Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ท่านผู้อ่านครับ... ถ้าวันหนึ่ง คุณบังเอิญได้ถูกเด็กตัวเล็กๆคนหนึ่งถามว่า “คุณน้า... เราควรที่จะนับถือศาสนาอะไรดี?” เข้า คุณจะตอบเด็กคนนั้นว่าอย่างไร...

คำถามนี้... ถ้าจะตอบให้ง่าย ก็ดูเหมือนจะง่าย แต่ถ้าคิดในอีกมุมหนึ่ง การจะตอบคำถามดังกล่าวให้ถูกต้องและตรงตามเป้าประสงค์ของคำถามก็ดูเหมือนจะยากแสนยากและอันตรายอย่างถึงที่สุด แต่ไม่ว่าจะอย่างไร จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่าหากวันหนึ่งคุณถูกโยนคำถามนี้ (จากเด็ก) ขึ้นมาจริงๆ คุณจะตอบเด็กคนนั้นว่าอย่างไร “หนูจ๋า... เราควรนับถือศาสนา ‘……’ เพราะ ‘……’!”

นับเป็นเรื่องปกติสามัญ ที่มนุษย์ส่วนมากมักจะเข้าข้างมุมมองทางความคิด (ไม่ว่าจะเรื่องใด) ไปตามครรลองในสังคมที่เขาและเธอสังกัด (หรืออาศัย) อยู่ ซึ่งนี่ก็แน่นอนว่าหมายรวมถึงมุมมองในเชิงศาสนาด้วย แต่แก่นสารสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ‘ศาสนา’ นั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างจากองคาพยพทางความคิดของเรื่องอื่นๆค่อนข้างมาก กล่าวคือศาสนานั้นถูกโยงไว้กับเรื่องราวของ ‘ชีวิต’ ‘โลก’ และ ‘คุณค่าเชิงนามธรรมต่างๆ’ ล้วนๆ ในขณะที่เรื่องราวอื่นๆในสังคมอาจมีเรื่องราวทางรูปธรรมซึ่งเป็นเงื่อนไข (ทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น) อื่นแทรกเข้ามาบ้าง หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือมันคงเป็นเรื่องที่มิได้ผิดอะไร ถ้าเขาและเธอจะไม่สนใจเรื่องบางเรื่องในสังคมแม้ว่าเรื่องราวนั้นๆจะกำลังเป็นที่สนใจอยู่ในสังคมระดับมหภาค (เช่นเรื่องของเทรนด์การปรับเปลี่ยนรูปแบบชีวิต (ซึ่งเป็นเรื่องของ ‘จิตสำนึกรวมหมู่’ ที่เข้าใจกันได้ (จนเป็นเรื่องสากล) ใน Gen แต่ละ Gen) หรือเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆที่กำลังเข้ามามีบทบาทในการจัดการชีวิตและเวลา)

ย้อนกลับมาที่คำถามเดิม “เราควรที่จะนับถือศาสนาอะไร?” ผู้เขียนขออนุมานว่าเกินกว่าร้อยละแปดสิบคงบอกเด็กคนนั้นไปว่าให้เดินตามรอยทางศาสนา (หรือลัทธิ) ที่เขาหรือเธอนับถือ (หรือสังกัด) อยู่ ซึ่งความเป็นไปได้ (อย่างมาก) ตรงนี้เอง ที่ทำให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ควรนำมาพิจารณาอย่างยิ่ง ว่าการกระทำเช่นนี้นับเป็น ‘การให้เหตุผลที่เป็นธรรม’ หรือไม่ หรือแท้จริงแล้วเป็นเพียง ‘การยัดเยียดศรัทธาและความคิด’ ให้กับเด็กที่อ่อนต่อโลกคนหนึ่งก้มหน้าเดินตามโดยปราศจากข้อสงสัย แน่ล่ะ คงต้องมีคนออกมาป่าวประกาศเป็นแน่ ว่าสิ่งที่เขาหรือเธอบอกเด็กคนนั้นไปเป็นการเล่าเรื่องราวต่างๆโดยมีเหตุและผลที่ถูกต้องมาสนับสนุนชุดความคิด แต่คำถามอื่นๆก็จะตามมาอีกเป็นพรวน เช่นว่าแล้วเขาหรือเธอคนนั้นได้บอกข้อเสียหรือสิ่งที่มิควรยึดถือหรือเดินตามของศาสนาที่เขาหรือเธอนับถืออยู่บ้างหรือไม่ หรือมันไม่เป็นการแสดงถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ความอยุติธรรมเชิงความคิด’ ดอกหรือ กับการที่คนๆหนึ่งเอาแต่แสดงทัศนะถึงสิ่งๆหนึ่งโดยที่ ‘ละเว้น’ การพูดถึงอีกสิ่งหนึ่ง (ศาสนาอื่นๆ) ไปเสียโดยสิ้นเชิง

เด็กคนนั้นยังคงรอคำตอบ...

อย่างไรก็ดี มันก็อาจเป็นไปได้เช่นเดียวกันที่คนบางคน (ในส่วนน้อยของน้อย) คงจะตอบเด็กว่า “ก็แล้วแต่หนูสิ... แล้วหนูชอบศาสนาอะไรล่ะ?” หรือถ้าไปไกลกว่านั้น ก็คงอาจมีเสียงที่สุดแสนแผ่วเบาท่ามกลางฝูงชนที่เปล่งออกมากลางวงว่า “หนูไม่ต้องชอบศาสนาอะไรเลยก็ได้นะ” หรือ “หนูยังไม่ต้องเลือกก็ได้ หนูค่อยๆศึกษาค้นคว้าไปก่อน... แล้วหลังจากนั้นค่อยว่ากัน!”

โดยหลักการพื้นฐานแล้วสิ่งที่เรียกว่า ‘ศาสนา’ นั้นมีความแตกต่างจากสิ่งที่เรียกว่า ‘ปรัชญา’ อย่างมีนัยยะสำคัญ ‘ปรัชญา’ โดยตัวมันเองนั้นสื่อถึงหลักการหรือเหตุและผลซึ่งขึ้นตรงต่ออุดมคติบางอย่าง ซึ่งสิ่งดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาก็ได้ เนื่องจากในทางโลกและสังคมมิได้ ‘ประทับตรา’ สิ่งนี้ว่าเป็นสิ่งที่ ‘ต้องห้าม’ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ หรือ ‘มิอาจเปลี่ยนแปลงได้’ ซึ่งตรงนี้เอง ที่ทำให้คุณลักษณะของ ‘ปรัชญา’ มีความแตกต่างจาก ‘ศาสนา’ ค่อนข้างมาก เนื่องจากองค์ประกอบย่อยๆ (ในเชิงสังคมวิทยา) ของศาสนานั้นดูจะครอบคลุมสิ่งที่กล่าวมาเมื่อสักครู่ไปเสียทั้งหมด

มี ‘ปรัชญา’ แต่ไม่ต้องมี ‘ศาสนา’ ได้หรือไม่? ตรงนี้ผู้เขียนมองว่าขึ้นอยู่กับทัศนะของแต่ละคน แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนมองว่า ‘ได้’ ทั้งนี้เนื่องจากว่าปรัชญาโดยตัวมันเองก็คือหลักการแห่งชีวิตของคนแต่ละคนอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ก็อาจรวมไปถึงเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ของคนแต่ละคนด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่ามิใช่เนื้อหาสาระต่างๆของศาสนาจะถูกจำกัดวงไว้มิให้ต้องพูดถึง หากทว่าให้เนื้อหารวมถึงความรู้ต่างๆของศาสนาได้ดำรงตนอยู่อย่างเป็นอิสระในมิติของหลักปรัชญา กล่าวอีกอย่างก็คือให้เนื้อหาต่างๆของศาสนา (ไม่ว่าจะในด้านใด) เป็น ‘นามธรรมที่อยู่ภายใน’ โดยที่มิต้องแสดงออกในเชิง ‘รูปลักษณ์ภายนอก’ ผ่านทางการมองเห็น ตีความ และความเข้าใจของสังคม (ซึ่งรังแต่จะทำให้เกิดการชิงดีชิงเด่นว่าศาสนาฉันนั้นดีกว่าศาสนาของเธอ แต่ศาสนาของเธอก็ยังดีกว่าศาสนาของเขาอย่างนั้นอย่างนี้ ฯลฯ)

เด็กคนนั้นถามย้ำเป็นครั้งสุดท้าย... “แล้วสรุปหนูควรนับถือศาสนาอะไรดี?”

ก่อนที่ผู้เขียนจะเฉลยว่า ‘คำตอบสุดท้าย’ ที่จะยื่นให้เด็กคนนั้น ‘ควร’ เป็นอย่างไรและเป็นไปในทางใด (ย้ำว่าตรงนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน) ในส่วนนี้ผู้เขียนจะขออธิบาย (โดยย่อ) ถึงจุดที่ผิดพลาดซึ่งร้ายแรงที่สุดในสังคม (ไม่เพียงเฉพาะไทย) ที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับเรื่องของความคิด ความเชื่อ และหลักการนับถือศาสนา ซึ่งก็คือ ‘การประทับตราศาสนา’ ให้อย่างเบ็ดเสร็จกับผู้ถูกให้กำเนิดใหม่ (ซึ่งแน่นอนว่าโดยที่เขาหรือเธอคนนั้นยังไม่มีความคิดหรือมุมมองต่อโลกและชีวิตแต่อย่างใด)

ท่านเคยคิดไหม... ว่าเหตุใดเราจึงต้องกากบาท (ความหมายคือ ‘เลือก’ ให้) ศาสนา ก ศาสนา ข ศาสนา ค ฯลฯ ให้กับผู้ถูกให้กำเนิด? เป็นเพราะเราอยากให้เขาศรัทธาศาสนาเดียวกันกับเราใช่หรือไม่? หรือว่าศาสนาใดในสังคมเป็นใหญ่... ก็ตัดสินใจเลือกศาสนานั้นเพื่อที่จะป้องกันมิให้ลูกเป็นคนส่วนน้อย? หรือถ้าร้ายแรงที่สุด ก็คือท่านไม่คิดอะไรเลยใช่หรือไม่? หรือท่านจะหาข้ออ้างว่าเพราะมันจำเป็นต้องเลือก (เหตุกฎหมายระบุไว้?) จึงเลือกๆมันไปก่อน? เป็นอย่างใดกัน?

ถ้าคิดดูในแง่หนึ่งมันก็มิใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่ทายาทนั้นจะถูกบังคับให้ต้องนับถือศาสนา (และอาจรวมไปถึงนิกาย) เดียวกันกับบรรพบุรษหรือวงศ์วานว่านเครือ (ซึ่งเหตุผลเบื้องต้น (ในเชิงสังคมและประเพณี) ก็คงเป็นเพราะต้องการให้ความคิดและธรรมเนียมปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน) แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง เรื่องนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องวิปริตพิสดารในเชิงอภิปรัชญาอย่างถึงที่สุด เนื่องจาก สภาวะอัตตา วิถีชีวิต รวมถึงมิติภายในต่อการมองโลกของคนๆหนึ่งจะต้องถูกวางแบบแผนและร่างกฎเกณฑ์และเนื้อหาไว้อย่างครบถ้วนเสียสิ้นตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ซึ่งประเด็นสำคัญตรงนี้ก็คือเขาหรือเธอคนนั้นจะไม่มีวันออกไปจากกรงขัง (ที่สร้างไว้อย่างศักดิ์สิทธิ์) นี้ได้เลย ถ้าวันหนึ่งเขาหรือเธออาจมีความรู้สึกฉงนฉงายหรือสะกิดใจอะไรบางอย่างในบางเรื่องราวที่เขาหรือเธอมิได้สร้างขึ้นมา

แน่ล่ะว่าบางครอบครัว (และในบางสังคม) อาจใจกว้างพอที่จะเปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวเปลี่ยนศาสนาได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนน้อยของน้อยที่สุด (เพราะโดยมากถ้าไม่เกิดปัญหาใดที่กระทบ (อย่างรุนแรง) ขึ้นทั้งในทางสภาพร่างกายและจิตใจ กรณีการเปลี่ยนจากศาสนาหนึ่งไปสู่อีกศาสนาหนึ่งนั้นก็คงไม่เกิดขึ้น) ซึ่งตรงนี้เอง สิ่งที่กลับเกิดขึ้นโดยมาก (หากกรณีนี้มิได้เกี่ยวข้องกับแก่นสารความเข้าใจชีวิตและโลกหรืออะไร) ก็คือกรณีของผู้หญิงที่ต้องเปลี่ยนศาสนาไปตามครอบครัวของสามี  หรือแม้แต่ประเด็นของคนที่มาเปลี่ยนลัทธิหรือศาสนาเอาตอนช่วงครึ่งชีวิตหรือไม้ใกล้ฝั่ง ผู้เขียนก็มองว่ากรณีนี้โดยมากมักเป็นไปในสองรูปการณ์ คือ หนึ่ง brainwashing หรือโดนล้างสมอง และ สอง ทนต่อความเคร่งของศาสนานิกายเดิมไม่ไหว จริงอยู่ ที่ก็คงมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความ ‘กล้าหาญ’ พอในการเปลี่ยนศาสนาหลังจากเขาหรือเธออาจพิจารณาศาสนาอีกศาสนาหนึ่งดูแล้วเห็นว่า ‘ดีกว่าหรือเข้าใจได้มากกว่า’ ศาสนาเดิมที่เขาหรือเธอนับถืออยู่ แต่ผู้เขียนกลับมองว่าประเด็นดังกล่าวถือเป็นสิทธิและเสรีภาพในการเลือก ‘ทางเดิน (รวมถึงแนวทางความเข้าใจ) ชีวิต’ ตามปกติโลกียชนอยู่แล้ว แก่นสารของเรื่องจึงน่าจะอยู่ที่ว่าเมื่อศาสนาเป็นชุดความคิด (ซึ่งแม้ว่าจะใหญ่มาก [ภาษาทางวัฒนธรรมศึกษาเรียกว่า Grand-narrative]) ชุดหนึ่ง แต่เหตุใดเราจึงต้องยัดเยียดหรือสมาทานความคิดชุดนั้นชุดนี้ให้แก่คนอื่นทั้งๆที่ตัวเขาเองก็สามารถเลือกได้ด้วยตัวเอง? คำถามตรงนี้จึงมีขึ้นว่าทั้งหมดทั้งมวลมาจาก ‘ความไม่รู้’ หรือ ‘อวิชชา’ เกี่ยวกับศาสนาใช่หรือไม่? ทั้งหมดทั้งมวลมาจากความเข้าใจผิดว่า ‘ศาสนาคืออะไร’ ใช่หรือไม่? ทั้งหมดทั้งมวลมาจากความคิดที่ว่า ‘ศาสนาเป็นสภาวะศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัญญาในปรัชญา’ ใช่หรือไม่? หรือทั้งหมดทั้งมวลนี้มาจาก ‘ความหวาดกลัว (ในระดับจิตใต้สำนึก) ต่อสิ่งที่เรียกว่าศาสนา’ ซึ่งสั่งสมกันมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษใช่หรือไม่?

จุดที่วิปริตที่สุดอีกจุดหนึ่งในเชิงอภิปรัชญาคือคนเรามักคิดว่า ‘ความหมายของชีวิต’ ของคนนั้นเป็นของเล่น ศาสนา (ที่เลือกไม่ได้) จึงอาจเป็นสิ่งปลอบประโลมให้เราไม่ต้องคิดหรือตั้งคำถามใดๆเกี่ยวกับความหมายของชีวิตหรือเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นภายในชีวิต สิ่งที่เรามักจะเห็น (กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน) ก็คือคนมักเอาแต่พูดหรือท่องกันเกี่ยวกับศาสนาเรื่องนั้นเรื่องนี้เจื้อยแจ้วเป็นนกแก้วนกขุนทอง หากผลลัพธ์ที่ได้มากลับเป็นความว่างเปล่า หาสาระอะไรไม่ได้ ในทางปรัชญา คุณจะพูดอะไรก็ได้ตามที่คุณอยากจะพูด แต่นั่นมิได้หมายความ (แต่อย่างใดเลย) ว่า ‘คำพูดนั้นๆ’ จะมีความหมายหรือเข้าใจได้ในระดับตรรกะหรือปัญญาบนความเป็นสากล

เด็กคนนั้นเดินจากไปแล้ว... เขาไม่รอคำตอบอีกแล้ว...

เจ้าหนู... แต่นั่นแหละคือคำตอบที่แท้จริงที่ฉันจะให้ ‘ความเงียบ’ หรือ ‘การไร้ซึ่งคำตอบ’ เท่านั้นที่จะทำให้การ ‘ชี้นำ’ ตัวตนและจิตวิญญาณที่แท้จริงของเจ้าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ปราชญ์อินเดียท่านหนึ่งนาม กฤษณมูรติ บอกว่าเพราะเราโดนชี้นำ เราจึงเป็น ‘มนุษย์มือสอง’ เราควรแสวงหาความหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโลกและชีวิตด้วยปัญญาของเราเอง สิ่งอื่นๆรอบกายเราถือเป็นเพียงเครื่องมือที่จะใช้ช่วยในการแสวงหาหนทางที่แท้ (ซึ่งเราจะสามารถตระหนักรู้ได้ด้วยใจตนเอง) เท่านั้น คำถามตรงนี้จึงมีอยู่ว่า แล้วเหตุใดจึงไม่มีใครในสังคมรู้สึกเอะใจกับเรื่องนี้บ้าง? เพราะอะไรผู้คนจึงรู้สึกว่าการถูกสมาทานความคิดใดความคิดหนึ่ง (ซึ่งมีผลทั้งในระดับปัจเจกและสังคม) ให้โดยไม่มีสิทธิ์เลือกเป็นเรื่องปกติ?

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้ไปรับประทานอาหารที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านรัชดา ผู้เขียนสังเกตเห็นสตรีมีอายุนางหนึ่งกำลังพูดถึงเรื่องราวและหลักการชีวิตต่างๆเกี่ยวกับศาสนาๆหนึ่งให้เพื่อนร่วมโต๊ะฟัง ในมุมมองผู้เขียน ‘ความสูญเสียตัวตนในเชิงสภาวะมนุษย์’ ได้เกิดขึ้นอีกครั้งอย่างยิ่งยวดในเวลานั้น (แม้แน่นอนว่า ‘การสูญเสียตัวตนฯ’ จะเกิดมีขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ถูกประทับตีตราแล้ว) แก่นสารในเชิงปรัชญาสามารถอธิบายได้ดังนี้ ในจักรวาลผืนนี้ ไม่มีเรื่องราวใดที่เป็นเรื่องราวเชิงเดี่ยวซึ่งแยกตัวออกมาจากเรื่องราวเล็กๆโดยรวมทั้งหมด การที่คนๆหนึ่งสมาทานความคิดชุดหนึ่งราวกับเป็นคุณค่าสูงสุดในชีวิตและคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดจึงกลับกลายเป็นว่าเขาหรือเธอกำลังพูดถึงแต่สิ่งอื่นๆโดยที่มิได้พูดถึงเรื่องราวและความหมายแห่งชีวิตของเขาหรือเธอเองเลย มันจึงเป็นเรื่องที่ดูกลวงเปล่าแลไร้ความหมายอย่างยิ่ง ที่สตรีนางนั้นเลือกที่จะใช้ (หรือหยิบยืม) สายตาและลมหายใจของผู้อื่นมาตัดสินเรื่องราวของโลกและชีวิต และที่สำคัญ คิดว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นแก่นสารเดียวที่ถูกต้อง เป็นสัจจะ และเป็นที่สุดของจักรวาล ขอสารภาพว่า ณ ตอนนั้นผู้เขียนมีคำถามอยู่คำถามหนึ่งที่อยากจะถามเธอคนนั้นจริงๆ (เผื่อว่าซาโตริเล็กๆจะบังเกิดในใจเธอขึ้นมาบ้าง) ผู้เขียนเพียงอยากจะถามเธอผู้นั้นว่า “แล้วคุณเอาศาสนาอื่นๆไปทิ้งไว้ที่ไหนหมดล่ะครับ?”  

 

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า ‘ความเป็นศาสนา’ และ ‘ความหมายของศาสนา’ จะยังคงความคลุมเครือและกำกวมในแง่ของมิติการจัดวางพื้นที่ทางสังคมและในจิตใจมนุษย์อยู่ร่ำไป (ส่วนสำหรับคนที่ใช้ ‘ศรัทธา’ และ ‘การท่องจำ’ นำเป็นพื้นฐานคงไม่มีปัญหาต่อสิ่งเหล่านี้) คำถามที่ว่า ‘แท้แล้วศาสนาคืออะไร?’ คงมีคนจำนวนไม่ถึงหยิบมือที่จะรู้สึกสะกิดใจกับแก่นสารที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวที่เราคุ้นชินนี้ สงครามทางกายภาพ สงครามทางความคิด สงครามทางชนชั้น ล้วนยังคงดำเนินต่อไปอย่างมึนงงจากต้นตอของสิ่งที่เรียกว่า ‘ศาสนา’ (ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นสิ่งที่มนุษย์อย่างเราๆประดิษฐ์หรือคิดค้นมันขึ้นมาเอง) มันกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ครอบงำทั้งความเป็นมนุษย์ อารมณ์ความรู้สึก รวมถึงมิติแห่งจิตวิญญาณ เพื่อให้ยึดติด (หรือยึดเหนี่ยว) อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนลืมความเป็นตนเองและเส้นทางความหมายแห่งชีวิต ทุกวันนี้ ผู้เขียนยังคงมีเพื่อนที่นับถือศาสนาอยู่แทบทุกศาสนา แต่ (เล่าสู่กันฟังนะครับว่า) ไม่มีใครเลยในจำนวนนี้ ที่จะเลือกเจาะจง (หรือกล้าหาญที่จะเปลี่ยนไป) นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง (หรือไม่นับถือ) ด้วยใจ (และสติปัญญา) ของเขาหรือเธอเอง ซี่งตรงนี้เอง สิ่งที่น่าสนใจ (แต่ก็น่าหดหู่ใจไปไม่แพ้กัน) ก็คือพวกเขามิได้รู้สึกเข้าใจในสิ่งที่พวกเขานับถือหรือศรัทธาสักเท่าไหร่ พวกเขายังคงสะกดจิตตัวเองด้วยความเชื่อและคำสอนที่ได้ฟังตามๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่น (ซึ่งแน่นอนว่าจะมีเหตุผลหรือไม่มิใช่ประเด็น) และที่สำคัญที่สุด พวกเขาฝากความหมายของตัวเองไว้กับความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาเท่านั้น

ซึ่งก็เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขาไม่รู้ว่าคืออะไร...

 

ป.ล. เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว มีลูกศิษย์คนหนึ่ง (ที่ ม.เกษตรฯ) ถามผม (คล้ายกับอยากรู้อยากเห็น) ว่า “อาจารย์นับถือศาสนาอะไรครับ?”

ผมตอบทันควัน “อะไรก็ได้ครับ แล้วแต่คุณสบายใจเลย”

“แล้วทำไมอาจารย์แขวนพระล่ะครับ?” ศิษย์คนนั้นถามต่อ  

“เพราะพ่อให้ครับ” ผมว่า

“ส่วนในบัตรประชาชนผมก็เป็นพุทธนะครับ” ผมเสริมต่อให้

“งั้นอาจารย์ก็เป็นพุทธ!” ศิษย์คนนั้นกล่าวคล้ายสรุป

ผมยิ้มพลางส่ายหน้า “เอาแล้วแต่คุณสบายใจเลยครับ”

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net