Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 11 ก.ย. 2549 เมื่อวันที่ 10 ก.ย. คณะอนุกรรมการสิทธิแรงงานในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "แรงงาน...หวังและจะให้อะไรต่อการปฏิรูปการเมือง" ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เพื่อระดมความคิดเห็น เสนอปัญหาและแนวทางปฏิรูปการเมืองจากผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน แรงงานเกษตรพันธสัญญา แรงงานรับใช้ในงานบ้าน แรงงานในระบบ แรงงานภาคบริการ และแรงงานภาครัฐ


         


นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ในวันที่ 1 ต.ค. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จะจัดการสัมมนาขึ้น เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาของแรงงานและเสนออย่างเป็นรูปธรรมว่า จะปฏิรูปการเมืองอย่างไร จากนั้น วันที่ 12-13 ต.ค. ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย จะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองทุกพรรคมาจับเข่าคุยกันว่าจะสามารถบรรจุข้อเสนอของแรงงานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปการเมืองได้หรือไม่


 


ทั้งนี้ ในงานสัมมนาฯ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้แจกเอกสารเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ให้ยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่าจะต้องจบปริญญาตรี 2.ให้ผู้ใช้แรงงานที่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่นอกทะเบียนบ้าน สามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ในเขตพื้นที่อาศัยหรือทำงานอยู่ได้ โดยไม่ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม 


 


3.การใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ 4.สิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ และ 5.การจัดนโยบายของรัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครอง แรงงานโดยเฉพาะแรงงานเด็กและแรงงานหญิง จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ การประกันสังคม รวมทั้งค่าตอบแทนแรงงานให้เป็นธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net