Skip to main content
sharethis


 


นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ พยาน





นายเสงี่ยม บุญจันทร์ และนายขวัญชัย โชติพันธ์ รับหน้าที่ผู้พิพากษาศาลจำลอง


 


 


 


นายสุวัตร อภัยศักดิ์ พยาน


 


 


 


 


บรรยากาศผู้ฟังศาลจำลอง





 


ประชาไท—7  มี.ค. 2549 ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดศาลจำลองครั้งที่ 2 คนฟังยังเนืองแน่น พยานเบิกความ สัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างพานทองแท้และพิณทองทากับ บริษัทเทมาเสก เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ถือเป็นโมฆะ มาตรา 150 ประมวลกฎหมายและพาณิชย์ ศาลชี้คดีมีมูล


 


ภายหลังการไต่สวนมูลฟ้องคดี "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผิดอะไรในกรณีขายหุ้นชินคอร์ป" ครั้งที่ 1 จบลงอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางผู้ฟังแน่นหอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วานนี้ (6 มี.ค.) ศาลจำลองได้ดำเนินการไต่สวนนัดที่ 2 พร้อมพิจารณามูลฟ้อง โดยมีการไต่สวนพยานอีก 2 ปาก คือนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนายสุวัตร อภัยศักดิ์ อาชีพทนายความได้ขึ้นเป็นพยานปากสุดท้ายของคดี


 


โดยผู้ทำหน้าที่ผู้พิพากษาในวันนี้ได้แก่นายเสงี่ยม บุญจันทร์ รองเลขาธิการสภาทนายความ และนายขวัญชัย โชติพันธุ์ รองประธานกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ มีนายดนัย อนันติโย อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ สภาทนายความ ทำหน้าที่ทนายโจทก์เช่นเคย สำหรับผู้ฟังการไต่สวนนัดที่ 2 ยังคงมีจำนวนเต็มหอประชุมศรีบูรพา


  


นายเรืองไกรซึ่งเป็นพยานปากแรกนั้น เป็นบุคคลที่กล่าวอ้างขึ้นมาเทียบเคียงกับกรณีที่บุตรชายและบุตรสาวของนายกฯ ขายหุ้นให้กับ บ.เทมาเสกโดยไม่เสียภาษี แม้จะได้กำไรจากส่วนต่างของราคา ซึ่งกรณีของนายเรืองไกรนั้นเป็นการซื้อหุ้นนอกตลาดในราคาพาร์จากบิดาและมารดา โดยนายเรืองไกรถูกกรมสรรพากรประเมินภาษี ส่วนต่างของราคาหุ้น พร้อมทั้งเรียกเก็บเบี้ยปรับเงินด้วย ซึ่งนายเรืองไกรได้อุทธรณ์ขอให้ยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่ม แต่กรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ได้คำนวณถูกต้องแล้ว จากนั้นเมื่อกรณีของนายเรืองไกรถูกนำมาเปรียบเทียบกับกรณีของบุตรชายและบุตรสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ กรมสรรพากรกลับทำหนังสือแจ้งต่อนายเรืองไกรว่ากรณีของนายเรืองไกรก็ไม่ต้องเสียภาษีโดยอ้างว่าที่ผ่านมาเป็นความผิดพลาดของระบบคอมพิวเตอร์ ขอให้มารับเงินคืน


    


นายเรืองไกรให้การต่อศาลว่า หลังจากนั้นกรมสรรหากรก็มีหนังสือแจ้งมาอีกโดยหนังสือฉบับหลังอ้างอิงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.453 ระบุว่า การซื้อหุ้นระหว่างนายเรืองไกรกับบิดาและมารดานั้นเป็นการตกลงซื้อขายกันเอง ไม่ต้องเสียภาษี กรมสรรพากร พร้อมกับส่งเช็คเงินคืนภาษีมาให้ด้วย


 


อย่างไรก็ตาม นายเรืองไกรกล่าวต่อศาลว่า ยังไม่กล้าเอาเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงิน เพราะกลัวจะถูกประเมินย้อนหลัง เนื่องจากกรมสรรพากรไม่ได้วินิจฉัยไปตามประมวลรัษฎากร นอกจากนี้ยังถือว่า คำวินิจฉัยของกรมสรรพากร ละเมิดหน้าที่พลเมืองดีในการเสียภาษี อีกทั้งตั้งใจจะเก็บเช็คฉบับดังกล่าวเอาไว้ให้ลูกหลานได้ดูเนื่องจากเป็นเช็คฉบับประวัติศาสตร์


     


นายเรืองไกรย้ำว่า การซื้อหุ้นต่ำกว่าราคาพาร์ ถือเป็นรายได้ต้องเสียภาษี เช่นเดียวกับการซื้อหุ้นของพนักงาน กฟผ. ดังนั้นนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา จะต้องเสียภาษีจากการซื้อหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ โดยคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายจากส่วนต่าง ราคาที่ได้รับโอนมาจากแอมเพิลริชในราคา 1 บาท ขายให้เทมาเสก 49 บาท คูณด้วยจำนวนหุ้น 329.2 ล้านหุ้น บุตรทั้งสองคนของพ.ต.ท.ทักษิณจะต้องเสียภาษี 5,800 ล้านบาท


 


สำหรับกรมสรรพากรนั้น หากละเลยที่จะเก็บภาษีบุคคลทั้ง 2 จะต้องเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ


 


ด้านนายสุวัตร อภัยศักดิ์ ทนายความซึ่งขึ้นมาเป็นพยานปากสุดท้ายของคดีนี้เสนอต่อศาลว่า สัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างบ.เทมาเสก กับบุตรทั้ง 2 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น เป็นโมฆะ เนื่องจากขัดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ซึ่งบัญญัติว่าการใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดย กฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ


 


โดยนายสุวัตรอ้างตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ซึ่งเพิ่งประกาศใช้ก่อนวันซื้อขายหุ้นของครอบครัวชินวัตร 3 วัน ว่าแม้จะแก้กฎหมายดังกล่าวเพื่อให้ต่างชาติถือหุ้นกิจการโทรคมนาคมได้ 49 เปอร์เซ็นต์ แต่นิติกรรมซื้อขายหุ้นระหว่างบุตรของ พ.ต.ท.ทักษิณ กับ บ.เทมาเสกก็ต้องถือเป็นโมฆะ เพราะการซื้อขายดังกล่าวส่งผลให้มีต่างชาติถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมซึ่งก็คือ ดาวเทียมไทยคม และบริษัท เอไอเอส เกิน 49 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากแต่เดิมนั้น บ.ชินคอร์ปซึ่งเป็นเจ้าของกิจการดาวเทียมไทยคมและเอไอเอสมีทุนต่างชาติถือหุ้นอยู่แล้ว การขายหุ้นไปอีก 49 เปอร์เซ็นต์พอดี จึงทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นที่เป็นต่างชาติที่เกินที่กฎหมายกำหนด


 


ผลของนิติกรรมที่เป็นโมฆะก็คือ คู่กรณีต้องกลับสู่สถานะเดิม โดยครอบครัวชินวัตรต้องคืนเงินให้ บ.เทมาเสก


 


นายสุวัตรฟ้องต่อศาลต่อไปด้วยว่า การออกพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมนั้น เมื่อพิจารณาจากมาตรา 80/1 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว http://www.kodmhai.com/Newlaw/Dload/2549/a4.pdf


ก็จะเห็นนัยยะที่ซ่อนไว้ว่า หลังจากขายหุ้นชินคอร์ปได้ถึง 73,000 ล้านบาทแล้ว ก็คงจะใช้เงินดังกล่าวมาทุบหุ้นของการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือองค์การโทรศัพท์ ทำให้หุ้นมีราคาถูก แล้วช้อนซื้อเพื่อขายต่อ


     


นอกจากนี้ นายสุวัตรกล่าวถึงกรณีการบินของไทยแอร์เอเชีย หลังจากที่หุ้นชินคอร์ปฯ ถูกขายไป 49 เปอร์เซ็นต์ว่า การขายหุ้นไปเช่นนั้น ส่งผลให้ไทยแอร์เอเชียเป็นของต่างชาติทันที ซึ่งผิดกฎหมาย ม.31 พ.ร.บ.เดินอากาศ ที่กำหนดให้ผู้จดทะเบียนต้องมีสัญชาติไทย ดังนั้น การบินไฟลต์แรกของไทยแอร์เอเชียก็ผิดกฎหมายทันที ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว อธิบดีกรมการบินพาณิชย์ซึ่งเพิกเฉยไม่ดำเนินการ ต้องติดคุก เพราะมีความผิดฐานให้การสนับสนุน รับโทษ 2ใน 3 ของผู้บริหารแอร์เอเชีย และยังมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ  รวมถึง รมว.คมนาคมด้วย


 


ทั้งนี้ นายดนัย ทนายโจทก์ได้ซักถามประเด็นเพิ่มเติมว่าการพิจารณาพรบ.กิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 นั้นเป็นการพิจารณาโดยไม่ครบองค์ประชุมทั้งในชั้นสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยในชั้นสภาผู้แทนราษฎรนั้นผ่าน 226 เสียง ไม่ครบ 250 เสียงไม่ครบกึ่งหนึ่งขององค์ประชุม ส.ส. ที่มีจำนวน 500 คน และในวุฒิสภามีการลงคะแนนเห็นด้วยเพียง 45 เสียง ซึ่งองค์ประชุม ส.ว. คือ 200 การลงมติผ่านกฎหมายต้องใช้ 100 เสียง ซึ่งต้องถือว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นโมฆะ


 


นายสุวิตรรับในข้อเท็จจริงแต่ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเนื่องจากประเด็นข้อกฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังละเลย


 


ภายหลังการไต่สวน ศาลเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้เข้าฟังการไต่สวนได้สอบถามโดยมีประชาชนส่งจดหมายเรียกร้องให้ศาลจำลองไปเปิดศาลไต่สวนที่เวทีพันธมิตรฯ แต่ผู้รับบทบาทผู้พิพากษาได้ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า ศาลจำลองเปิดเวทีขึ้นมาเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเท่านั้น การไปเปิดศาลไต่สวนบนเวทีพันธมิตรซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนคงไม่เหมาะสมเพราะจะขาดความเป็นกลาง


 


นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้ศาลจำลองเปิดการไต่สวนคดีที่ค้างคาใจสาธรณชนได้แก่ คดี ทุจริตกล้ายาง คดีทุจริตลำไย คดีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด CTX คดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เป็นต้น


 


ภายหลังการแสดงความเห็นจากผู้เข้าฟังการไต่สวนของศาลจำลอง ผู้พิพากษาได้พิจารณาว่า จากการไต่สวนศาลเห็นว่าคดีมีมูล ซึ่งต้องเข้าสู่การพิจารณาคดีไปตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป


 


สำหรับคดีต่อไปที่ศาลจำลองแห่งนี้จะหยิบยกขึ้นไต่สวนมูลฟ้องได้แก่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้อำนาจโดยมิชอบเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้องจริงหรือ" ซึ่งจะจัดการไต่สวนขึ้นที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มธ. เวลา 13.30 น.เป็นต้นไปโดย น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว.อุบลราชธานี เป็นโจทก์ มี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รศ.ดร.ชัยยันต์ ตันติวัสดาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. และดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันสหสวรรษ เป็นพยาน


 


 


------------------------------------------------------------------------------------------------------------


 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ศาลจำลองพิจารณานัดแรก ประชาชนพิพากษา ทักษิณ ออกไป


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=2850&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net