Skip to main content
sharethis

มีชัยย้ำทำประชามติร่างรธน.ต้องไม่ปิดหูปิดตาประชาชน แนะครู ก.แจงร่างรธน.ต่อประชาชนให้ละเอียดที่สุด  ระบุร่างรธน.คิดบนฐานสิ่งที่ต้อการให้เกิดกับประเทศ อธิบายบทเฉพาะกาล มี 2 ส่วน การเปลี่ยนผ่าน ที่มา ส.ว. ยกโพลล์บอกนายกมาจากไหนก็ได้ ขอให้เป็นคนดี

18 พ.ค. 2559 เมื่อเวลา 9.05 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement - NDM' ได้โพสต์ภาพ พร้อมข้อความ วันนี้ตัวแทนของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้มาแจกเอกสารความเห็นแย้งคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 10 เรื่องที่น่ารู้ ในโครงการจัดการฝึกอบรมวิทยากรระบวนการ (ครู ก) จัดโดยกระทรวงมหาดไทยร่วมกับ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ระบุด้วยว่า ได้รับการตอบรับที่ดีจากพี่ๆ ครู ทั้งนี้ยังได้พบ มีชัย ฤชุพันธุ์ จึงได้แจกเอกสารให้ด้วย โดยตัวแทนของเรากล่าวว่าความเห็นแย้งจะมีประโยชน์ต่อการตัดสินใจกับประชาชน มีชัยพยักหน้าและรับเอกสารพร้อมกล่าวว่า "ทำไมถึงเอารูปหน้าปกผมไปใช้ล่ะ"

มีชัยแนะครู ก.แจงร่างรธน.ต่อประชาชนให้ละเอียดที่สุด

ขณะที่ สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า โครงการจัดการฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการ หรือ ครู ก. เพื่อเตรียมความพร้อมในการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว มีผู้ว่าราชการจังหวัด ตัวแทนชุมชน ตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนกระทรวงศึกษา เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.)  ตัวแทนจาก 77 จังหวัด จังหวัดละ 5 คน พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ร่วมสังเกตการณ์ อาทิ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เข้าร่วมอบรม

โดย มีชัย ประธาน กรธ.กล่าวเปิดงานและบรรยายถึงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่า คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ เป็นประธานอนุกรรมการฯ ได้จัดให้ชี้แจงกับวิทยากรโดยแยกเป็นครู ก. ครู ข.และครู ค. ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจและรับทราบเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ โดยทุกคนที่เข้าร่วมอบรมถือเป็นต้นลำธาร ซึ่งกรธ.ตั้งใจจะชี้แจงเนื้อหาเท่าที่มีในรัฐธรรมนูญให้รับทราบ เพื่อจะได้นำสิ่งเหล่านี้ถ่ายทอดไปยังครู ข.และครู ค.ได้

“เราฝากอนาคตของประเทศไว้กับครู ก. ครู ข.และครู ค.เพราะว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ประชาชนได้รับทราบเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญว่ามีอะไรบ้างหรือดีอย่างไร การจัดอบรมเสวนาครั้งนี้เป็นหัวใจสำคัญ ที่จะต้องรบกวนทุกคนช่วยสดับตรับฟัง เพื่อนำไปใช้ แต่ไม่ได้ให้นำไปจูงใจหรือบอกให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ให้บอกข้อมูลในร่างรัฐธรรมนูญให้ครบถ้วนหรือในสิ่งที่เขาสนใจ เชื่อว่าประชาชนจะตัดสินใจได้เอง และหากเรายิ่งบอกได้กว้างมากเท่าใด การตัดสินใจของประชาชนจะอยู่บนพื้นฐานความคิดของเขาเอง โดยไม่ได้ถูกใครจูงใจให้มองเห็นในทางที่ผิด” ประธานกรธ. กล่าว

มีชัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญถือเป็นกรอบหรือขื่อแปของบ้านเมืองที่จำเป็นต้องมี แม้ปัจจุบันจะมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่เขียนไว้อย่างย่นย่อเพื่อให้พอใช้ในระหว่างนี้ที่สถานการณ์ไม่ปกติ แต่เมื่อใดที่บ้านเมืองจะเดินไปสู่ปกติ ต้องมีรัฐธรรมนูญถาวร ซึ่งในรัฐธรรมนูญถาวรจะบอกรายละเอียดทั้งหมดที่จำเป็นต่อการบริหารประเทศ จำเป็นต่อความเป็นรัฐ จำเป็นต่อความเป็นเอกราช และความเป็นประชาธิปไตย ในรัฐธรรมนูญจึงจะบอกหมดตั้งแต่ว่าบ้านเมืองจะปกครองรูปแบบใด มีสถาบันใด สิ่งใดที่รัฐต้องไม่รุกล้ำสิทธิของประชาชน สิ่งใดที่รัฐต้องเอาใจใส่เป็นการเฉพาะเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การกำหนดองคาพยพทางการเมือง การตรวจสอบถ่วงดุล วิธีการได้มาซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ และองค์กรอิสระที่จะทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจ

แจงร่างรธน.คิดบนฐานสิ่งที่ต้อการให้เกิดกับประเทศ

ประธานกรธ. กล่าวว่า ก่อนที่กรธ.จะลงมือร่างรัฐธรรมนูญ ได้คิดและตั้งเป้าหมาย แนวทางที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น คือ 1.สิทธิของประชาชน ชุมชน สังคม ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจังและเกิดผลในทางปฏิบัติให้มากที่สุด 2.สิทธิของประชาชน รัฐต้องเป็นคนให้ ในส่วนที่เป็นความจำเป็นในการดำเนินชีวิตของประชาชน  3.กลไกการใช้สิทธิทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริงและจับต้องได้  ไม่ใช่เพียงการไปลงคะแนน 3 วินาทีเท่านั้น เราสร้างกลไกเพื่อให้คะแนนของทุกคนมีส่วนได้ถูกนับ เพื่อไปคำนวนหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)

“4.การขจัดการทุจริต เราตระหนักกันดีว่ามีอะไรเกิดขึ้นเมื่อเงินงบประมาณลงไปในพื้นที่ มีการกระทำผิดรัฐธรรมนูญกันทั่วบ้านทั่วเมืองอย่างไร รัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องการแปรญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ห้ามส.ส.แปรญัตติให้ตัวเองมีส่วนใช้งบประมาณนั้น เขียนมาตั้งแต่ปี 2540 และ 2550 แต่ไม่ได้มีบทบัญญัติแซงชั่นอะไรไว้เลย ซึ่งวิวัฒนการแปรญัตติเอางบใส่มือส.ส. มีมากขึ้นและร่วมมือทุกกระบวนการ เราจึงกำหนดว่าถ้าพบว่ามีการกระทำแบบนั้น คนที่แปรญัตติต้องพ้นจากตำแหน่ง สภาฯที่อนุมัติทั้ง ๆ ที่รู้ จะต้องหมดไปทั้งสภา เจ้าหน้าที่กระทรวง ทบวง กรม ที่อนุมัติทั้งที่รู้ก็ต้องถูกลงโทษ ขณะที่ครม.ที่อนุมัติงบทั้งที่รู้ก็ต้องไปทั้งคณะเช่นกัน และเขียนไว้อีกว่าการติดตามทวงเงินคืนมีอายุความ 20 ปี เพราะเราคงจับในขณะที่เขาเป็นรัฐบาลไม่ได้ ต้องรอ 2 รัฐบาลแล้วค่อยมาจับ หวังว่ามันจะเป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้เขาทำ” ประธานกรธ. กล่าว

มีชัย กล่าวว่า กรธ.ยังกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนที่จะเข้าสู่การเมืองไว้เข้มขึ้น วางหลักว่ารัฐต้องมีหน้าที่จัดให้ทุกคนได้รับการศึกษาตามความถนัดไปจนสุดความสามารถของเขา เราขยับการศึกษาฟรีลงมารองรับตั้งแต่อายุ 2 ขวบก่อนเข้าอนุบาลก่อนเข้าประถมศึกษาภาคบังคับ รวมทั้งตอนท้ายมีกองทุนของรัฐรองรับคนที่ขาดแคลนไว้ด้วย ขณะที่องค์กรอิสระ กรธ.พยายามที่จะทำให้เป็นที่เชื่อถือด้วยการเพิ่มคุณสมบัติและประสบการณ์ให้สูงขึ้น มีกลไกคัดเลือกตัวบุคคลให้ปลอดการเมือง รวมทั้งยังกำหนดให้ประเทศมียุทธศาสตร์และการปฏิรูป โดยมุ่งหวัง 3 ประการ คือ 1. ทำให้ประเทศมีความสุขสงบ 2. ทำให้สังคมและคนมีความสุขสงบ และ 3. ทำให้ประชาชนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยกำหนดการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ไว้

บทเฉพาะกาล มี 2 ส่วน การเปลี่ยนผ่าน ที่มา ส.ว.

มีชัย กล่าวถึงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ ว่า มีสองส่วน โดยส่วนแรกคือการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะต้องมีเครื่องมือรองรับไว้ และอีกส่วนหนึ่งคือที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญในบทถาวร ส.ว.จะมาจากประชาชนทุกหมู่เหล่าที่สมัครกันมาแล้วคัดเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ เป็นผู้แทนของคนทั้งประเทศตามสาขาที่ได้รับเลือกมา เพื่อจะได้ส.ว.หลากหลายอาชีพ ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรี เราต้องการให้ประชาชนรู้ว่าเวลาเลือกตั้งจะเห็นใครเป็นเงาที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงสร้างกลไกว่าก่อนเลือกตั้ง พรรคการเมืองทุกพรรคต้องประกาศชื่อคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี

“เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว คนที่จะเป็นนายกฯ ต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคเสนอจะมาจากพรรคใดก็ได้ จึงกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่าให้ส.ว รุ่นแรก 250 คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่มาจากการสรรหา แต่ใน 50 คนจะต้องสรรหาและแต่งตั้งจากคนที่ชาวบ้านเลือกเพื่อเป็นต้นแบบของการเลือกตั้งแบบนี้ในวันข้างหน้า และประชาชนจะได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง และเพื่อแก้ปัญหาว่าถ้าเขาเลือกนายกฯแล้วตกลงไม่ได้ จึงมีบทเฉพาะกาลกำหนดว่าถ้าเลือกนายกฯกันไม่ได้ให้มาบอกประธานรัฐสภา เพื่อให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อขอยกเว้น และถ้าได้คะแนนเสียงตามกำหนดก็ยกเว้น แล้วส.ส. ก็กลับไปเลือกนายกฯกันเอง” ประธานกรธ. กล่าว

มีชัย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่พูดกันมากว่ารัฐธรรมนูญเปิดทางให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี เราก็บอกว่าพรรคการเมืองเป็นคนตัดสิน ก็อย่าเอาคนนอก ให้เอาคนในพรรคของตัวเอง แต่มีข้อต้องตระหนักว่าในวันที่พรรคการเมืองประกาศชื่อนั้น ยังไม่มีการเลือกตั้งแล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าชื่อที่ประกาศไปนั้นจะได้รับการเลือกตั้ง เพราะถ้าบังคับว่าต้องมาจากส.ส. แล้วปรากฎว่าคนที่ประกาศไว้ไม่ได้รับการเลือกตั้งแล้วจะทำอย่างไร กรณธ.จึงไม่บีบบังคับว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส.

ยกโพลล์บอกนายกมาจากไหนก็ได้ ขอให้เป็นคนดี

“ผลโพลล์ประชาชนบอกว่านายกฯ มาจากไหนก็ได้ ขอให้เป็นคนดี มีความสามารถ เป้าหมายของเราคือเปิดช่องไว้เพื่อไม่ให้เกิดทางตัน ถ้าไม่ได้รับเลือกตั้ง ถามว่ามันจะเกิดขึ้นได้หรือไม่เพราะส่วนใหญ่จะใส่ไว้ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 เสมอ แต่ตามรัฐธรรมนูญนี้พรรคบางพรรคอาจไม่ได้รับเลือกตั้งจากบัญชีรายชื่อเลยก็ได้ ถ้าคะแนนนิยมดี และได้คะแนนจากส.ส.แบบแบ่งเขตเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้ว เราขอยืนยันทำเพื่อประโยชน์ของพรรคทุกพรรค ไม่ใช่เพื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะท่านก็บอกอยู่แล้วว่าท่านจะไม่เข้ามาเป็น รัฐธรรมนูญมีเจตนาเรื่องความปรองดอง ดูได้จากกลไกที่ใส่ไว้ที่เปิดโอกาสให้ปรึกษาหารือกัน หากเป็นไปตามที่กรธ.วางแนวทางไว้ เชื่อว่าบ้านเมืองจะรุดหน้า ไม่แพ้ใครในโลก” ประธานกรธ. กล่าว

ย้ำทำประชามติร่างรธน.ต้องไม่ปิดหูปิดตาประชาชน

มีชัย ให้สัมภาษณ์ด้วย ว่า วิทยากรที่คัดเลือกมามาอบรมครู ก ในวันนี้ ส่วนใหญ่วิทยากรอยู่ในระดับสูงมีความรู้พื้นฐาน แต่ก็ต้องมีกลไกในการติดตามการทำงาน และให้กำลังใจของครู ก เวลาที่ลงพื้นที่ชี้แจงด้วย การชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องได้เปรียบ หรือเสียเปรียบ เพราะการจะทำประชามติจะต้องบอกให้รู้ ซึ่งการให้ประชาชนรับรู้มากที่สุด ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เราจะปิดหูปิดตาประชาชนได้อย่างไร แต่เราก็ไม่ได้มีอะไรห้าม เพียงแค่กังวลว่าอย่าไปบิดเบือนเท่านั้น เพราะถ้าไม่เห็นด้วย ไม่ใช่ไปบอกแบบแผ่นเสียงตกร่อง ว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย

“ผมไม่กังวลกระแสคัดค้านที่ออกมาจากทุกฝ่าย หากเขาวิจารณ์โดยสุจริตใจ เพราะผมยืนยันว่า กรธ.ก็ทำด้วยความสุจริตใจ ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ และไม่มีความมุ่งหมายทางการเมือง แต่กังวลถ้าเขาไม่อ่านรัฐธรรมนูญทั้งหมด แล้วไปฟังคนอื่นมาวิจารณ์ต่อก็แย่  บ้านเมืองควรเปิดหูเปิดตา” มีชัย กล่าว
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net