังมีการสร้างกองขยะที่อยู่ติดกับพื้นที่สาธารณะในชุมชนและไร่นาของชาวบ้าน  วันนี้จึงต้องมายื่นหนังสือให้รู้ข้อเท็จจริงว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นหากไม่ใช่เกิดจากเหมืองแร่แล้วเกิดจากอะไร นอกจากนั้นด้านสุขภาพร่างกาย ชาวบ้านยังเจ็บไข้ได้ป่วยเริ่มเป็นภูมิแพ้ เพราะได้รับไอเกลือ ยืนยันว่าชาวบ้านไม่เอาเหมืองแร่แล้ว และขอให้ผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมาเข้ามาดูแลด้วย” ธนาวรรณ กล่าว 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในฐานะที่ปรึกษากลุ่มกล่าวว่า  ที่ผ่านมาได้เรียกร้องให้ทางจังหวัดเร่งแก้ไขกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อทางจังหวัด 3 ข้อประกอบด้วย 1. ให้ทางจังหวัดดำเนินการตรวจพิสูจน์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นให้กับชาวบ้านว่ามีความรุนแรง ขยายวงกว้าง มากน้อยแค่ไหน  โดยต้องมีข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น เกิดจากการทำเหมือง ดังนั้นเหมืองจำเป็นจะต้องออกมารับผิดชอบถึงผลกระทบปัญหาที่เกิดขึ้น ว่าจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่กระทบต่อตัวบุคคล  ปัญหาที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ 2.ให้มีการชดใช้ค่าเสียหายให้กับบุคคลที่ได้รับผลกระทบ 3.หากไม่ปฏิบัติการตามข้อ1และข้อ2ให้ทำการปิดเหมืองทันที ซึ่งทั้ง 3 ข้อที่เรียกร้องไปนั้นเป็นข้อเรียกร้องเดิมที่ชาวบ้านเคยมาร้องเรียนต่อทางจังหวัดแล้วแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ในส่วนการเดินทางมาเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านในครั้งนี้นั้น มีเพียงข้อเรียกร้องเดียว ต้องการให้ทางจังหวัดดำเนินการปิดเหมืองแร่ดังกล่าวทันที หากจะมีการเจรจากลุ่มชาวบ้านจะขอเจรจาเพียงอย่างเดียวคือต้องปิดเหมืองแร่เท่านั้น  โดยชาวบ้านทั้งหมดจะปักหลัก นอนรอคำตอบจากทางจังหวัดอยู่ที่ศาลากลางจังหวัด

ต่อมาเวลา 10.30 น. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ได้เดินขบวนมุ่งหน้าไปยังศาลากลาง จ.นครราชสีมา เพื่อยื่นหนังสือถึงสยาม ศิริมงคล  ผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา เพื่อให้ช่วยเหลือแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านอย่างจริงจัง โดยชาวบ้านปักหลักชุมนุมอยู่ด้านหน้าทุกทางขึ้นศาลากลางจังหวัด พร้อมประกาศว่าจะปักหลักนอนรอคำตอบจาก ผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา หากไม่ได้รับคำตอบเป็นที่น่าพอใจก็จะเดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลและทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่อไป

จากนั้นเวลา 11.00 น. สมเกียรติ วิริยะกุลอนันต์ รอง ผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา พร้อมด้วยอาทิตย์ ชามขุนทด ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมาเดินทางเข้ามาเจรจากับนักปกป้องสิทธิฯ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดสระสมบูรณ์ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดสระขี้ตุ่น ต.หนองไทร จ. นครราชสีมา ที่ปักหลักชุมนุมอยู่หน้าศาลากลางจังหวัด  โดยขณะที่ผู้ชุมนุมตะโกนเรียกชื่อกลุ่มเตรียมความพร้อมก่อนการเจรจา สมเกียรติกล่าวกับผู้ชุมนุมว่า “สอนมาดี” และนอกจากนี้ในช่วงหนึ่งของการพูดคุยสมเกียรติยังได้กล่าวกับชาวบ้านอีกว่า “อยากให้ชาวบ้านตัวจริงเสียงจริงมาพูดไม่ใช่ให้ใครที่ไหนที่ไหนที่เป็นคนนอกมาพูด  ซึ่งหลังจากที่รอง ผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา พูดประโยคดังกล่าวเสร็จ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก และตอบโต้รอง ผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา กลับไป ว่า รอง ผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา พูดแบบนี้ไม่ได้ เป็นรองผู้ว่ามาเริ่มประโยคเจรจาแบบนี้ได้อย่างไร ไม่ใช่แนวทางในการคิดแก้ปัญหา พร้อมกับร่วมกันโชว์บัตรประชาชนว่าเป็นคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ  อีกครั้งผู้ที่เข้ามาสนับสนุนเป็นที่ปรึกษาและนักกฎหมายให้กับชาวบ้าน และประกาศไม่ยอมรับให้สมเกียรติมาเจรจากับชาวบ้าน และตำหนิว่าสมเกียรติรับเงินเดือนจากภาษีของประชาชนก็ควรทำงานรับใช้ประชาชน จนหวิดเกิดการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมจนสมเกียรติต้องถอยกลับเข้าไปในศาลากลางจังหวัด

ต่อมา พ.ต.อ.ประสิทธิ์ เปรมกมล ผกก.สภ.เมือง นครราชสีมา ได้เดินทางเข้ามาสอบถามกับกลุ่มผู้ชุมนุม ขอหนังสือจดแจ้งการชุมนุม ซึ่งผู้ชุมนุมได้ชี้แจงกลับไปว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้แจ้งการชุมนุมกับสภ.ด่านขุนทดเรียบร้อยแล้วเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องประสานไปที่สภ.ด่านขุนทดด้วยตนเอง

ขณะที่ในช่วงบ่าย ยังไร้วี่แววของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางเข้ามาเจรจาตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมทั้งหมดจึงเดินเข้าไปในศาลากลางจ.นครราชสีมา และไปหยุดปราศรัยที่หน้าห้องทำงานของรองผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา เพื่อรอให้ผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาตั้งโต๊ะเจรจากับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ก่อนที่ต่อมาในเวลา 16.00 น. จึงได้มีการตั้งโต๊ะเจรจาในเวลา 16.00 น. โดยมีสามารถ สุวรรณมณี  ปลัดจังหวัดนครราชสีมาและอาทิตย์ ชามขุนทด ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมาเข้าร่วมตั้งโต๊ะเจรจากับชาวบ้าน   ซึ่งตัวแทนของชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบผลัดกันนำเสนอข้อมูลให้กับ ปลัดจังหวัดนครราชสีมาได้รับทราบไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงผังโครงการออกจากมาตราการการทำ EIA  การที่อุตสหกรรมจังหวัดไม่เคยให้ข้อมูลชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเลย กรณีของน้ำเกลือที่ไหลซึมเข้าไปยังผืนดินและแหล่งน้ำทำกินของชาวบ้าน กรณีการเกิดน้ำเกลือผุดขึ้นในพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านจนกัดกร่อนบ้านของชาวบ้านจนผุพัง อีกทั้งยังมีประเด็นของคณะทำงานที่มีการจัดตั้งขึ้นมาก็ไม่เคยแจ้งผลของการตรวจดิน ตรวจน้ำที่เก็บตัวอย่างการปนเปื้อนไป  นอกจากนี้เมื่อชาวบ้านร้องเรียนให้เข้าไปตรวจสอบในเหมืองก็อ้างว่าไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วตามกฎหมายแร่แล้วเจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ 

ขณะที่สามารถกล่าวว่า ตนจะนำปัญหาที่ชาวบ้านนำเรียนมาทั้งหมดไปนำเสนอให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด  ซึ่งในส่วนของกระบวนการระดับจังหวัดปฏิเสธความรับผิดชอบในการดูแลประชาชนไม่ได้ เรานำเสนอข้อเท็จจริงได้ ซึ่งพี่น้องมีความกังขากับหน่วยงานภาครัฐหลายเรื่อง ส่วนอำนาจในการสั่งชะลอเขาก็ยังไม่สั่งชะลอได้ ซึ่งการเก็บข้อมูลปัญหาเราต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เราหาข้อมูลเบื้องต้นพบว่าประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมทั้งหมด ขอเวลาให้ตนกับผู้ว่าศึกษาข้อมูลสักหน่อยแล้วกล้วตนก็จะขอเป็นคณะทำงานเอง ส่วนอำนาจหน้าที่บางเรื่องก็ไม่ได้อยู่ที่จังหวัด แต่บางส่วนก็ไปอยู่ส่วนกลาง  ขณะที่ตัวแทนผู้ชุมนุมย้ำว่าข้อเรียกร้องเดียวของชาวบ้านตอนนี้ขอให้หยุดการดำเนินการของเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ทันที ส่วนจะมีการพิสูจน์หรือดำเนินการใดๆ หลังจากนี้พวกเราไม่ได้ติดอะไร บรรยากาศณเวลา 18.00 น. ยังไม่ยุติเพราะปลัดจังหวัดได้รับไปโทรศัพท์หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดว่ามีการเจรจากับนักปกป้องสิทธิฯต่อหรือไม่

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net