Skip to main content
sharethis

วันอังคารที่ 18 เมษายน 2006 15:45น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


กอส.แปล "สรุปรายงานกอส.ฯ " อีก 3 ภาษา "อังกฤษ - มลายู - อาหรับ" เร่งให้เสร็จภายใน 4 สัปดาห์หวังเปิดช่องสื่อสารกับทุกชาติ ยกเป็นแนวทางสันติวิธีที่ได้ผล พร้อมเตรียมจัดงาน "เสียงจากชายแดนใต้" 22-23 เม.ย.นี้ ที่สวนสันติชัยปราการ กรุงเทพฯ รณรงค์สันติวิธีให้คนเมืองหลวง


 


นายโคทม อารียา กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้ ทาง กอส. อยู่ระหว่างแปลรายงานสรุปผลการดำเนินงานของกอส. "เอาชนะความรุนแรงด้วยความสมานฉันท์" ฉบับสมบูรณ์เป็นภาษาต่างประเทศอีก 3 ภาษา คือภาษาอาหรับ ภาษามลายู และภาษาอังกฤษ


 


ทั้งนี้รายงานฉบับดังกล่าว ถือเป็นบทสรุปหลังจาก กอส.ได้ทำงานเพื่อความสมานฉันท์ต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเป็นระยะเวลา 1 ปี


 


 "ภาษาอังกฤษนั้น ให้กระทรวงการต่างประเทศรับไปดำเนินการ ส่วนภาษามลายูและอาหรับ มอบหมายให้ ผศ. ดร.วรวิทย์ บารู ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รับไปดำเนินการ คาดว่า อีก 4 สัปดาห์น่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งการที่เราแปลเป็น 3 ภาษานอกเหนือไปจากภาษาไทย เพราะเราเห็นว่า การสื่อสารนั้นสำคัญ ใช้ภาษาอังกฤษเพราะเราต้องการสื่อสารกับทั้งโลก ภาษามลายูสำหรับประเทศที่ใช้ภาษามลายู หรือ ภาษามาเลย์ ส่วนภาษาอาหรับสำหรับโลกมุสลิม เราต้องการสื่อสารให้เขาเห็นว่า วิธีการของเราเป็นอย่างนี้นะ เป็นวิธีที่ได้ผล"


 


กรรมการ กอส.ระบุว่า ส่วนในสังคมไทยนั้น กอส.มีแนวคิดที่จะนำแนวทางเช่นนี้ไปเผยแพร่ต่อในวงกว้าง โดยการดำเนินงานจะเน้นให้มีการพูดคุยเกี่ยวกับข้อเสนอของ กอส. โดยอาจหยิบยกบางประเด็นมาร่วมกันพูดคุยเพื่อเป็นแนวทางสันติวิธี ภายใต้แนวคิดสันติเสวนา หรือ สานเสวนา ซึ่งถือเป็นการคิดใหม่ทำใหม่ เช่น กองทัพไม่จำเป็นต้องมีอาวุธเพื่อการเข่นฆ่าเพียงอย่างเดียว


 


"แต่ก็มีศาสนาจารย์เป็นจำนวนมาก คล้ายกับการเปลี่ยนภาพลักษณ์ไปเลยว่า กองทัพไม่ใช้อาวุธในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่จะนำสันติวิธีออกไปใช้แก้ไข" ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว


 


นายโคทม กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม เครือ ข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ เตรียมจัดงาน"เสียงจากชายแดนใต้" โดยกิจกรรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนสนับสนุนการใช้สันติวิธีและยับยั้งความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันเสาร์ที่ 22-อาทิตย์ที่ 23 เมษายน 2549 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ณ สวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ


 


"ทั้งนี้ ภายในงานจะมีกิจกรรมเดินรณรงค์ให้ประชาชนสนับสนุนการใช้สันติวิธียับยั้งความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้เส้นทางจากบางลำพู (วัดบวรฯ) ถนนข้าวสาร-ถนนพระอาทิตย์-สวนสันติชัยปราการ ภายในงานมีเวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากชุมชนชายแดนภาคใต้และส่วนกลาง อาทิ ระบำรองเง็ง อันาชีด ปัญจสีลัต มโนรา ดิเกร์ฮูลู นิทรรศการวิการ ซุ้มผลิต ภัณฑ์กลุ่มสตรีภาคใต้ กิจกรรมศิลปะเด็ก การเสวนาต่างๆ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของผู้หญิงผู้สูญ เสียสมาชิกในครอบครัวจากเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ และยังมีการการระดมทุนให้กับกลุ่มสตรีผู้สูญเสียอีกด้วย" นายโคทมกล่าว


 


กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติกล่าวอีกว่า ในงานมีการประมูลของรักของหวงของบุคคลต่างๆ อาทิ นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมาน นท์แห่งชาติ (กอส.) ที่ได้มอบปากกายี่ห้อ ceramic ที่ใช้เป็นประจำเข้าร่วมประมูล หรือรองเท้าแตะของพระไพศาล วิสาโล จากวัดป่าสุคโต จ.ชัยภูมิ


 


 


รายละเอียดของงาน "เสียงจากชายแดนใต้"     


 


เสาร์ที่ 22 เมษายน 2549 


 14.00 น.               เปิดร้านและนิทรรศการ


 14.30 - 16.00 น.   การแสดงบนเวทีและพิธีเปิด


 16.00 - 18.00 น.   เสวนา "สตรี เด็ก เสียงเล็กๆ จากแดนใต้"


 18.00 - 19.00 น.   พักชมนิทรรศการและร้านค้า


 19.00 - 19.40 น.   การแสดงปัญจสีลัต และอันนาชีด


 19.40 - 20.30 น.   การแสดงบนเวที  


 


อาทิตย์ที่ 23 เมษายน 2549  


15.30 - 16.00 น.   ดนตรีนาเซปและรำรองเง็ง  จากบ้านปากลัด พระประแดง สมุทรปราการ


16.00 - 18.00 น.   เสวนา "สมานฉันท์พุทธ-มุสลิม...วันวาน วันนี้ และวันพรุ่ง"


18.00 - 19.00 น.   พักชมนิทรรศการและร้านค้า


19.00 - 19.30 น.   การแสดงหุ่นสายชุด "สันติประชาธรรม"


19.30 - 20.00 น.   ปาฐกถา  "การสร้างความสมานฉันท์เป็นหน้าที่ของใคร" 


   โดยนายโคทม อารียา กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ


20.00 - 21.00 น.   ดิเกฮูลู  คณะแหลมทราย (อยู่ระหว่างการติดต่อประสานงาน)


 


คุณสามารถมีส่วนร่วมในงานครั้งนี้ได้โดย


1. เชิญชวนสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนๆ ของท่านมาร่วมในงาน เพื่อเรียนรู้เรื่องราววิถีชีวิตและวัฒนธรรมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันจะช่วยสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างคนในสังคม รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้เรื่องการรับรู้ข้อเท็จจริงทางตรงด้วยตนเอง 


 


2.ร่วมออกร้านจำหน่ายสินค้า อาหาร และเครื่องดื่มให้บริการกับผู้ร่วมงาน นำรายได้สมทบทุนทำกิจกรรมของครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ 


 


3.ร่วมบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ของท่านที่ไม่ได้ใช้แล้วและยังคงอยู่ในสภาพดี เพื่อออก จำหน่ายด้วยตัวของท่านเองหรือบริจาคให้กับร้านกองกลาง นำรายได้สมทบทุนทำกิจกรรมของครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ  


 


4.สมัครเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยงานในหน้าที่ต่างๆ เช่น ดูแลร้านค้าการกุศล ร้านสอยดาว ซุ้มกิจกรรมเด็ก งานด้านเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ฯลฯ  


 


5.ร่วมบริจาคทรัพย์เพื่อเป็นทุนทำกิจกรรมของครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ  หากสงสัยสามารถติดต่อสอบถามที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีมหาวิทยาลัยมหิดล  โทรศัพท์ 02-849-6366-8  โทรสาร 02-849-6365 อีเมลล์  peace@mahidol.ac.th เว็บไซต์ www.peace.mahidol.ac.th


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net