Skip to main content
sharethis

โดย สันติวิธี พรหมบุตร, รอซีดะห์ ปูซู, สมศักดิ์ หุ่นงาม


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


thumb_img_8539.jpg


          ภาพชินตาในวันเด็กแห่งชาติของครอบครัวทั่วไป หรือในพื้นที่อื่นๆ เราจะเห็น พ่อ แม่ ลูก ซึ่งอาจรวมไปถึงน้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย โอบอุ้ม จูงมือเด็กๆ ไปเที่ยวหรือร่วมกิจกรรมซึ่งขึ้นมากมายตามที่ต่างๆ


          แต่สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเด็กๆ อีกนับพันคน ซึ่งพวกเขาไม่อาจมีภาพประทับใจเช่นนี้อีกต่อไป เพราะสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นได้พรากผู้อันเป็นที่รัก และเสาหลักแห่งชีวิตของพวกเขาไป ชะตากรรมร่วมของพวกเขานี้เกิดขึ้นโดยไม่แบ่งแยกชาติพันธ์ หรือศาสนา


thumb_dscf19681.jpg         สามพี่น้องตระกูลชูมณี ดำเนินชีวิตกันตามลำพังเป็นเวลานานกว่าสามเดือนแล้ว หลังจากพ่อและแม่ของเด็กทั้งสาม ถูกคนร้ายสังหารโหดเสียชีวิตทั้งคู่ ปล่อยให้ลูกๆ ที่ยังอยู่ในวัยเรียน เผชิญโลกกันตามลำพัง 


          ก่อนเที่ยงวันที่ 8 ตุลาคม 2548  ทนงศักดิ์ ชูมณี วัย 48  ปี และสุพาภรณ์ ชูมณี วัย 46 ปี พ่อและแม่ของเด็กทั้งสามคน เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์กลับจากขายผักในตลาดสดยะลา เพื่อมุ่งหน้ากลับบ้านพักที่บ้านเกาะหวาย ตำบลวัด อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี


        อีกเพียงครึ่งทางก่อนถึงบ้าน พวกเขาถูกคนร้ายที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าโกรธเคืองกันเรื่องใด ใช้อาวุธปืนกระหน่ำยิงอย่างทารุณกว่า  9 นัด สองชีวิตปลิดปลิวไป


         "ปกติพ่อกับแม่จะกลับมาถึงบ้านก่อนเที่ยง แต่วันนั้น ช้าผิดปกติ จนเมื่อมีคนมาบอกว่าพ่อกับแม่ถูกยิง ก็ตกใจร้องให้เลย" แน็ค หรือศุภมาส ชูมณี บุตรสาวคนกลางวัย 15  ปีของผู้เคราะห์ร้ายทั้งสอง ย้อนถึงวันเกิดเหตุด้วยสีหน้าหมองเศร้า เช่นเดียวกับ นิว หรือ ผณิชฎา ชูมณี บุตรสาวคนโตวัย 16  ปี และนุ๊ก ภูริชญ์ ชูมณี บุตรชายคนเล็กวัย 12  ปี ที่ยังเศร้าโศกคิดถึงพ่อและแม่


        ทั้งนิว แน็ค และนุ๊ก ช่วยกันย้อนวันเกิดเหตุร้ายว่า วันนั้นทั้งสามคน รอพ่อกับแม่อยู่ที่บ้าน ซึ่งเป็นปกติที่วันหยุดจะต้องอยู่พร้อมหน้ากัน 5  พ่อแม่ลูก แต่ทุกคนได้รอท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่เหมือนวันเก่าก่อน


       "พ่อและแม่เป็นคนรักครอบครัว หากเป็นวันหยุดสำคัญหรือวันพระ พ่อและแม่มักจะพาพวกเราไปทำบุญในวัดประจำหมู่บ้าน เพื่อสอนให้พวกเราเป็นคนดี ทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง" แน็คย้อนคืนวันเก่าๆ และความประทับใจเกี่ยวกับพ่อและแม่


       เธอบอกด้วยว่า พ่อกับแม่ยังส่งเสริมให้ลูกมีการศึกษา แม้ว่าฐานะทางครอบครัวไม่สู้ดีนัก อาศัยเก็บผักริมรั้วจำพวกกระถิน ตำลึง ชะอม ไปขายที่ตลาดนัดในเมืองยะลา รายได้วันละ 100-150  บาท แต่ก็กัดฟันส่งเสียให้ลูกทั้ง 3  คน ได้เรียนหนังสือ


       "แรกๆ ตอนเกิดเหตุคิดอยู่เพียงว่าไม่มีพ่อแม่ เราจะอยู่อย่างไร แต่ก่อน เราอยากได้อะไร พ่อแม่ให้หมด ให้เรียน ให้มีอนาคต ไม่อยากให้ลำบาก" นิว กังวลต่ออนาคตของเธอและน้องอีก 2 คน สีหน้าบ่งบอกถึงอาการเหนื่อยล้าต่อโชคชะตาที่เกิดขึ้นกับครอบครัว


      อีกทั้งเธอยังกังวลต่อความตั้งใจของเธอที่เคยบอกไว้กับพ่อและแม่ว่าจะเรียนให้จบปริญญาตรี เพื่อส่งน้องอีก 2  คนเรียนต่อ และช่วยกอบกู้ฐานะครอบครัว ซึ่งขณะนี้ ดูเหมือนจะเลือนลาง ในเมื่อเสาหลักของครอบครัวพังครืนลงพร้อมกันทั้ง 2 คน


        โชคดียังพอมีอยู่บ้าง หลังพ่อและแม่เสียชีวิต ทั้งนิว แน็ค และนุ๊ค ไปอาศัยอยู่กับปู่และย่าในหมู่บ้านเดียวกัน โดยมีญาติและเพื่อนบ้านแวะเวียนมาให้กำลังใจ ส่วนบ้านหลังเดิมถูกปิดตายไว้ เนื่องจากญาติไม่อยากให้เด็กๆ อาศัยอยู่กันตามลำพัง 


       ส่วนการเรียน ทั้งสามคน ยังคงเรียนอยู่ในโรงเรียนเดิมในตัวเมืองปัตตานี นิวเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ แน็คเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเดียวกับนิว ส่วนนุ๊กเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนเทศบาล 2 วัดตานีนรสโมสร โดยทุกเช้าทั้ง 3 คน จะขึ้นรถบัสรับส่งนักเรียนไปโรงเรียนตั้งแต่เช้ามืดและกลับถึงบ้านก็มืดค่ำ


        โชคดีที่โรงเรียนเห็นใจต่อโชคชะตาของเด็กทั้ง 3 คน จึงผ่อนผันไม่เก็บค่าเทอม และพยายามติดต่อหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือ เพราะลำพังจะอาศัยรายได้จากปู่และย่า คงไม่พอ เนื่องจากมีรายได้จากการกรีดยางเดือนละ 2,000-3,000  บาทเท่านั้น


        "ตอนนี้แม้จะคิดหลายๆ เรื่อง แต่ก็พยายามทำสมาธิให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ ก็คงเรียนไม่รู้เรื่องแน่" เธอบอกถึงวิธีการทำใจยอมรับและต่อสู้ต่อไปบนผืนโลกใบนี้


        แต่นับจากนี้ ยังมีบททดสอบอันแสนโหดร้ายอีกมากมายบนโลกใบนี้ ที่พวกเขาจะต้องเผชิญกันต่อไป


         กูอินดรา ต่วนสะมะแอ เด็กชายบ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส วัย 7 ขวบ  ซึ่งมารดาของเขาตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีเกี่ยวพันการฆ่าสองนาวิกโยธิน ซึ่งขณะนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส วันเด็กปีนี้เขาเพียงต้องการให้แม่กลับมาหาเข้าเท่านั้น


          เพื่อนบ้านที่ร่วมวงคุยได้บอกว่า เมื่อวันปีใหม่ที่ผ่านมา ทางโรงเรียนมีการจัดงานวันปีใหม่กูอินดรา ก็ไม่ได้ไปร่วมงานครั้งนี้ด้วย เพราะแม่ของเขาไม่อยู่ จึงไม่อาจพาเขาไปงานโรงเรียนเช่นที่เพื่อนคนอื่นๆมีแม่ไปร่วมงาน ทำให้เขาน้อยใจไปไปร่วมงานที่โรงเรียนจัดขึ้น


          รอหะนา  ตีงี  ป้าของกูอินดรา ได้เล่าให้ฟังว่า กูอินดราเคยเป็นเด็กที่ร่าเริง และพูดจาเก่ง แต่ทุกวันนี้มันกลับกัน บ้างครั้งเขาก็เล่นสนุกกับเพื่อนๆ บ้าง บ้างครั้งก็นั่งร้องไห้เพราะคิดถึงแม่ จนไม่รู้จะบอกกับหลานว่าอย่างไรดี


       "ทุกวันนี้เราต้องโกหกอยู่ตลอด โดยเราจะบอกว่าตอนนี้แม่ไปเรียนหนังสืออยู่ เดี๋ยวแม่เรียนจบเมื่อไหร่ แม่ก็จะกลับมา"


         รอหะนา  เล่าต่อว่า เวลาเขาไปเยี่ยมแม่แต่ละครั้ง แม่ก็จะบอกว่าอีก 5 วันจะกลับแล้ว เขาก็จะกลับมานั่งนับว่าเมื่อไหร่จะถึงวันที่แม่กลับมา  ซึ่งเมื่อครบกำหนด 5 วันแม่ยังไม่กลับเขาก็จะถามแล้วก็ร้องไห้ทุกที


         "เราเองก็รู้สึกเสียใจเหมือนกันที่ต้องทำอย่างนี้ ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้เราก็ไม่รู้จะบอกหลานอย่างไร เราเห็นหลานร้องไห้ เราก็เสียใจไม่ต่างจากหลานเหมือนกัน"


         อับดุลกอฮา  ยาซิง เด็กชายวัย 7 ขวบ เป็นผู้หนึ่งที่สูญเสียพ่อ ไปกับเหตุการณ์ที่ อ.ตากใบ เล่าให้ฟังว่า ในวันเด็กปีนี้อยากให้พาไปเที่ยวที่ไหนก็ได้  แต่ถ้าไม่มีใครพาไป ก็อยู่ที่บ้านดูการ์ตูน ก็สนุกเหมือนกัน


      มุมมองของผู้ปกครองเกี่ยวกับวันเด็กปีนี้สิ่งที่เขาอยากเห็นผู้ที่รับผิดชอบได้ทำอะไรให้กับเด็กๆที่สูญเสียเหล่านี้บ้าง


          รุสนีตา  อุเซ็ง   มารดาของ อับดุลกอฮา บอกว่า ในวันเด็กอยากให้เจ้าหน้าที่มาเยี่ยมเยือนครอบครัวผู้สูญเสีย มาให้กำลังใจและความอบอุ่นแก่เด็กๆ ที่กำพร้าพ่อ ส่วนความคาดหวังต่อเด็กๆอยากให้มีการศึกษาที่สูงๆ และจะได้มีความรู้พัฒนาตนเอง ซึ่งจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต


thumb_dscf8199.jpg


         นางโซรยา  จามจุรี    คณะทำงานเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้    กล่าวว่า    จากการลงพื้นที่  3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่ามีเด็กกำพร้าที่สูญเสียบิดามารดาและผู้ปกครองเป็นจำนวนมาก  ซึ่งมีสาเหตุมาจากเหตุความรุนแรงรายวัน และเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ  หรือ ที่อ.ตากใบ  เด็กกำพร้าที่น่าเป็นห่วงคือเด็กหรือเยาวชนที่ถูกกระทำความรุนแรง คือ อยู่ในเหตุการณ์ เช่น พ่อถูกยิงต่อหน้าต่อตา  หรือ ตนเองได้รับบาดเจ็บด้วย ทำให้เด็กเหล่านี้ได้รับผลกระทบทางจิตใจที่แรง และสูงมาก ซึ่งอาจจะไปสู่พฤติกรรมที่ก้าวร้าวได้ จึงรู้สึกเป็นห่วงเด็กกลุ่มนี้ 


        "รัฐจะต้องเข้ามาดูแลเยียวยาเป็นพิเศษ เพราะที่ผ่านมายังไม่มีองค์กรไหนเข้ามาดูแลเด็กๆและเยาวชนเหล่านี้ที่ชัดเจน  ในโอกาสวันเด็กก็อยากให้มีการเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจแก่เขา  ส่วนแนวทางการพัฒนาเด็กรัฐควรจะให้การศึกษาอย่างเต็มที่ เรียนจนจบและมีงานทำจะได้มีอาชีพและช่วยเหลือครอบครัวต่อไป"


       ชีวิตที่เยาวชนในดินแดนปลายด้ามขวานอีกนับพัน ซึ่งต้องขาดเสาหลัก ขาดผู้ที่เคยมอบความรัก สร้างความมั่นใจในชีวิตเบื้องหน้า แม้จะไม่มีอะไรมาทดแทนความสูญเสีย


         อย่าให้ชะตากรรมอันโหดร้าย กดทับความหวังของชีวิต ซึ่งเสมือนการตอกย้ำความรู้สึกสูญเสียให้ฝังแน่นลงในใจ


          การให้ความหวังต่ออนาคต แม้ไม่อาจทดแทนความสูญเสีย แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้รอยอดีตอันเจ็บปวด ทุเลา สร่างหายไปได้บ้าง


           อย่าให้ความบอบช้ำสะสมทวีคูณไปกับวันเวลา !

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net