Skip to main content
sharethis


 


 


ภาคใต้ - "เลขาธิการสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้" เผยทะเลไทยโทรมหนัก ดันเพิ่มพื้นที่ประมงชายฝั่งจาก 3,000 เมตร เป็น 3 ไมล์ทะเล เพื่อเพิ่มพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำ ยันรัฐต้องกำจัดเครื่องมือประมงทำลายสูง แนะเลิกซีฟู้ดแบงค์ ชี้ทำชาวบ้านเดือนร้อนหนัก  


 


เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 17 มิถุนายน 2549 ที่ห้องประชุม E 105 คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) และสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "ข้อเสนอสู่การปฏิรูปการเมืองของชาวประมงพื้นบ้าน 2549" มีเครือข่ายชุมชนชาวประมงพื้นบ้านในภาคใต้ เข้าร่วม 90 คน


 


นายสะมะแอ เจะมูดอ เลขาธิการสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ อภิปรายเรื่องเรียนรู้ประเทศไทย : พัฒนาการการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การเมืองภาคประชาชนกับการปฏิรูปการเมืองว่า ในการออกกฎหมายหรือนโยบายในการพัฒนาประเทศ ควรจะต้องให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในการร่างหรือกำหนดด้วย กฎหมายหรือนโยบายจึงจะได้รับการยอมรับจากประชาชน เห็นได้จากการร่างพระราชบัญญัติประมงฉบับใหม่ แทนพระราชบัญญัติการประมงแห่งชาติ พ.ศ.2491 ที่ล้าสมัย ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เลือกเอาร่างฯ ของกรมประมง เสนอคณะรัฐมนตรี ทั้งที่ร่างฯ ดังกล่าว มีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประมงพื้นบ้าน ขาดการมีส่วนร่วมมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง


 


นายสะมะแอ เปิดเผยต่อว่า ต่อมาทางสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้นำร่างฯ ฉบับดังกล่าวพิจารณา และแก้ไขปรับปรุงโดยการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ทั้งประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ และผู้ประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำ เป็นต้น จากนั้น ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี แต่คณะรัฐมนตรีก็ยังคงยึดร่างฯ ของกรมประมงเป็นหลัก


 


นายสะมะแอ เปิดเผยหลังการอภิปรายว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำร่างฯ ของกรมประมง เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2548 แต่คณะรัฐมนตรีมีมติให้กลับไปแก้ไข โดยให้เหตุผลว่าเนื้อหาไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการที่ดี มีบทบัญญัติบางมาตราซ้ำซ้อนกับกฎหมายฉบับอื่น การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี อธิบดี และคณะกรรมการต่างๆ ยังไม่ชัดเจน เป็นต้น


 


นายสะมะแอ เปิดเผยต่อไปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงตั้งคณะกรรมการพัฒนาร่างพระราชบัญญัติการประมง ของกรมประมงขึ้นมา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2548 แต่ได้รับการท้วงติงว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้ยังไม่ครอบคลุม ขาดตัวแทนประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ และประมงนอกน่านน้ำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีคำสั่งแต่งตั้งตัวแทนจากทั้ง 3 กลุ่ม เป็นกรรมการเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 โดยมีตนเป็นกรรมการฯ ในฐานะตัวแทนประมงพื้นบ้าน


 


นายสะมะแอ เปิดเผยอีกว่า คณะกรรมการชุดนี้ ประชุมกันเมื่อวันที่ 1 - 3 มิถุนายน 2549 ที่กระทวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบให้แก้ไขปรับประปรุงร่างฯ ดังกล่าว จากนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2549 เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง


 


นายสะมะแอ เปิดเผยด้วยว่า ในส่วนของประมงพื้นบ้านได้เสนอให้แก้ไขใน 3 ประเด็น ได้แก่ ให้กำหนดเขตประมงชายฝั่งจาก 3,000 เมตร เป็น 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง ให้ตั้งคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการประมงแห่งชาติ จากเดิมที่อธิบดีกรมประมงเป็นคนสรรหา และให้คณะกรรมการประมงแห่งชาติ มีองค์ประกอบครอบคลุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประเด็นสุดท้าย ให้มีคณะกรรมการประมงระดับจังหวัดหรือท้องถิ่น ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการทำประมงชายฝั่ง รวมทั้งป้องกันการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายและทำลายล้างสูงด้วย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบทั้งหมด


 


"สำหรับข้อเสนอให้เพิ่มพื้นที่ประมงชายฝั่งนั้น ตัวแทนประมงนอกน่านน้ำเห็นว่า ไม่ควรกำหนดไว้ในกฎหมาย แต่น่าจะให้อำนาจกับคณะกรรมการระดับจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นผู้กำหนดเอง แต่ผมไม่เป็นด้วย เพราะถ้าจังหวัดใดที่กลุ่มประมงพื้นบ้านไม่เข้มแข็ง ก็ไม่สามารถป้องกันการลับลอบใช้เครื่องมือประมงทำลายล้างสูงในเขตประมงพื้นบ้านได้" นายสะมะแอ กล่าว


 


นายสะมะแอ เปิดเผยด้วยว่า เหตุผลที่เสนอให้เพิ่มพื้นที่ประมงชายฝั่งเป็น 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งนั้น เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยส่วนใหญ่ จะกำหนดพื้นที่เขตประมงพื้นบ้านไกลถึง 10 - 15 ไมล์ทะเล ขณะที่ทรัพยากรทางทะเลของไทยทรุดโทรมมาก จึงต้องเพิ่มพื้นที่ประมงชายฝั่ง เพื่อมให้มีพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำมากขึ้น เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของไทยfh;p


 


นายสะมะแอ กล่าวว่า ส่วนเรื่องปฏิรูปการเมืองนั้น ทางสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ จะสนับสนุนให้มีการปฏิรูปเรื่องที่ดินทำกิน และเรื่องป่าไม้ด้วย ส่วนนโยบายธนาคารทางทะเล หรือซีฟู้ดแบงค์ ที่จะออกโฉนดทะเลบริเวณชายฝั่ง จะต้องยกเลิก เนื่องจากมีผลกระทบต่อชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวประมงที่ไม่มีเรือ หรือมีเรือประมงที่ไม่มีเครื่องยนต์ เพราะถ้ามีการออกโฉนดทะเล คนกลุ่มนี้จะไม่สามารถออกทะเลไปทำประมงได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net