Skip to main content
sharethis

ประชาไท—25 ก.ย. 2549 หลังจากมีปรากฏการณ์ที่หน้าห้างสยามเซ็นเตอร์ในวันที่ 22 กันยายน 2549 โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า " 19 กันยาต้านรัฐประหาร" ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ซึ่งเป็นข่าวทั้งในไทยและต่างประเทศ ในเวลาต่อมา มีการประกาศนัดชุมนุมกันเกิน 5 คนที่ลานโดม ข้างสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 25 กันยายน 2549 เวลา 17.00น. เป็นต้นไป เพื่อร่วมเสวนาในหัวข้อ " ทำไมต้องต้านรัฐประหาร" จัดโดย โดยกลุ่มโดมแดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผู้ประสานงานศูนย์ข่าวกิจกรรมนักศึกษาและ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน


 


 


นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน กล่าวถึงการนัดชุมนุมในวันที่ 25 กันยายน 2549 ว่า เป็นสิทธิที่ประชาชนทำได้และไม่ยอมรับคำสั่งการห้ามชุมนุมของคณะปฏิรูปฯ เนื่องจากคณะปฏิรูปฯ ไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ใช้วิธีการฉีกรัฐธรรมนูญ เพื่อเข้ายึดอำนาจ


 


ต่อข้อวิจารณ์ที่ว่า การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร ถือเป็นความไร้เดียงสา นายธนาพลกล่าวว่า ความไร้เดียงสาอยู่ที่ความเชื่อว่าเมื่อผ่าน2 สัปดาห์นับจากยึดอำนาจ ไปแล้ว ทหารจะกลับเข้ากรมกองอย่างไม่แทรกแซงการเมือง และบอกได้เลยว่าคณะปฏิรูปฯ ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบอบทักษิณ


 


" การรัฐประหารไม่ใช่การแก้ไขความขัดแย้งระหว่างทักษิณกับประชาชน แต่เป็นปัญหาเรื่องทหารกลัวถูกโยกย้าย และเป็นการช่วงชิงโอกาสในจังหวะที่ประชาชนเบื่อรัฐบาล " นายธนาพลกล่าว


 


นายธนาพลกล่าวต่ออีกว่า การกล่าวหา ผู้ที่ต่อต้านการรัฐประหาร ว่าเป็นพวกของนาย ทักษิณ ชินวัตรนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่บิดเบือน และในฐานะที่ตนเองเป็นบรรณาธิการวารสารการเมืองซึ่งวิจารณ์ระบอบทักษิณ เสมอมา เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าไม่เคยเป็นพวกทักษิณและช่วงที่ผ่านมาก็เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งไม่เป็นความจริง " เราไม่ยอมรับตรรกะว่ามีแค่เพียง 2 ฝ่าย เพราะอย่างน้อยต้องมี 3 ฝ่าย และแม้เป็นเสียงส่วนน้อย ก็ต้องมีสิทธิที่จะพูด " นายธนาพล กล่าว


 


นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการจัดชุมนุมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้ว่า ไม่ต้องการให้มีประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนตอนที่ทหารเข้ายึดอำนาจในยุค รสช. เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความใกล้เคียงกันมาก คือในช่วงแรกๆ ประชาชนก็มีความยินดีที่ทหารเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ แต่ในท้ายที่สุดก็ไม่ได้เป็นดังที่คาดหวัง


 


" รัฐบาลพลเรือนที่ตั้งโดยทหาร ก็เป็นเพียงแค่นอมินีของทหาร " นายโชติศักดิ์กล่าว


 


นอกจากนั้นในประเด็นสิทธิในการชุมนุม นายโชติศักดิ์กล่าวว่า ตนเองเคยทำการประท้วงขับไล่นายทักษิณ ชินวัตรให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งในตอนนั้นก็ถูกผู้ใหญ่บางคนมองว่าการกระทำเช่นนั้นไร้เดียงสา อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้คณะปฏิรูปฯ ผู้ที่จะมาสร้างประชาธิปไตยกลับวางกำลังทหารไว้ทั่วไป และห้ามการชุมนุม มีการปิดเวบไซต์ซึ่งเป็นสื่อที่เสรีที่สุด ซึ่งเป็นการละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตย " คปค. น่าจะย่อมาจาก คณะปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย " นายโชติศักดิ์กล่าว


 


นายณัฐสิฏษ์ เกียรติวงศ์ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการชุมนุมว่า ตนเองไม่สามารถรอสัญญาที่ว่าประชาธิปไตยจะมาหลังจากรัฐประหาร 2 สัปดาห์ เพราะนี่คือบรรทัดฐาน ว่าการรัฐประหารไม่ว่าจะด้วยระยะสั้นหรือระยะยาว หรือสาเหตุประการใดก็เป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมโดยตัวมันเอง


 


"แม้วันนี้ประชาชนจะชื่นชม ทหารและกระบอกปืนที่คุมอยู่ทั่วทุกหนแห่ง แต่ไม่มีอะไรสามารถประกันได้ว่ากระบอกปืนจะไม่หันเข้าหาประชาชน เมื่อความต้องการของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป " นายณัฐสิฏษ์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net