Skip to main content
sharethis

ภายหลังการยึดอำนาจการปกครองของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา มีทั้งความโล่งอกและภาวะของความอึมครึมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายกลุ่มยอมรับ บางกลุ่มถึงขั้นออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการเข้ายึดอำนาจของ คปค.ในครั้งนี้


 


และนี่คือบางความคิด มุมมอง ทางออก ของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการ ที่ "ประชาไท" นำมาเสนอ


 


 


 


สุริยันต์ ทองหนูเอียด
ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคเหนือ


 


สุริยันต์ กล่าวว่า เขามองภาพรวมการยึดอำนาจของทหารในครั้งนี้ว่า น่ามีสาเหตุจากความขัดแย้ง 3 ประการคือ 1.โครงสร้างอำนาจส่วนบนถูกแทรกแซงและเสียประโยชน์อย่างหนัก การแทรกแซงทางการเมืองของระบอบทักษิณมีลักษณะกินรวบ รวมอำนาจเบ็ดเสร็จ แบ่งฝ่าย แบ่งพวก ผูกขาดผลประโยชน์ ทำให้เกิดการรัฐประหาร


 


2.ทักษิณและบริวาร เหลิงอำนาจ ขาดความชอบธรรม ไม่โปร่งใส ไร้จริยธรรมทางการเมือง การไม่รักษาสัญญาวาจาสัตย์ เรื่อง เว้นวรรคทางการเมืองคือ มรณกรรมของระบอบทักษิณ


 


3.การปฏิวัติเกิดจากความสุกงอมทางการเมือง อันเนื่องจากสภาพไร้ทางออกทางการเมือง เวลากว่า 8 เดือนที่ไม่มีความชัดเจนใดๆ หลังจากการยุบสภา 24 ก.พ.49 รวมทั้งประชาธิปไตย ภาคประชาสังคม ยังอ่อนแอเกินไปที่จะควบคุมระบอบทักษิณได้ ระบอบทักษิณยังคุมอำนาจทั้งล่างบนได้เช่นเดิม



เมื่อถามว่า ตอนแรกดูเหมือนหลายคนรู้สึกโล่งอก ที่ระบอบทักษิณลงไปได้ แต่กลับกลายเป็นว่า เราต้องมาเจอกลับระบอบเผด็จการทหารอีก และในส่วนของพันธมิตรจะทำอย่างไรต่อไป และพันธมิตรมีทางออกอย่างไรนั้น


 


เขากล่าวว่า เบื้องต้น ต้องสังเกตการณ์ไปก่อน และเสนอว่าควรมีกลไกการตรวจสอบอำนาจ คปค. ทางสังคมด้วย โดย ขอเรียกร้องให้ คปค. ต้องคืนเสรีภาพทางวิชาการและสื่อมวลชนก่อนโดยเร่งด่วน อยากให้ คปค.ผ่อนปรนให้มีการดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรคการเมืองได้ อยากให้คณะปฏิรูปการปกครองฯ รักษาคำสัญญาทางอำนาจ ว่าจะคืนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด


นอกจากนั้น ขอให้ใช้โอกาสที่ประชาชนมอบให้อย่างคุ้มค่าที่สุด เสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยต้องเปลี่ยนไปในทางที่ดีกว่าเดิม เมื่อแต่งตั้งคณะรัฐบาลชั่วคราวได้แล้ว ต้องคืนสิทธิเสรีภาพทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ ให้ภาคประชาชนโดยเร็วที่สุด เร่งปฏิรูปการเมือง สังคมทั้งระบบ โดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง


 


และถ้าถามในความรู้สึกส่วนตัว ชอบหรือไม่กับรัฐประหารในครั้งนี้ ส่วนตัวรู้สึกไม่ชอบการปฏิวัติ แต่เข้าใจเหตุผลของการรัฐประหารได้




เจษฎา  โชติกิจภิวาทย์


ผู้ประสานงานโครงการพื้นที่ทางสังคมและสื่อทางเลือก


 


ผมขอคัดค้านการรัฐประหาร การฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ล้าหลังในยุคประวัติศาสตร์ปัจจุบัน เป็นการทำลายกระบวนการประชาธิปไตย บิดเบือนเจตนารมณ์ของวีรชนเดือนตุลาคมพฤษภาคม 2535 ผู้เสียสละชีวิต แม้ว่าปัจจุบัน ประชาธิปไตยที่ว่ายังไม่เป็นที่พึงปรารถนาอย่างแท้จริง ยังมีนักการเมืองน้ำเน่าก็ตามแต่  แต่การรัฐประหารเป็นสิ่งที่ถอยหลังเข้าคลองยิ่งกว่า ประวัติศาสตร์บอกเราเช่นนั้นเสมอ


 


และเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เรามีข้อคิดตรวจสอบกันภายในขบวนการประชาชนได้ว่า มีหลายกลุ่มหลายองค์กรหลายคนที่อ้างว่าสังกัด "ภาคประชาชน"ออกมาแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วย มีการแสดงความเสียใจ กับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ แต่หลายกลุ่ม หลายองค์กร หลายคนที่สังกัด "ภาคประชาชน" ได้แสดงบทบาทอะไรกันบ้างที่ผ่านมา โดยเพิ่มอุณหภูมิที่นำไปสู่การรัฐประหารในครั้งนี้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ มิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์ภาคประชาชนต้องจดจำจารึกไว้ว่าใครที่ "ตีงูให้กากิน"


 


ใครเคลื่อนไหวเข้าทางปืนภายใต้คำกล่าว อ้างความชอบธรรมเพื่อประชาชน และเราจะทบทวนการสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรประชาชนได้อย่างแท้จริงอย่างไรกันดี เพื่อมิให้นักการเมืองที่อยู่ใกล้ภาคประชาชนฉวยโอกาสอยู่ร่ำไป


 


แน่นอนว่า เราต้องเรียกร้องปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และให้คณะรัฐประหารคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด  โดยการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ 


 


สำหรับการปฏิรูปการเมืองนั้น ภาคประชาชน เช่น กรรมกร เกษตรกรรายย่อย กลุ่มชาติพันธุ์ คนด้อยโอกาส และส่วนอื่นๆ ของสังคม  ต้องรวมพลังกันสร้างอำนาจประชาชนขึ้นมา เรามิอาจคาดหวัง กองทัพ พรรคการเมือง นายทุน หรือผู้อ้างตัวเป็นผู้นำภาคประชาชน ดำเนินการปฏิรูปการเมืองแทนได้  เราต้องทำเอง เป็นองค์กรของประชาชนอย่างแท้จริง มีข้อเรียกร้องของตนเองในประเด็นต่างๆ ที่เป็นสิทธิพื้นฐาน เช่น สวัสดิการพื้นฐาน อำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และอื่นๆ ที่ต้องระดมความคิดเห็นกัน ที่สำคัญต้องระดมจากฐานของประชาชน จึงจะมีพลัง โดยมีเป้าหมาย เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม


 


 


นิคม พุทธา


ผู้ประสานงานมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ ภาคเหนือ


ผู้อำนวยการโครงการลุ่มน้ำปิงตอนบน


 


การมี คปค.เข้ามานั้น ผมถือว่า ภารกิจที่ 1 คือหยุดยั้งหรือล้มเลิกระบอบทักษิณ มาถึง ณ วันนี้ก็แทบจะเรียกว่าบรรลุ แต่ภารกิจต่อไปคือ จะทำอย่างไรให้ภาคประชาชนโดยเฉพาะท้องถิ่น คนรากหญ้า หรือคนยากจนในภาคเกษตร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ได้เข้าไปมีส่วนปฏิรูปการเมืองและสังคมไทยทั้ง 2 ทาง คือผ่านระบบตัวแทน ตั้งแต่ระดับ อบต. อบจ. ส.ว. ส.ส. และทางที่สองคือ การเข้าไปมีบทบาทปฏิรูปการเมืองและสังคมทางตรง ซึ่งองค์กรภาคประชาชนจะต้องทำให้เกิดความร่วมมือในหมู่ของประชาชนในระดับฐานล่าง ต้องมีกฎหมายรัฐธรรมนูญออกมารับรองสิทธิชุมชน รัฐธรรมนูญที่จะร่างก็ต้องให้รัฐธรรมนูญมีการระบุเวลาหรือเงื่อนไขที่จะออกกฎหมายลูก


 


กรณี การมีส่วนร่วมของประชาชนมีอย่างจำกัดภายใต้ประกาศของ คปค. เช่น ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน และหลายฝ่ายก็เป็นห่วงว่าคณะรัฐประหารจะไม่คืนอำนาจนั้น ตนมองว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ 1. คปค.ต้องยืนยันในเจตนาที่เคยประกาศ คล้ายเป็นสัญญาประชาคม กับประชาชน 2. ภาคประชาชนไม่ควรจะนิ่งเฉยต้องเข้ามามีส่วนร่วม ต้องมีข้อเสนอ ต้องมีข้อเรียกร้องหรือแสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการอำนาจบริหารที่มาจากประชาธิปไตย และออกมาเคลื่อนไหวก็ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของคณะปฏิรูป คือเราต้องใช้กติกาอันนี้ไปก่อน


 


ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28-29 กันยายน จะมีการจัดประชุมสมัชชาเหมืองฝาย ที่สนามกีฬา 700 ปี จ.เชียงใหม่ โดยจะมีชาวบ้านมาร่วมประชุมกว่า 500-600 คน เบื้องต้นกำลังขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดและทหาร เพราะงานนี้เป็นการประชุมของชาวบ้านที่ใช้ระบบเหมืองฝายเพื่อการเกษตรซึ่งเป็นภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรของชาวบ้าน


 


 


 


รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม


อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


 


สถานการณ์รัฐประหารในปัจจุบันไม่มีอะไรใหม่ ผมอยากเล่านิทานเรื่อง "สิงโตกับหมาจิ้งจอก" ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า สิงโตก็อยากกินไก่ หมาจิ้งจอกก็อยากกินไก่ แต่ปรากฏว่า วิธีการสิงโตใช้วิธีการตะครุบไก่เลย แต่วิธีการของหมาจิ้งจอกไม่ใช้วิธีการนี้ และใช้วิธีการพูดให้ไก่เดินออกมาจากกรงมาให้มันกิน ซึ่งวิธีการมันเป็นคนละอย่างกัน ฉะนั้น ในขณะนั้น สิงโตเห็นว่าหมาจิ้งจอกกำลังจะกินไก่ จึงตะครุบทั้งหมาจิ้งจอกและไก่พร้อมกัน ในขณะที่ไก่ยังคาอยู่ที่ปากของหมาจิ้งจอก


 


ในอนาคต ถ้าปล่อยให้กลไกเป็นไปตามทิศทางที่เรียกว่า เปรมาธิปไตยแล้ว  จะเกิดผลที่ตามมาคือนายทหาร นักธุรกิจ จะเข้ามาหาผลประโยชน์ร่วมกันในการบริหารประเทศ ดังนั้นประชาชนต้องช่วงชิงการออกแบบการบริหารให้มาที่ฟากของประชาชนให้มากขึ้น ดังเช่น รัฐธรรมนูญ พ..2540 ซึ่งมีส่วนดีคือให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพของสื่อ


 


ทางออกของสถานการณ์รัฐประหารดังกล่าว ตอนนี้ สามารถทำในแง่ของสัญลักษณ์ เช่น เปิดไฟหน้ารถยนต์ทุกเวลา เหมือนกับฉายความสว่างให้กับความมืดของประชาธิปไตย หรือแต่งชุดดำ หรือเสนอให้คณะปฏิรูปฯ เปิดกระดานสำหรับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อช่วงชิงจากคณะปฏิรูปฯ ซึ่งมีแต่พวกเนติบริกร ทำให้รัฐธรรมนูญ มีแต่พวกนักเทคนิค ชนชั้นสูง แต่ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะประชาชนไม่ช่วงชิงอำนาจ แต่ยืนยันการมีส่วนรวมในการร่างรัฐธรรมนูญ


 


แน่นอนว่า ทหารก็ยังคุมอำนาจการบริหารประเทศอยู่ไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี แต่สถานการณ์ขึ้นอยู่กับว่าพลังของประชาชนในภาคส่วนต่างๆว่า เราไม่เห็นด้วย และอยากได้ประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด (อ่านคำสัมภาษณ์ รศ.ดร.สมเกียรติฉบับเต็มที่นี่)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net