Skip to main content
sharethis

นักวิจัยในสหรัฐอเมริการะบุว่าวัคซีนของไฟเซอร์ (Pfizer) และโมเดอร์นา (Moderna) สามารถสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาวในร่างกายมนุษย์ โดยไม่จำเป็นต้องฉีดเข็ม 3 เพิ่มเพื่อกระตุ้นภูมิ

30 มิ.ย. 2564 บทความวิชาการของคณะนักภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ (Washington University in St. Louis) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยบทความดังกล่าวระบุว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech) และบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ต่อเนื่องในร่างกายมนุษย์ และสามารถป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ได้นานหลายปี จากงานวิจัยพบว่าคนส่วนใหญ่ที่ได้รับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนชนิด mRNA อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่ม ตราบใดที่ไว้รัสไม่ได้กลายพันธุ์ไปมากกว่ารูปแบบที่พบในปัจจุบัน ส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายก่อนเข้ารับวัคซีนอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้น แม้ว่าไวรัสจะกลายพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญก็ตาม

อาลี แอลเบดี (Ali ElleBedy) นักภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ กล่าวว่า "ระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนชนิดนี้ (mRNA) คงอยู่ นับเป็นสัญญาณที่ดี" ถึงแม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้พิจารณาวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) แต่แอลเบดีคาดว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนชนิดใช้เชื้อไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector) จะมีระยะเวลาคงอยู่ได้นานไม่เท่าภูมิที่เกิดจากวัคซีน mRNA

แอลเบดี และทีมวิจัยระบุว่า เซลล์ในร่างกายของผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้วจะยังมีภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ป้องกันไวรัส จากการตรวจน้ำในกระดูกสันหลังพบว่าภูมิคุ้มกันสามารถอยู่ได้หลังติดเชื้อไปแล้วอย่างน้อย 8 เดือน ในขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นระบุว่า เซลล์ที่ชื่อว่า "Memory B Cells" ซึ่งมีหน้าที่จดจำรหัสพันธุกรรมของไวรัส สามารถป้องกันการติดเชื้อไปได้อีกอย่างน้อย 1 ปีหลังการติดเชื้อ

คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ ค้นพบว่า 4 เดือนหลังการฉีดวัคซีนโดสแรกของไฟเซอร์และโมเดอร์นา ต่อมน้ำเหลืองของร่างกายยังคงมี Memory B Cells ในระดับสูง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการป้องกันไวรัสได้ในระยะยาว เพราะเซลล์ดังกล่าวในต่อมน้ำเหลืองทำหน้าที่ในการสร้างภูมิต้านทานและต่อสู้กับเชื้อไวรัส แอลเบดีและคณะทำการศึกษาโดยใช้ผู้ร่วมทดลองทั้งหมด 14 คน ซึ่ง 8 จาก 14 คนเคยมีประวัติการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาครบ 2 เข็ม

จากการศึกษาทดลองพบว่า Germinal center หรือศูนย์ผลิตเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ ซึ่งทำหน้าที่ผลิต Memory B cells ในต่อมน้ำเหลืองของผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 14 คนยังคงทำงานได้ดีใน 15 สัปดาห์หลังรับวัคซีนโดสแรก และจำนวนของ Memory B Cells หรือเซลล์ที่ทำหน้าที่จดจำพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ไม่ได้มีจำนวนลดลงแต่อย่างใด

ดีปตา ภัตตาจารยา (Deepta Bhattacharya) นักภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา กล่าวว่า ปกติแล้ว เซลล์เหล่านี้จะหลงเหลืออยู่ไม่มากเมื่อผ่านไป 4-6 สัปดาห์ แต่เมื่อ Germinal center ซึ่งทำหน้าที่สร้างเซลล์เหล่านี้ได้รับการกระตุ้นจากวัคซีนชนิด mRNA ก็ทำให้สามารถทำงานต่อไปได้อีกหลายเดือน และไม่ลดลงเท่าไรในคนส่วนใหญ่

ผลการวิจัยของแอลเบดีบ่งชี้ว่าประชากรจำนวนมากที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA จะมีภูมิต้านทานในระยะยาว โดยเฉพาะในการป้องเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่ในกลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มคนที่มีภูมิต้านทานต่ำอาจต้องได้รับการกระตุ้นภูมิ ในขณะที่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวหายแล้วและได้รับวัคซีนในภายหลัง ไม่จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นภูมิ

ในขณะที่การเพิ่มภูมิต้านทานผ่านการได้รับวัคซีนอาจจะได้ผลดีกว่าการฟื้นตัวเองภายหลังการติดเชื้อ แต่งานวิจัยชิ้นอื่นระบุว่าจำนวน Memory B Cell ที่ถูกสร้างภายหลังการรับวัคซีนนั้นมีความหลากหลายมากกว่าเซลล์ที่ถูกพัฒนาผ่านการติดเชื้อแล้วหายเอง

ผลการผลการทดลองของแอลเบดีและคณะบ่งชี้ว่าภูมิคุ้มกันตอบสนองที่คงอยู่ยาวนานอาจเกิดจากวัคซีนชนิด mRNA อย่างเดียว ซึ่งตรงกันข้ามกับวัคซีนที่ผลิตจากเทคโนโลยีดั้งเดิม เช่น จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แต่ไอโกะ อิวาซากิ นักภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยลเห็นแย้งว่าการสรุปผลการศึกษาเช่นนี้อาจจะไม่ยุติธรรมเท่าไรนัก เพราะวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันฉีดเพียงเข็มเดียว หากลองฉีดวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันเพิ่มอีกเข็มเป็นเข็มกระตุ้น ระดับภูมิคุ้มกันอาจสูงขึ้นก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม สื่อฝั่งอังกฤษอย่างอินดีเพนเดนต์ (Independent) รายงานว่างานวิจัยอีกชิ้นพบว่าวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งใช้เชื้อไวรัสเป็นพาหะ สามารถสร้างภูมิต้านทานที่แข็งแรงได้เช่นกันหากฉีดเข็มที่ 3 หลังได้รับเข็มที่ 2 ไปแล้วมากกว่า 6 เดือน โดยจำนวนแอนติบอดีภายในเลือดจะเพิ่มขึ้นเท่ากับระดับเดิมที่เคยได้รับตอนฉีด 2 โดสแรก

ที่มา:

นัธทวัฒน์ สมสุรวาณิชย์ ผู้รายงานข่าวชิ้นนี้เป็นนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net