Skip to main content
sharethis

องค์กรแรงงานหลายกลุ่ม ทั้งแรงงานไทย-แรงงานข้ามชาติร่วมกันเดินรณรงค์สิทธิแรงงานในเชียงใหม่ พร้อมยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ เรียกร้องรัฐบาลคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ปราบปรามขบวนการนายหน้าหาประโยชน์ และรีบลงนามในอนุสัญญา ILO

1 พ.ค.57 - เวลา 09.30 น. บริเวณหน้าสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มแรงงานสามัคคี สหพันธ์คนงานข้ามชาติ กลุ่มแรงงานจากสมุทรสาคร สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ เครือข่ายคนงานข้ามชาติ และเครือข่ายองค์กรส่งเสริมสิทธิผู้ใช้แรงงาน รวมกันจำนวนราว 300 คน ได้ร่วมกันเดินรณรงค์เนื่องในวันแรงงานสากล (May Day) ไปยังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนมีการยื่นหนังสือข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิแรงงานหลายประเด็นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

กลุ่มแรงงานที่มาร่วมรณรงค์ประกอบด้วยทั้งแรงงานไทย แรงงานพม่า แรงงานไทใหญ่ และแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จากหลายพื้นที่ โดยมีการเขียนป้ายข้อความเรียกร้องสิทธิแรงงาน ทั้งในภาษาไทย พม่า อังกฤษ ประกอบการเดินรณรงค์ด้วย

โดยเมื่อขบวนเดินรณรงค์ถึงด้านหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการอ่านแถลงการณ์และข้อเรียกร้องจำนวน 11 ข้อทั้งในภาษาไทยและภาษาพม่า ก่อนทำการยื่นหนังสือแก่นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ที่ลงมารับหนังสือด้วยตนเอง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวตอบกับผู้ชุมนุมสั้นๆ ว่าตนจะรีบรายงานและส่งต่อข้อเรียกร้องเหล่านี้ไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของแรงงาน

กาญจนา ดีอุต เจ้าหน้าที่มูลนิธิ MAP จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าจุดประสงค์หลักในการรณรงค์ครั้งนี้อยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาสนใจปัญหาแรงงานข้ามชาติและแรงงานทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ทั้งในประเด็นการบังคับใช้กฎหมายหรือพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานอย่างจริงจัง โดยแรงงานในภาคเกษตร ภาคบริการ กฎหมายก็ยังไม่ได้ยอมรับว่าเป็นแรงงานที่ได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึง การบังคับค่าแรงขั้นต่ำที่ 300 บาท เพราะความเป็นจริงยังมีแรงงานส่วนน้อยที่เข้าถึงค่าแรงขั้นต่ำนี้ และการทำงานในวันหยุดหรือล่วงเวลา ก็ควรได้รับค่าจ้างเพิ่มเติมด้วย ไปจนถึงประเด็นการลงนามในลงนามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ให้เกิดสิทธิในการรวมกลุ่มของแรงงาน เพื่อช่วยในการต่อรองสิทธิต่อไป

เอ มา โช เจ้าหน้าที่โครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่าตนกับกลุ่มแรงงานชาวพม่าเดินทางมาจากย่านมหาชัย โดยเห็นว่าแรงงานข้ามชาติมีปัญหาการถูกเอาเปรียบในด้านต่างๆ ทั้งการทำงานแล้วไม่ได้รับค่าจ้าง การไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเท่าเทียม ปัญหาการไม่มีล่ามในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ปัญหาการต่อใบอนุญาตแรงงานข้ามชาติ ไปจนถึงปัญหาการไม่มีนโยบายแรงงานข้ามชาติที่ชัดเจนของรัฐ ขึ้นอยู่กับปีต่อปี ทำให้มีความไม่แน่นอนสูง ส่วนปัญหาเรื่องทัศนคติของคนไทยต่อแรงงานพม่านั้น ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากหลายคนเห็นว่างานที่คนพม่าเข้ามาทำนั้น เป็นงานที่แรงงานไม่อยากทำอยู่แล้วด้วย

000

แถลงการณ์และข้อเรียกร้อง

วันที่ 1 พฤษภาคม 2557

เรื่อง ข้อเรียกร้องในโอกาสวันกรรมกรสากล

เรียน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ผ่าน นายนายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

เนื่องด้วยวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันกรรมกรสากล” ซึ่งเป็นวันที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกได้รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมของผู้ใช้แรงงาน เป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงาน สิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนคนกลุ่มอื่นๆ และในฐานะที่ผู้ใช้แรงงานถือเป็นฝ่ายผลิตที่สำคัญในการผลักดัน ส่งเสริมพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า

ในปี พ.ศ.2557 นี้ องค์กรผู้ใช้แรงงานได้แก่ กลุ่มแรงงานสามัคคี สหพันธ์คนงานข้ามชาติ กลุ่มแรงงานจากสมุทรสาคร สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ เครือข่ายคนงานข้ามชาติ และเครือข่ายองค์กรส่งเสริมสิทธิผู้ใช้แรงงาน ได้ประเมินและพิจารณาถึงสถานการณ์ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและสังคม มีข้อเรียกร้องมายังรัฐบาล ดังนี้

1. ขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาและดำเนินการเสนอให้รัฐบาลซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตลงนามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ98 เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงานได้อย่างเสรี ตามหลักการประชาธิปไตย และเหมือนดั่งอารยประเทศที่พึงกระทำ

2. ขอให้รัฐบาลมีมาตรการ นโยบาย และกฎหมาย ที่เปิดให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ใช้แรงงานไทย ในฐานะที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยด้วยเช่นกัน

3. ขอให้รัฐบาลมีมาตรการที่จริงจังในการปราบปรามขบวนการนายหน้าที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์ ในการขึ้นทะเบียนแรงงานโดยไม่มีกิจการให้แรงงานเข้าเป็นลูกจ้างจริง แต่นำเข้าแรงงานเข้ามาเพื่อขายแรงงานต่อให้บริษัทที่ต้องการใช้แรงงานข้ามชาติ แต่ไม่ต้องการแสดงตนเป็นนายจ้าง อีกทอดหนึ่ง อันเป็นลักษณะการค้าแรงงานมนุษย์และเป็นการแสดงเจตนาหลบเลี่ยงกฎหมาย

4. ขอให้รัฐบาลมีมาตรการที่เข้มงวด โดยให้นายจ้างทุกคนที่นำเข้าแรงงานข้ามชาติต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด

5. ขอให้สำนักงานประกันสังคมบังคับใช้พระราชบัญญัติประกันสังคมกับนายจ้างอย่างเข้มงวด โดยบังคับให้นายจ้างต้องนำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยไม่มีข้อยกเว้น และแก้ไขระเบียบหรือคำสั่งใดๆ ที่อาจจำกัดการเข้าถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติ อันเป็นการเลือกปฏิบัติ และให้ขยายกฎหมายประกันสังคมให้ครอบคลุมกับแรงงานทุกภาคส่วน อาทิ แรงงานภาคบริการ แรงงานทำงานบ้าน เป็นต้น

6. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดและบังคับใช้กฎหมายกับนายจ้างอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะกระบวนการต่อเนื่องหลังจากมีการนำแรงงานเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว เนื่องจากมีแรงงานจำนวนหนึ่งถูกนำเข้าแรงงาน(MOU) แล้วนายจ้างไม่ดำเนินการใดๆ ในการขออนุญาตทำงานให้แรงงานที่นำเข้า ทั้งที่หักค่าใช้จ่ายจากลูกจ้างแล้ว โดยที่ลูกจ้างไม่มีโอกาสทราบว่าตนทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่มีเจตนากระทำความผิดตามกฎหมาย แต่ถูกดำเนินคดีเมื่อมีการเข้าตรวจค้นจับกุม โดยที่นายจ้างไม่ถูกกระบวนการทางกฎหมายเอาผิดแต่อย่างใด อันเป็นลักษณะของการเลือกบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เป็นธรรม

7. ขอให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับที่ 14 พ.ศ.2555 เรื่องแรงงานแม่บ้านอย่างเข้มงวด

8. ขอให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานมีมาตรการ นโยบาย ยกเลิกระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วงและการจ้างงานแบบจ้างเหมาค่าแรงเนื่องจากเป็นระบบการจ้างงานที่เป็นการเอาเปรียบไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน

9. ขอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบติดตามตรวจสอบนโยบายค่าจ้าง 300 บาท เพื่อให้มีผลทางปฏิบัติ ไม่ถูกบิดเบือนจากกลุ่มทุน และมีประสิทธิภาพ โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนรัฐบาล หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ สื่อมวลชน สหภาพแรงงาน ตัวแทนผู้ใช้แรงงานมีส่วนร่วม ทั้งระดับชาติและในแต่ละเขตพื้นที่แต่ละจังหวัด

10. ขอให้รัฐบาลยกเลิกกองทุนส่งกลับ

11. ขอให้รัฐบาลมีมาตรการ นโยบาย และกฎหมาย ที่ยอมรับว่าพนักงานบริการคือลูกจ้าง และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net