Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 25 ก.ค.49      การประชุมของมหาอำนาจทางการค้า 6 ชาติที่นครเจนีวาตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ประสบความล้มเหลว เพราะไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการเปิดเสรีสินค้าเกษตร และการลดการอุดหนุนภายในภาคการเกษตร ทำให้นายปาสกาล ลามี ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เสนอให้เลื่อนการเจรจารอบโดฮาออกไปอย่างไม่มีกำหนด


 



การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นตามการเรียกร้องของนายลามี และแกนนำสมาชิกดับบลิวทีโอ 6 ชาติที่ร่วมประชุมประกอบด้วยสหรัฐฯ สหภาพยุโรป(EU)บราซิล อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยประเทศที่เข้าร่วมต่างก็ออกมาแสดงความผิดหวังต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ แม้ว่าที่ผ่านมา ดับบลิวทีโอพยายามเรียกร้องตลอดมาให้ชาติร่ำรวยลดการอุดหนุนภาคเกษตร โดยเฉพาะสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อลดผลบิดเบือนการค้าที่เกิดจากการอุดหนุนภายใจ และช่วยให้สินค้าจากชาติกำลังพัฒนาแข่งขันได้มากขึ้น


 


นายปีเตอร์ แมนเดลสัน กรรมาธิการด้านการค้าของสหภาพยุโรปกล่าวหาสหรัฐว่า ขัดขวางความพยายามที่จะคงไว้ซึ่งการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาหลังจากสหรัฐปฏิเสธข้อเสนอที่จะให้ตัดลดเงินอุดหนุนด้านการเกษตรภายในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้สหรัฐใช้งบประมาณดังกล่าวประมาณ 20,000 ล้านเหรียญต่อปี


 


ขณะที่นางซูซาน ชว้าบ ผู้แทนการค้าของสหรัฐก็กล่าวหาอียู และประเทศอื่น ว่า ได้ประโยชน์จากข้อเสนอของสหรัฐ ที่จะลดเงินอุดหนุนด้านการเกษตรลง ขณะที่ ประเทศเหล่านี้ ไม่ยอมเปิดตลาดใหม่ให้แก่สหรัฐ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน


 


ด้านนายปาสกาล ลามี เรียกร้องให้ชาติสมาชิกทบทวนจุดยืนเพื่อรื้อฟื้นการเจรจาการค้า และเลิกกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่ทำให้การเจรจาการค้าไม่ประสบ เขาย้ำด้วยว่า การเจรจาจะหาข้อสรุปไม่ได้ในปีนี้แน่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็หมายความว่าข้อตกลงการค้ารอบโดฮาที่เริ่มมาตั้งแต่เมื่อปี 2544 ซึ่งมีเป้าหมายให้ประชาชนหลายล้านคนทั่วโลกให้พ้นจากความยากจนผ่านการลดกำแพงการค้าในทุกภาค จะยิ่งล่าช้าออกไป จากที่ผู้แทนเจรจาการค้าหวังว่าจะตกลงกันได้ในปีนี้ก่อนที่อำนาจพิเศษในการเจรจาการค้าของผู้นำสหรัฐ หรือ ฟาสต์แทรคจะหมดอายุ และนั่นจะยิ่งทำให้ผู้นำสหรัฐประสบความลำบากมากขึ้นในการทำให้สภาคองเกรสอนุมัติข้อตกลงทางการค้า


 


อย่างไรก็ตาม มีรายงานการศึกษาจากองค์การการค้าโลกที่พบว่า รัฐบาลต่างๆ ใช้จ่ายเงินในรูปเงินอุดหนุน โดยเฉพาะเงินช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศเป็นมูลค่ากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2548 ในจำนวนดังกล่าว เป็นการอุดหนุนโดยประเทศพัฒนาแล้ว 21 ชาติ มูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์


         


รายงานระบุว่า มีรัฐบาลไม่กี่ชาติที่แจ้งข้อมูลการใช้จ่ายเงินอย่างครบถ้วน แม้มีข้อผูกมัดกับดับบลิวทีโอเพื่อสร้างความโปร่งใส


         


รายงานของดับบลิวทีโอระบุว่า แม้การอุดหนุนจากภาครัฐบาลอาจช่วยพลิกฟื้นตลาดที่ล้มเหลวและบรรลุเป้าหมายเชิงสังคม แต่ความช่วยเหลือดังกล่าวก็อาจบิดเบือนการค้าและกระตุ้นให้ชาติคู่ค้าเปิดมาตรการตอบโต้


         


"ขณะที่การอุดหนุนบางอย่างเอื้อประโยชน์กับสังคม แต่ก็อาจส่งผลลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้งการอุดหนุนแบบอื่นๆ อาจสร้างความเสียหายได้" นายปาสกัล ลามี ผู้อำนวยการดับบลิวทีโอระบุและว่า หนึ่งในการประเด็นการเจรจาสำคัญของข้อตกลงรอบโดฮา เกี่ยวพันกับการลดการอุดหนุนซึ่งมีผลบิดเบือนการค้า พร้อมไปกับการกระตุ้นให้รัฐบาลต่างๆ ใช้ช่องทางสนับสนุนอื่นเพื่อนำไปสู่การปกป้องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา


         


"ชาติร่ำรวยจำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นและความกล้าหาญทางการเมืองในการตัดสินใจลดการช่วยเหลือภาครัฐบาล" นายลามีระบุ


 


รายงานระบุว่ากฎระเบียบด้านการอุดหนุนภายในของดับบลิวทีโอ มีเป้าหมายที่การสร้างสมดุลระหว่างการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง กับการใช้การช่วยเหลือที่ส่งผลบิดเบือนตลาด


 


"ไม่ว่าการใช้วิธีอุดหนุนเช่นนี้ จะเป็นเรื่องยุติธรรมหากมองในแง่สวัสดิการชาติหรือไม่ ความจริงก็คือหากผลกระทบเชิงการค้าถูกมองว่าส่งผลรุนแรงต่อตลาด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การให้การอุดหนุนดังกล่าวก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นการกระทำที่ไร้ค่า"รายงานระบุ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net