Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


โดย  มุทิตา เชื้อชั่ง


 


 


ครบรอบ 30 ปี "6 ตุลา" ในปีนี้ นอกจากเลขสวยครบ 3 ทศวรรษแล้ว สถานการณ์ทางการเมืองยังนำพารสชาติปะแล่มๆ แห่งอดีตมาสู่ผู้คนในปัจจุบันอีก


 


งานรำลึกปีนี้จึงน่าจะคึกคักมีชีวิตชีวา และน่าจะมีสีสันมากกว่าปกติที่เป็นเพียงการพบกันประจำปีของ "คนตุลา" เพราะบัดนี้ปุ่มรับรสเผด็จการของคนเดือนตุลา (และเดือนอื่นๆ) เริ่มแตกต่างกันอย่างสำคัญ ชนิดไม่สงวนจุดต่าง และไม่แน่ว่าจะแสวงจุดร่วมกันได้


 


ห้วงยามที่การถกเถียงทางการเมืองกำลังออกรสแบบนี้ คนรุ่นใหม่จึงรอดตัวไป เพราะไม่ค่อยมีใครออกมาต่อว่าต่อขาน หรือบ่นน้อยอกน้อยใจเหมือนทุกปี ข้อหาที่เยาวชนส่วนใหญ่ไม่ยอม "ซื้อ" ประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของสังคมการเมืองไทย มัวแต่หลงระเริงไปกับสังคมทุนนิยม บริโภคนิยม เห่อดารา บ้าแบรนด์เนม ฯลฯ


 


.........…ชีวิตและเลือดเนื้อเท่าไหร่ที่ต้องจ่ายไปสำหรับประชาธิปไตยเฮงซวย สนใจกันบ้างมั้ย !!!


 


นั่นสิ ชีวิตและเลือดเนื้อเท่าไหร่...เท่าที่เปิดตำราดู ตั้งแต่ครั้งกวดวิชาตอนอนุบาลเตรียมไว้เอนทรานซ์จนถึงข้อสอบในมหาวิทยาลัย ไม่เคยเห็นตัวเลขตรงนี้ชัดๆ นะครับ !


 


แล้วไอ้เหตุการณ์ 16 ตุลานี่ มันน่าจะอยู่ในวิชาประวัติศาสตร์ไทยหรือวิชาสังคมคะ ?


 


ลุงประชา อดีตวีรชนเดือนตุลาเลยได้แต่ยกมือค้างไว้กลางอากาศ ไม่รู้จะเบิ้ดกะโหลกไอ้เด็กพวกนี้ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา หรือสื่อมวลชนบัดซบที่ไม่เคยสนใจนำเสนออะไรนอกจากขายของไปวันๆ หรือ ฯลฯ ว่าแล้วด้วยความอัดอั้น ลุงประชาก็เลยต้องตีอกชกหัวตัวเองไปพรางก่อน…..........


 


14 ตุลา 6 ตุลา 17-18 พฤษภา กลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลอันหนักอึ้งของสังคม ที่มีเพียงคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นร่วมรู้สึกรู้สมกับมันอย่างจริงจัง และพยายามจัดกิจกรรม (แบบเขา) อยู่ทุกปี โดยแทบจะไม่อยู่ในบรรยากาศการรับรู้ของสังคมโดยรวมเลย


 


สำหรับคนชอบฮิพฮอพ บางทีเขาอาจกำลังสงสัยอยู่ก็ได้ว่า ทำไมไม่มีใครแต่งเพลงฮิพฮอพรำลึก 6 ตุลาบ้าง คนแต่งไม่สนใจประวัติศาสตร์ รัฐไม่สนับสนุน ญาติวีรชนไม่ชอบกลัวเสื่อมความขลัง หรือบริษัทไม่เอาด้วยกลัวไม่มีใครซื้อฟัง ??!!


 


บางทีนอกจากตรวจสอบ เรียกร้องจากคนรุ่นใหม่แล้ว อาจต้องตรวจสอบ เรียกร้องจากส่วนอื่นๆ ด้วย หากเรายืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หากเรายืนยันว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อที่อย่างน้อยจะได้หาทางหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพียงแต่อาจต้องวงเล็บไว้หน่อยว่า ต้องเป็นประวัติศาสตร์หลายเวอร์ชั่นเพื่อกันเผด็จการทางความทรงจำ อย่างที่มีใครเคยว่าไว้...ใครยึดกุมอดีตได้ ผู้นั้นยึดกุมอนาคต


 


อย่างไรก็ตาม การก่อเกิดสำนึกทางการเมือง นอกเหนือจากอิทธิพลของประวัติศาสตร์แล้ว ขึ้นอยู่ที่บรรยากาศทางสังคมเป็นสำคัญ


 


เหตุการณ์สำคัญหลายครั้งเริ่มต้นด้วยคนประเภท "ฮาร์ดคอร์" ทางการเมืองไม่กี่คน ขณะที่บรรยากาศความอยุติธรรม ความไม่ถูกต้องในสังคม ความอัปลักษณ์ของอำนาจปกครองที่ค่อยๆ เผยแสดงตัวนั้นเอง จะเป็นตัวเร่งให้ความไม่พอใจ ความต้องการเปลี่ยนแปลง ลามไปถึงคนอื่นๆ จนผู้คนออกมาเต็มท้องถนน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่เป็นด่านหน้า แม้ก่อนหน้านี้พวกเขาอาจสนใจฟังแต่เพลงฮิพฮอพก็ตาม มันเป็นสิ่งที่เราต่างรู้ดีว่า เมื่อใดที่พวกเขาเริ่ม "รู้สึก" หัวใจของพวกเขาใหญ่กว่ากำปั้นเสมอ


 


ผู้ที่คิดว่าตนมีสำนึกทางการเมืองสูง ร่วมเหตุการณ์สำคัญๆ ของบ้านเมืองมาอย่างโชกโชน จดจำทุกเสี้ยวประวัติศาสตร์ได้อย่างแม่นยำและเข้าใจแจ่มแจ้งถึงความสำคัญของมัน (รวมทั้งป่าวประณามคนรุ่นใหม่อยู่เนืองๆ) ย่อมต้องพยายามทุกวิถีทางไม่ให้ย่ำรอยเก่าโศกนาฏกรรม ไม่ว่าเขาจะเป็นทหาร นักวิชาการ แม่ค้า นักธุรกิจ สื่อมวลชน ฯลฯ ไม่ว่าเขาจะมีหัวใจเผด็จการ ประชาธิปไตย ก้ำๆ กึ่งๆ หรืออื่นใด


 


ในห้วงยามที่ลูกกับพ่อทะเลาะกันเพราะพ่อเป็นฝ่ายข. ลูกเป็นฝ่ายก. กลายเป็นเรื่องพบได้ทั่วไป ใครจะไปรู้... ถ้าเลือด-น้ำตาไหลนองอีกครั้ง ทั้งลุงประชา ทั้งสหายเก่าที่เห็นไม่ตรงกัน หรือกระทั่งจอมเผด็จการศัตรูของลุง  อาจต้องร่วมกันวิ่งกระเซอะกระเซิงตามหาลูกสาวลูกชายของตัวเอง ท่ามกลางหมอกควันความเสียหายในเช้าตรู่ของวันหนึ่ง....


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net