Skip to main content
sharethis

22 มิ.ย. 2549 ส่งท้ายงานสัมนาเรื่องอุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ 7 "ชุมชนถนนปลอดภัย: มอเตอร์ไซค์ปลอดอุบัติเหตุ" ซึ่งมีการสัมมนามาตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยวันนี้เป็นวันสุดท้าย ระบุสถิติ 2 วันที่ผ่านมามีอุบัติเหตุขณะนักเรียนเดินทางไปโรงเรียน 2 กรณี เป็นเหตุให้นักเรียนบาดเจ็บและเสียชีวิหลายราย อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแถลงเรียกร้อง "เส้นทางไปโรงเรียน อย่าให้เปื้อนเลือด"


 


นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและเลขาธิการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวถึงกรณีอุบัติเหตุกับนักเรียน 2 กรณีที่อ.กบินทร์บุรี และที่จังหวัดนครราชสีมาในช่วงวันที่ 20-21 มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการสัมมนาระดับชาติเรื่อง "อุบัติเหตุจราจร" ครั้งที่ 7 โดยมีเด็กนักเรียนเสียชีวิตรวม 7 คน และบาดเจ็บกว่า 40 คนและมีอาการสาหัสอีก 5 คนว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นต้องสร้างความร่วมมือในการป้องกันอุบัติเหตุโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนและชุมชนจะเป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงในการป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดกับนักเรียนได้


 


พร้อมกันนี้ได้ยกตัวสอย่างความร่วมมือระหว่างชุมชนและโรงเรียนในการร่วมมือป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียน 2 กรณีคือ โรงเรียนท่านนครญาณวโรภาส ซึ่งมีโครงการรถรับ-ส่งนักเรียนที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครองและมีการดำเนินงานที่เป็นระบบจนกระทั่งได้รับคัดเลือกเป็น 1 อำเภอ1 โรงเรียนในฝัน


 


อีกกรณีคือที่จังหวัดเชียงรายซึ่งมีอัตราเสียงในการเกิดอุบัติเหตุสูงมากในขณะที่แต่ละวันมีนักเรียนใช้บริการรถโรงเรียนถึงกว่า 8,000-10,000 คน แต่เมื่อมีโครงการวัยและสร้างความร่วมมือจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย สถิติอุบัติเหตุก็ลดลงกระทั่งในปีการศึกษาปัจจุบันยังไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเลย


 


น.พ.วีรพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ กรรมการจัดการสัมมนาระดับชาติเรื่องอุบัติเหตุจราจรครั้งที่ 7 กล่าวว่า อุบัติเหตุแต่ละครั้งมักจะมีจำเลย โดยโทษไปที่ตำรวจบ้าง โทษการออกแบบถนนบ้าง แต่การโทษกันไม่มีประโยชน์ ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน


 


ดร.พิชัย ธีรณานนท์ จากคณะวิวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.)กล่าวว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งนั้นถือเป็นโศกนาฏกรรมที่น่าสลดใจ แต่ขณะนี้ไม่ใช่เวลาของการหาคนผิด แต่เป็นโอกาสที่จะทำให้การขนส่งนักเรียนอย่างปลอดภัยเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย โดยปัจจัยที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของนักเรียนก็คือ รถ และ ถนน


 


โดยดร. พิชัย กล่าวว่ารถที่รับส่งเด็กต้องไม่ใช่รถที่ดัดแปลงเอง เพราะหากเกิดอันตรายขึ้น ราคาที่ต้องจ่ายคือชีวิตเด็ก


 


"เรื่องรถโรงเรียนนั้น ประเทศสหรัฐเขาเริ่มเมื่อปี 1995เขาเห็นความสำคัญมากและผู้ปกครองจะไม่ยอมหากเกิดกรณีรถโรงเรียนเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ และเด็ก ๆถูกบีบอัดอยู่ในรถ จึงเกิดมาตรฐานสหประชาชาติ UNECE 646 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สำคัญมาก ซึ่งเราควรปฏิบัติตาม มิฉะนั้นต้องทำให้เหมือนเขา คือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วรถต้องอยู่มนสภาพเดิม ปกป้องผู้ที่อยู่ภายใน ไม่ใช่นักเรียนถูกบีบหรือกระเด็นออกมา"


 


อีกปัจจัยหนึ่งคือ ถนน ซึ่งดร. พิชัยระบุว่าช่วงที่อันตรายสำหรับนักเรียนก็มี 2 ช่วงคือช่วงโรงเรียนเข้า กับโรงเรียนเลิก ซึ่งเป็นเวลาที่อันตรายที่สุด ทั้งนี้ เราสามารถมีมาตรการเพื่อลดความเร็วเช่น ทำถนนให้แคบลงในช่วงเวลานั้น ความเร็วของรถก็จะลดลงในช่วงนั้น พร้อมกันนี้ ดร.พิชัยได้ยกตัวอย่างกรณีของต่างประเทศว่าในต่างประเทศจะไม่มีถนนใหญ่ตัดผ่านโรงเรียน โรงเรียนจะอยู่ในถนนเล็ก เช่นถนนท้องถิ่น เพราะฉะนั้นความเร็วก็จะลดลงยู่แล้ว


 


"เราสามารถป้องกันการสูญเสียนักเรียนจากอุบัติเหตุได้โดยการมีรถที่แข็งแรงกว่ารถธรรมดา ผมก็อยากฝากตรงนี้ครับ คือเรื่องของความเร็วและเรื่องของมาตรฐานรถที่ดีขึ้นรวมถึงผู้ขับขี่ที่ผ่านการฝึกอบรมที่สูงกว่ามาตรฐานของกรมการขนส่งทางบกด้วย" ดร.อนุชากล่าวทิ้งท้าย


 


ทั้งนี้ นายอนุชา กล่าวรับรองว่าว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะนำประเด็นการป้องกันนักเรียนจากอุบัติเหตุไปปรึกษารายละเอียดและประสานความร่วมมือเพื่อให้เกิดมาตรการที่เป็นรูปธรรมต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net