Skip to main content
sharethis

กมธ. ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย แถลงประชุมนัดสุดท้ายวันนี้ (10 ก.พ.) เตรียมยื่นประธานสภาฯ พร้อมเร่งพิจารณาวาระ 2 ก่อนปิดสมัยประชุม หวังป้องกันและยุติการอุ้มหายและซ้อมทรมาน ส.ส.โรม ชี้มีผลย้อนหลัง

บรรยากาศการแถลงข่าวของคณะ กมธ. ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ วันที่ 10 ก.พ. 65 (ที่มา Voice TV)

 

10 ก.พ. 65 สำนักข่าว Voice TV ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์วันนี้ (10 ก.พ.) ณ ห้องแถลงข่าว รัฐสภา นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย (พท.) ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … (พ.ร.บ.อุ้มหาย) สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยคณะ กมธ. อื่นๆ เช่น รังสิมันต์ โรม รองประธาน กมธ.ฯ ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ที่ปรึกษา กมธ. อังคณา นีละไพจิตร และอื่นๆ ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.นี้ 

ชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธาน กมธ. กล่าวถึงความคืบหน้าของตัวร่าง พ.ร.บ. ว่า วันนี้ (10 ก.พ.) เป็นการประชุมนัดสุดท้ายของ กมธ. และร่าง พ.ร.บ.ตอนนี้เป็นรูปเล่ม และตัวประธาน กมธ.ได้ลงนามเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้จะนำเรียนประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุเป็นวาระประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 พร้อมจะเร่งผลักดันให้เข้าวาระการประชุม ก่อนมีการปิดสมัยประชุมสภา 

ประธาน กมธ. ระบุว่า สำหรับสาระภาพรวมของกฎหมายจะมุ่งป้องกันดูแลเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามดูแล กฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่แค่ตรวจสอบฝ่ายมีอำนาจเท่านั้น ถ้าฝ่ายมีอำนาจปฏิบัติได้อย่างถูกต้องก็เป็นการป้องกันตัวเอง

ประการต่อมา คือการมุ่งปราบปรามเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดกฎหมายเสียเอง เช่น กรณีอดีตผู้กำกับจังหวัดนครสวรรค์ซ้อมทรมานให้ผู้ต้องหายอมรับสารภาพจนเสียชีวิต และการอุ้มหายหลายกรณีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหวังว่ากฎหมายตัวนี้จะยุติการอุ้มหายไม่ให้เกิดในประเทศไทย 

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ที่ปรึกษา กมธ. ชี้แจงถึงความแตกต่างระหว่าง ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย แตกต่างจากกฎหมายฉบับก่อนอย่างไร  

น้ำแท้ ระบุว่า  กฎหมายที่จะป้องกันการซ้อมทรมานหรือป้องกันการอุ้มหายและทรมานต้องลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมาตรการ 4 มาตรการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ในวงการกฎหมายไทย คือ เนื่องด้วยการอุ้มหายและทรมานจะเริ่มทันทีที่มีการจับกุม ดังนั้น กฎหมายนี้บัญญัติเลยว่า ถ้าจะจับใครจะต้องมีการแจ้งเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทราบ เช่น ต้องมีการแจ้งอัยการหรือฝ่ายปกครองในท้องที่ให้ทราบว่ามีการจับกุม ซึ่งเป็นการป้องกันการอุ้มไปซ้อมทรมาน

ต่อมา ต้องมีการบันทึกภาพและเสียงจากกล้อง ถ่ายทอดต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการใช้กำลังซ้อมทรมาน หรือพาตัวไปที่อื่น ถ้ากรณีที่ไม่ทำ ไม่แจ้งให่หน่วยงานอื่นๆ ทราบ หรือไม่มีการบันทึก เพื่อมาตรวจสอบการใช้อำนาจตามอำเภอใจ จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่

นอกจากนี้ จะมีมาตรการการเอาผิดผู้กระทำความผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจะลงโทษผู้ใดต้องมีพยานหลักฐานอย่างชัดเจน ดังนั้น ต้องเจ้าหน้าที่จากหลายฝ่ายหลายหน่วยเข้าถึงที่เกิดเหตุได้ทันที แต่ร่าง พ.ร.บ.นี้จะให้อำนาจทั้งฝ่ายปกครอง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และอื่นๆ ที่จะสามารถสืบสวนสอบสวนเริ่มคดีได้ทันที เพื่อป้องกันการบิดเบือน ทำลายหลักฐานก่อนที่สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนไป หรือก่อนที่พยานหลักฐานจะถูกบิดเบือนด้วยอิทธิพลหรือผลประโยชน์ใดๆ 

“นี่เป็นมาตรการที่ช่วยให้ประชาชนไม่ถูกซ้อมทรมาน หรือถูกอุ้มหาย ขณะเดียวกันก็สามารถลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการลงโทษที่มีประสิทธิภาพจะเป็นมาตรการป้องกันและยับยั้งไม่ให้มีการกระทำเช่นนี้ต่อไป” ดร.น้ำแท้ กล่าว 

รังสิมันต์ โรม รองประธาน กมธ. และ ส.ส.ก้าวไกล กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มความผิดใหม่ 3 เรื่อง ได้แก่ ความผิดในเรื่องของการอุ้มหายบุคคล ความผิดในเรื่องของการทรมาน และความผิดในเรื่องของการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

ความผิดในเรื่องของการอุ้มหายบุคคล หรือความผิดในเรื่องของการซ้อมทรมาน อัตราโทษจำคุกจะอยู่ระหว่าง 5-15 ปี และความผิดจากการทรมานจนถึงแก่ความตาย อัตราโทษจะสูงถึงจำคุกตลอดชีวิต และความผิดในเรื่องของการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อัตราโทษคือจำคุกไม่เกิน 3 ปี 

นอกจากนี้ กมธ.กำหนดในเรื่องของกรรมการ ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบาย เยียวยา และเสนอนโยบายไปยังผู้มีอำนาจในการดำเนินการต่อไป และมีการตรวจสอบการทำงานต่างๆ โดยที่กรรมการชุดนี้จะมีตัวแทนของผู้เสียหายเข้าไปอยู่ด้วย 

คำถามถัดมาคือ ถ้า พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้ขึ้นมาแล้ว กรณีก่อนหน้านี้จะทำยังไงต่อ ส.ส.โรม กล่าวว่า ตัวกฎหมายฉบับนี้ก็จะยืนยันให้มีการตามหาผู้ที่ถูกอุ้มหายไปก่อนหน้าจนกว่าจะครบ และกฎหมายฉบับนี้จะไม่ยอมให้มีการส่งตัวไปเสียชีวิตที่ต่างประเทศ 

“เป็นนวัตกรรม …กรรมาธิการทั้งหมดเชื่อว่านี่คือกฎหมายที่มีความสำคัญจริงๆ ต่อระบบกฎหมายไทย เป็นหลักประกันให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องการกระทำความดี และเป็นหลักประกันให้กับบุคคลที่ถูกกระทำ เป็นเหยื่อการอุ้มหายซ้อมทรมาน และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผมคิดว่านี่เป็นนิมิตรหมายที่ดีของกฎหมายไทย” รังสิมันต์ โรม ส.ส.ก้าวไกล กล่าว 

ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ (ภาพจาก Voice TV)

พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ กล่าวว่า ถ้า พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ สวัสดิภาพของประชาชนจะดีขึ้นอย่างแน่นอน 

ประการต่อมา เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่มองว่า พ.ร.บ.นี้เป็นข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน จะต้องมองว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นการเสริมในการปฏิบัติภารกิจอย่างถูกต้องโดยไม่ต้องถูกดำเนินคดีทั้งแพ่ง อาญา และวินัย และเป็นการปกป้องหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ

นางอังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนจากภาคประชาสังคม และสมาชิก กมธ. กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้แม้ว่ายังไม่ครบถ้วนในทุกประเด็นที่คาดหวัง อย่างไรก็ดี ต้องขอบคุณผู้แทนฝ่ายรัฐบาลที่แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา และยอมปรับเปลี่ยน

อังคณา คาดหวังว่า ในการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ทางสภาผู้แทนราษฎรทุกคนจะใช้วิจารณญาณอย่างอิสระเพื่อพิจารณากฎหมายฉบับนี้ 

“พระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ออกมาคุ้มครองใครคนใดคนหนึ่ง แต่ออกมาเพื่อคุ้มครองคนทุกคน พลเมืองทุกคน พลเมืองในเครื่องแบบ พลเมืองทั่วไป … พ.ร.บ.ฉบับแรกที่จะป้องกันการกระทำผิดอาชญากรรมกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ดิฉันคิดว่าประโยชน์ที่ได้จะตกอยู่กับสาธารณะ” อังคณา ทิ้งท้าย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net