Skip to main content
sharethis

25 ส.ค. 2549 เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายสุชน ชาลีเครือ  รักษาการประธานวุฒิสภา  กรณี พ.ร.ฎ.ปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลเสนอขอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญจึงต้องแนบวันปิดมาด้วย แต่ทั้งนี้วุฒิสภาต้องการทำงานให้เสร็จโดยเร็ว แต่ที่ไม่สามารถอ่าน พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมได้ เพราะยังไม่ถึงวันและเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่เป็นคนเสนอ


 


จึงขอความกรุณาสื่อมวลชน อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์พ.ร.ฎ.เพราะจะเป็นการไม่เหมาะสม วุฒิสภาก็ไม่สามารถไปวิพากษ์วิจารณ์ได้ ทั้งหมดเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายถือว่าทุกอย่างถูกต้องแล้ว ความจริงพ.ร.ฎ.เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ในวันประชุมครม.ก็ต้องแจ้งให้ครม.ทราบก่อนแล้วถึงประกาศใช้ โดยในมาตรา 3 ระบุชัดเจน ว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตนจึงได้ไปแจ้งให้ประธานคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติและความประพฤติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา


 



"ตอนนี้อย่าเพิ่งวิพากษ์วิจารณ์กันมากเพราะขั้นตอนการปิด-เปิดเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แต่หากในวันประชุมมีพ.ร.ฎ.กฤษฎีกาปิดประชุมส่งมาถึง ผมก็จะอ่าน แต่เมื่อไม่มีประชุมผมก็ต้องอ่านผ่านสื่อมวลชน" นายสุชน กล่าว


 



ผู้สื่อข่าวถามว่าคณะกรรมาธิการฯเป็นห่วงเรื่องกรอบเวลาว่าจะไม่ทันตามพ.ร.ฎ.ปิดประชุม นายสุชน กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯได้รับฉันทานุมัติจากที่ประชุมให้ตรวจสอบประวัติภายใน 20 วัน ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯจะต้องพิจารณาเอง ไม่มีใครไปบีบหรือบังคับได้ ประธานเองก็ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องและให้เกียรติคณะกรรมาธิการฯทุกคน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ทุกคนก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ และใช้ดุลพินิจเองว่าจะตรวจสอบประวัติให้เสร็จทันวันที่ 30 ส.ค.นี้หรือไม่ เพราะหากทำไปถึงวันที่ 2-3 ก.ย. ตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ ก็ไม่สามารถเรียกประชุมได้ และอยู่นอกเหนือวันประชุม


 


ดังนั้น ถ้าส่งให้ประธานวุฒิสภาหลังวันที่ 31 ส.ค.ไป จะต้องมีการทิ้งช่วงออกไปอีก ตนก็ต้องเริ่มต้นกระบวนการขอพ.ร.ฎ.เปิดสมัยประชุมใหม่ ซึ่งต้องระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่ง เพราะต้องผ่านครม.และสำนักเลขาราชเลขาธิการ ดังนั้นจึงต้องชั่งใจให้ดี และฝากความหวังว่าคณะกรรมาธิการฯทั้ง 22 คนจะใช้ความรอบคอบให้ดีที่สุดว่าจะเสร็จในวันที่ 29-30 ส.ค.หรือไม่ หรือจะทำให้ครบตามกรอบเวลาที่วุฒิสภากำหนดให้ เพราะวันที่วุฒิสภาได้มีมติยังไม่รู้ว่าจะมีพ.ร.ฎ.ปิดประชุมลงมาจึงไม่สามารถแจ้งให้ที่ประชุมได้รับทราบ ขอให้เข้าใจอย่าไปวิพากษ์วิจารณ์


 



"คณะกรรมาธิการฯ ส่วนใหญ่เห็นว่าจะรีบเร่งพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว ดังนั้น ถ้าทำเสร็จในช่วงก่อนที่จะปิดสภา ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะในวันประชุมมีคนเสนอให้เลือกเร็ว 3-4 ญัตติ เช่น 10 วัน 15 วัน คนที่ลงคะแนนให้ทำงาน 20 วันมีถึง 66 คน คนที่ลงคะแนนให้เสร็จภายใน 10 วันมีตั้ง 56 เสียง ส่วนที่เหลืออีกไม่เกิน 20 คน บอกว่าทำเกิน 20 วันได้ ดังนั้นต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่และในวันประชุมประธานก็ได้ถามว่าจะมีการขยายเวลาหรือไม่ ซึ่งผมก็ตอบว่าไม่มีการขยายเวลา ทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบ 20 วัน ดังนั้น คณะกรรมาธิการมีเวลาทำงาน 1 อาทิตย์ ก็ต้องปล่อยให้ทำงานต่อไป" นายสุชน กล่าว


 



ผู้สื่อข่าวถามว่าการปิดประชุมในวันที่ 31 ส.ค.นี้จะเป็นการบีบให้คณะกรรมาธิการต้องเลือกหรือไม่เพราะต้องสรุปให้เสร็จภายในวันที่ 30 ส.ค.นี้ นายสุชน กล่าวว่า ไม่บีบกรรมาธิการ ขอแก้ข่าวและเขียนข่าวให้ถูกต้องด้วยเพราะ พ.ร.ฎ.เป็นกฎหมายและเป็นไปตามขั้นตอน พ.ร.ฎ.ไม่เกี่ยวข้องกับมติของสภาที่ออกไป และประธานวุฒิสภาไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้อง รัฐบาลทำไปตามกฎหมายที่เสนอไป ตามข้อเท็จจริง


 



เมื่อถามว่าประธานวุฒิสภาเป็นผู้ประสานวันเปิด-ปิดสภาที่เห็นว่ามีความเหมาะสม นายสุชน กล่าวยอมรับว่า ใช่ ซึ่งทุกอย่างเสนอไปก่อนที่จะมีมติที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งมติสภาจะเป็นอย่างไรไม่สามารถบังคับได้ และมติสภาไม่ผูกพัน


 



เมื่อถามย้ำว่าทำไมก่อนหน้านี้ไม่แจ้งให้ที่ประชุมได้รับทราบว่าเสนอวันปิดประชุมในวันที 31 ส.ค. นายสุชน กล่าวว่า แจ้งไม่ได้เพราะยังไม่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา แม้จะมีการโปรดเกล้าฯลงมาก็ตาม และทางสภายังไม่มีใครทราบว่าจะมีการประกาศเมื่อไหร่ ดังนั้น ขอความกรุณาว่าอย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ พ.ร.ฎ. และวุฒิสภาและกรรมาธิการมีหน้าที่ต้องทำตามพ.ร.ฎ.ซึ่งคนที่ไปวิพากษ์วิจารณ์ หรือ ต้องการให้มีการขยายระยะเวลาการตรวจสอบประวัติออกไป เป็นพวกที่ไม่ฟังเสียงประชาชน แต่เชื่อว่าคณะกรรมาธิการจะใช้ดุลพินิจของตัวเองได้ ต้องไปถามกรรมาธิการว่าสังคมอยากจะรู้ว่ากรรมาธิการคนไหนอยากทำงานเร็วหรือช้า ตนไม่เข้าไปก้าวก่าย


 



เมื่อถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่คณะกรรมาธิการต้องสรุปผลการตรวจสอบประวัติให้เสร็จและเลือกกกต.ภายในวันที่ 30 ส.ค.นี้ นายสุชน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 135 กำหนดว่าจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติและต้องรายงานต่อประธานวุฒิสภาพร้อมทั้งข้อมูลหลักฐานอันจำเป็นเท่านั้นไม่ใช่เอาทุกเรื่อง ซึ่งขณะนี้คณะกรรมาธิการก็ดำเนินการอยู่แล้ว ส่วนจะทำเสร็จภายในวันที่ 30 ส.ค. หรือ เกินกว่านี้ ก็เป็นมติของกรรมาธิการตนไม่ขอออกความเห็น เพราะเหลือเวลาก่อนจะครบตามกรอบ 20 วันเพียง 2 วันเอง หากจะเลื่อนมาให้เร็วขึ้น 2 วัน ก็จะพอดีกัน


 


เมื่อถามว่าเลขาธิการครม.ยืนยันว่าประธานวุฒิสภาเป็นคนเสนอและยืนยันว่าจะต้องปิดในวันที่ 31 ส.ค. นายสุชน กล่าวว่า ใช่ตนเป็นคนเสนอจริง แต่ที่บอกใครไม่ได้เพราะยังไม่ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา และเห็นพ.ร.ฎ.เปิดประชุมครั้งนี้ใช้ระยะเวลายาวกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งความจริงควรจะปิดตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา


 



เมื่อถามว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ปิดไปก่อนและให้เวลากับคณะกรรมาธิการได้ตรวจสอบประวัติเสร็จก่อนแล้วจึงขอเปิดใหม่ นายสุชน กล่าวว่า ไม่ขอวิจารณ์เพราะเป็นไปตามขั้นตอน เมื่อถามย้ำว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการใช้พ.ร.ฎ.ปิดประชุมสภาบีบคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ นายสุชน กล่าวว่า อย่าไปก้าวล่วง พ.ร.ฎ. และขอให้สื่อมวลชนระมัดระวังการพิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ด้วย


 


 



...............


ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึก


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net