Skip to main content
sharethis


วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2006 16:47น.


ณรรธราวุธ เมืองสุข : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ข่าวช็อกวงการวรรณกรรมไทย รวมทั้งนักอ่านเรื่องสั้นทั่วประเทศครั้งใหญ่ที่สุดในต้นปี 2549 คือข่าวการเสียชีวิตของ "กนกพงศ์ สงสมพันธุ์" นักเขียนรางวัลซีไรท์ปี 2539 จากรวมเรื่องสั้นชุด "แผ่นดินอื่น"


 


กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ไม่ใช่นักเขียนที่รูปลักษณ์ทั้งภายในและภายนอกเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปนัก แม้แต่แฟนหนังสือผู้ยกย่องเทิดทูนเขาอย่างเหนียวแน่น เพราะกนกพงศ์ไม่ใช่นักเขียนผู้เปิดตัวเองเพื่อหวังผลทางยอดขายหนังสือ กลับใช้งานเขียนเป็นเครื่องสะท้อนตัวตนของเขา แต่กระนั้น หากใครได้ใกล้ชิดกับมือเรื่องสั้นชั้นเอกคนนี้ จะพบว่า ภายใต้บุคลิกนิ่งเงียบ พูดน้อย กลับซ่อนตัวตนอันแสนน่าอบอุ่นและมองโลกในแง่ดีเสมอ


 


กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เกิด 9 ก.พ. 2509 ที่อำเภอควนขนุน จ.พัทลุง จบชั้นประถมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนวัดพิกุลทอง มัธยมศึกษาจากโรงเรียนพัทลุง ที่อำเภอบ้านเกิด จากนั้น สอบเข้าคณะวิทยาการจัดการ สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรียนได้พักหนึ่งก็หยุด เพราะรู้สึกสับสนว่าไม่ใช่สิ่งที่อยากเรียน


 


วันหนึ่งจึงเริ่มเขียนหนังสือ แล้วก็เขียนเยอะขึ้นนับแต่นั้น ก่อนจะไปทำงานที่สำนักพิมพ์ และหันไปใช้ชีวิตคลุกคลี กับชาวบ้านแถบเทือกเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมกับทุ่มเทให้งานเขียนเต็มตัว กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต


 


ผลงานด้านกวีบทแรก "ความจริงที่เป็นไป" ตีพิมพ์ใน"สยามใหม่" ขณะเรียนชั้นมัธยมต้น พ.ศ.2523 ขณะเรียนชั้นมัธยมปลาย พ.ศ.2527 เป็นสมาชิกยุคก่อตั้งของ "กลุ่มนาคร" กลุ่มทำงานด้านศิลปะวรรณกรรมอันสำคัญของภาคใต้


 


สำหรับผลงานเรื่องสั้นเรื่องแรกได้แก่ "ดุจตะวันอันเจิดจ้า" ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อปี 2527 จากนั้นมีเรื่องสั้นตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารสม่ำเสมอในฐานะนักเขียนที่มาแรงที่สุดในยุคนั้น


 


ปี 2531 มีผลงานร่วมเล่มลำดับแรก เป็นรวมบทกวี "ป่าน้ำค้าง" สำนักพิมพ์นาคร จากนั้นในปี 2532 ออกหนังสือรวมเรื่องสั้นชุดแรกเรื่อง "สะพานขาด" สำนักพิมพ์นกสีเหลือง ได้รับรางวัลเรื่องสั้นช่อการะเกด และคัดเลือกแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2533 เรื่องสั้น "โลกใบเล็กของซัลมาน" ได้รับรางวัลเรื่องสั้นช่อการะเกดอีกครั้งในปี 2539นับเป็นนักเขียนช่อการะเกดคนแรกที่ได้รับการประดับช่อสองครั้ง ตามด้วยผลงานชุดที่สอง "คนใบเลี้ยงเดี่ยว" รวมเรื่องสั้นสำนักพิมพ์นกสีเหลือง ปี 2535


 


กระทั่งรวมเรื่องสั้นชุดที่ 3 "แผ่นดินอื่น" ของสำนักพิมพ์นาคร คว้ารางวัลซีไรท์ในปี 2539 ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ซีไรท์ ที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะ "แผ่นดินอื่น" คือรวมเรื่องสั้นที่รวมเอาแนวคิดของกนกพงศ์ที่ต่อปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้ โดยเฉพาะ เรื่อง "แมวแห่งบูเก๊ะกรือซอ"


 


"แมวแห่งบูเก๊ะกรือซอ" เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งกับหน่วยทหารที่เข้าไปให้ความคุ้มครอง และเกิดเหตุการณ์ทำให้เกิดความสูญเสีย ท้ายที่สุดหน่วยทหารนี้ก็ต้องออกจากหมู่บ้านไป


 


อาจารย์ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือ "ไพฑูรย์ ธัญญา" อดีตนักเขียนซีไรท์ ชุด "ก่อกองทราย" ปี 2530 เพื่อนร่วมชายคา "กลุ่มนาคร" กล่าวชื่นชมเพื่อนนักเขียนคนนี้ว่า เป็นนักเขียนเรื่องสั้นที่ฝีมือดีที่สุดคนหนึ่งของวงการ


 


"งานของกนกพงศ์ทุกชิ้น เขียนด้วยใจทุ่มเทจริงๆ ในชุดแผ่นดินอื่นนั้น คือรวมเรื่องสั้นเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งใน 3 จังหวัดภาคใต้ของเราที่สะท้อนผ่านแนวคิดของกนกพงศ์จริงๆ เขาสัมผัสมาอย่างนั้น เขารู้สึกอย่างนั้น เขาก็เลยเขียน และทำได้ดีมาก จะว่าไปปัญหาเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นนั้น กนกพงศ์คือคนที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งทีเดียว เพียงแต่ไม่มีใครฟังเขาอย่างจริงจัง"


 


อดีตนักเขียนซีไรท์ผู้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในจังหวัดพัทลุงเช่นเดียวกับกนกพงศ์กล่าวต่อไปว่า กนกพงศ์เป็นนักเขียนเรื่องสั้น ที่มีกลวิธีการนำเสนอที่เป็นเอกลักษณ์ เขาเป็นนักเขียนแบบเรียลลิสติกเพียงไม่กี่คนในประเทศ การเสียชีวิตของเขา หมายถึงนักเขียนประเภทนี้ขาดหายลงไปหนึ่งคน


 


"เขาเน้นแนวคิดและเนื้อหา แต่ไม่ยึดติดกับรูปแบบอะไร อย่างเรื่อง "แมวแห่งบูเก๊ะกรือซอ" ในชุดรวมเรื่องสั้นชุดแผ่นดินอื่น ไม่ใช่เรื่องที่มีรูปแบบการนำเสนอที่ชวนติดตาม แต่กนกพงศ์สามารถสะท้อนแนวคิด เรื่องของความหลากหลายของวิถีชีวิตได้อย่างลุ่มลึก โดยเฉพาะ บริบทของคำว่า "ความเข้าใจในรากเหง้า" อาจารย์ธัญญากล่าว


 


อดีตเพื่อนร่วมชายคา "กลุ่มนาคร" ผู้นี้เปิดใจว่า การเสียชีวิตของกนกพงศ์ สงสมพันธ์ นับเป็นการสูญเสียนักเขียนผู้ใส่ใจต่อปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก โดยเฉพาะงานเขียนที่สะท้อนผ่านเรื่องสั้นวรรณกรรม ที่ไม่ใช่งานวิชาการประเภทเข้าใจยาก จึงนับเป็นข่าวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของวงการวรรณกรรมไทย ตนในฐานะเพื่อนสนิทคนหนึ่งรู้สึกเสียใจมาก ไม่คาดคิดว่าเขาจะด่วนจากไปเร็วขนาดนี้


 


ในช่วง 10 ปีหลังสุด กนกพงศ์เดินทางมาใช้ชีวิตอยู่กับงานเขียนที่ "หุบเขาฝนโปรยไพร" อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เขาหายเงียบไปจากหน้าหนังสือสังคมนักเขียนอยู่พักใหญ่ ก่อนจะมีรวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดออกมา คือ "โลกหมุนรอบตัวเอง" และกำลังจะมีการรวมเล่มเรื่องสั้นชุดต่อไปในไม่ช้า แต่ด้วยความเป็นคนไม่แข็งแรง และใช้ชีวิตการทำงานชนิดที่เพื่อนรักอย่างไพฑูรย์ ธัญญาเรียกว่า "เผาตัวเอง" ทำให้มีอาการไข้หวัดใหญ่เล่นงาน ก่อนจะเข้าไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนคินทร์ อ.เมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นไข้หวัดใหญ่ และเสียชีวิตด้วยอาการน้ำท่วมปอดเมื่อเช้าวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2549 นำศพไปบำเพ็ญกุศลที่วัดพิกุลทอง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุงบ้านเกิด


 


นับเป็นข่าวร้าย ที่ไม่ใช่เฉพาะวงการวรรณกรรมไทยเท่านั้นที่สูญเสียนักเขียนผู้นี้ แต่ประเทศไทยกลับสูญเสียนักเขียนผู้ใส่ใจต่อปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คนสำคัญไปอีกคนหนึ่ง ในความสูญเสียที่มองเห็น รูปเงาที่เคยสะท้อนผ่านหุบเขาฝนโปรยไพร น่าจะกลายเป็นแบบเรียนที่สำคัญสำหรับผู้สนใจ


 


หุบเขาฝนโปรยไพร ...ที่ซึ่งจิตวิญาณของเขาจะสถิตย์อยู่ชั่วนิจนิรันดร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net