Skip to main content
sharethis

พิธา อภิปราย พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ในที่ประชุมสภา ระบุรัฐบาลดำเนินการล่าช้า เหมือนวัวหายล้อมคอก ไร้มาตรการอุดหนุนโดยตรงและไม่ให้ความสำคัญ SMEs พร้อมยกนโยบายเยียวยาของต่างประเทศมาเทียบความแตกต่าง

27 พ.ค. 2564 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปราย พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ 'พ.ร.ก.ซอฟต์โลน' ว่าช่วงสมัยปิดประชุมที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ได้ยินแต่เรื่องราวการต่อสู้อันน่าเศร้าของเจ้าของธุรกิจที่ ต้อง ‘ทำบัญชีทั้งน้ำตา’ ยอมเฉือนเนื้อของตัวเอง เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างในบริษัท เรื่องราวของโรงแรมที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการ เพื่อพยุงธุรกิจตัวเองให้รอดในยามที่นักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ หรือเรื่องราวของร้านอาหาร ร้านกินดื่มมากมายหลายแห่งต้องปิดตัวและล้มหายตายจากไปทีละร้านอย่างน่าหดหู่ใจ

"หัวใจสำคัญ ในการที่จะนำพา SMEs ไทย ออกจากวิกฤตครั้งนี้ สามารถสรุปได้ในคำเดียว คำๆ นั้น ก็คือ คำว่า 'กระแสเงินสด' หรือที่เรียกกันคุ้นปากในแวดวงเถ้าแก่ว่าสายป่าน ถ้าเป็นทุนใหญ่ที่มีสายป่านยาวคงไม่เดือดร้อนมาก และไม่ต้องง้อรัฐบาล แต่ถ้าเป็นทุนเล็ก ซึ่งก็เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ที่มีสายป่านสั้น ความช่วยเหลือจากรัฐบาลคือท่อช่วยหายใจสุดท้ายของพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้น ผมยังเข้าใจอีกว่าการที่รัฐบาลใดๆ ก็ตาม จะออกนโยบายที่ตอบโจทย์ ตรงประเด็น และครอบคลุมได้ รัฐบาลต้องเข้าใจธรรมชาติของกระแสเงินสดในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ SMEs เพื่อทำให้ธุรกิจที่กระแสเงินสดที่เป็นลบ ณ ปัจจุบัน กลับมาเป็นบวกได้ในอนาคต"

ทั้งนี้ พิธา ระบุว่า ในส่วนของ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน เป็นการช่วยเหลือแบบ กระแสเงินสดทางการเงิน โดยให้ธนาคารเอกชนปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อขยายสายป่านให้ SMEs ยังพอหายใจต่อไปได้ แต่ปัญหาที่เห็นหลักๆ คือ พ.ร.ก. ฉบับนี้ ต่อให้แก้ไขให้ตรงจุดแล้ว ก็ยังใช้เวลาเกือบหนึ่งปี ซึ่งอาจจะเพียงแค่พอช่วยต่อลมหายใจได้บ้างเพียงเล็กน้อย 
แต่สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการจริงๆ และเป็นสิ่งที่รัฐบาลละเลยมาโดยตลอดคือ การช่วยพยุงกระแสเงินสดการดำเนินงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลในต่างประเทศช่วย SMEs ของเขา ด้วยการชดเชยโดยตรงกับ SMEs เพราะการให้เงินกู้อย่างเดียวในสถานการณ์แบบนี้ไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่ SMEs ต้องการไม่ใช่การได้หนี้เพิ่ม แต่คือการชดเชยโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการชดเชยรายได้ที่หายไปเพราะคำสั่งรัฐ หรือการอุดหนุนพยุงการจ้างงาน เช่น ญี่ปุ่น ถ้า SMEs รายได้หดหายไปมากกว่า 50% ของเดือนเดียวกันปีก่อนโควิดแม้แต่เดือนเดือนเดียว เขาสามารถไปขอเงินเยียวยาชดเชยรายได้ที่หายไปได้จากรัฐบาล โดยมีวงเงินสูงสุดให้ 2 ล้านเยน หรือประมาณ 6 แสนบาท

นิวซีแลนด์ ในช่วงที่จะมีประกาศล็อกดาวน์ ถ้าคาดการณ์ไปข้างหน้าว่ารายได้จะหดหายมากกว่า 40% สามารถที่จะขอเงินเยียวยาจากรัฐไปพยุงการจ้างงาน เอาไปจ่ายเงินเดือนพนักงานต่อไปในช่วงล็อกดาวน์ แต่ถ้าหากผ่านช่วงล็อกดาวน์ไปแล้วรายได้ไม่ได้หายไปมากอย่างที่คาดไว้ ค่อยนำเงินอุดหนุนบางส่วนกลับมาคืนรัฐบาล เป็นลักษณะที่รัฐบาลช่วยหมุน working cap ให้ โดยไม่ต้องมานั่งพิสูจน์ความลำบากหรือรอให้ SMEs ตายไปแล้วค่อยกู้ชีพขึ้นมา หรือสหรัฐอเมริกา ถ้าธุรกิจร้านอาหาร หรือ ผับ บาร์ ร้านเหล้า มีรายได้ที่หายไปจากโควิด ผู้ประกอบการก็สามารถไปขอเงินเยียวยาชดเชยรายได้จาก Restaurant Revitalization Fund หรือกองทุนช่วยเหลือร้านอาหาร โดยจะได้เงินเยียวยาจากการเปรียบเทียบรายได้ปี 2563 และ 2564 โดยวงเงินสูงสุดที่ร้านอาหารจะได้รับจากการเยียวยาคือ 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 300 ล้านบาทต่อธุรกิจ

โจ ไบเดน จัดงบเยียวยา 2.86 หมื่นล้านเหรียญ ช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหาร-ผับบาร์ทุกประเภท

"ทั้งหมดคือตัวอย่างมาตรการจากรัฐบาลที่ใส่ใจให้ความสำคัญกับความเดือดร้อนของประชาชน เขาเข้าใจว่าถ้า SMEs ตายไปแล้วจะฟื้นกลับมาได้ยากมาก และจะส่งผลกระทบเป็น โดมิโน่ ต่อเศรษฐกิจของเขา เขามีวิสัยทัศน์มากพอที่รีบตัดวงจรอันเลวร้ายนั้น ก่อนที่เศรษฐกิจของเขาจะลงเหว นอกเหนือจากการเยียวยาโดยตรงแล้ว ยังมีมาตรการอีกมากมายที่รัฐบาลสามารถทำได้ เช่น ตั้งกองทุนเข้ามาช่วยเพิ่มทุนให้ หรือแม้แต่การพักหนี้ระยะยาวให้กับธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากคงจะเป็นเวลาอีกหลายปี กว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับคืนมา" พิธา กล่าว

พิธา ทิ้งท้ายว่า เมื่อย้อนมาดูประเทศไทยและค้นหาความใส่ใจของรัฐบาลที่ผ่านมากลับไม่เจออะไรเลย แล้วจะไม่ให้ประชาชน จะไม่ให้เจ้าของธุรกิจ โอดครวญกันทั้งประเทศได้อย่างไร ถ้าจะอ้างว่าไม่มีงบประมาณ สภาพเศรษฐกิจของเราไม่เหมือนประเทศอื่นเขาฟังไม่ขึ้น เพราะรัฐบาลมีทั้งอำนาจ มีเงินจากงบประมาณปีที่แล้ว 3.3 ล้านล้านบาท เงินกู้อีก 1 ล้านล้านบาท และมีแผนว่าปีนี้จะออกงบอีก 3.1 ล้านล้านบาท รวมถึงการกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท มีงบประมาณมากมายขนาดนี้ แต่ผู้ประกอบการยังอดอยากปากแห้ง ธุรกิจร่อแร่ การท่องเที่ยวยังคงไม่เห็นแสงสว่าง

ร้านนอาหารต้องลุ้นวันต่อวัน ว่าเปิดร้านแล้วมีลูกค้ามากินคุ้มทุนกับที่จะเปิดหรือไหม เงินทุนสำรองก็เริ่มร่อยหรอ หรือมีตัวอย่างมาตรการช่วยเหลือต่างๆ จากรัฐบาลอื่นให้ศึกษาและหยิบมาใช้ก็ยังคงนิ่งเฉย ทำให้คิดเป็นอื่นใดไม่ได้ว่า เหตุผลเดียวที่ การแก้ไขมาตรการเงินกู้ล่าช้าเกินกาล เหมือนวัวหายล้อมคอก และมาตรการการคลังอุดหนุนเยียวยาโดยตรง ที่ไม่ออกมาเสียที ก็เป็นเพราะว่า รัฐบาลไม่แยแส ไม่เข้าใจ และไม่ให้ความสำคัญกับ SME ไทยเลย ทั้งที่ SMEs คือเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ และความสำเร็จของ SME คือ ความสำเร็จของประเทศไทย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net