Skip to main content
sharethis

 


ประชาไท -  ภาคประชาชนรุกชุมชนท่วมนานทำแผนฟื้น คาดอีก 2 สัปดาห์ริมเลสาบแห้ง ด้านคณะรัฐมนตรีอนุมัติเกือบ 500 ล้าน ฟื้นโรงเรียนใต้ "คงศักดิ์" ชี้หลังน้ำลดคนชายแดนใต้หันจับมือรัฐกดดันป่วนใต้


 


หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้เริ่มคลี่คลายลง หลายหน่วยทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้ามาร่วมกันฟื้นฟูชุมชนต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วมโดยเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ธันวาคม 2548 ที่สำนักงานปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการประชุมองค์กรภาคประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อหาแนวทางฟื้นฟูชุมชนที่ถูกน้ำท่วมยาวนานในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ มีผู้เข้าร่วม 13 คน ประกอบด้วยตัวแทน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการฟื้นฟูลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เครือข่ายชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น


 


ที่ประชุมได้เห็นชอบที่จะให้แต่ละชุมชนจัดทำแผนการฟื้นฟูชุมชน โดยให้ชุมชนขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตัวเอง แทนที่จะรอความช่วยเหลืออย่างเดียว แล้วนำแผนดังกล่าวไปเสนอหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการประสานงานขององค์กรภาคประชาชนที่เข้าร่วมประชุม ส่วนการช่วยเหลือเบื้องต้นจะประสานกับหน่วยงานที่รับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือให้นำไปถึงชาวบ้านที่เดือนร้อนต่อไป


 


ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีการประชุมเครือข่ายผู้นำชุมชนภาคใต้ ที่จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2548 พบว่า มีหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมยาวนานกว่า 300 แห่งในพื้นที่ 70 ตำบลของทั้ง 7 จังหวัด โดยชาวบ้านไม่มีที่อยู่อาศัย ขาดแคลนอาหารสัตว์และการติดต่อยากลำบาก จึงได้กำหนดเป็นหมู่บ้านวิกฤต


 


นายสมศักดิ์ ขุนชำนาญ จากตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินทธุ์ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา แถบอำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอสิงหนคร ระดับน้ำยังสูง นอกจากยังเข้าไปอาศัยในบ้านไม่ได้แล้ว ยังมีปัญหาบ้านพังเสียหายเนื่องจากถูกคลื่นซัด ส่วนบริเวณเกาะใหญ่ ซึ่งเป็นภูเขา พื้นดินยังอ่อน ทำให้ต้นยางพาราจำนวนมากล้ม ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรด้วย ส่วนสาเหตุของดินไหลจนทำให้บ้าน 4 หลังเสียหาย เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2548 นั้น เนื่องจากมีการขุดหน้าดินไปขายเกิดเป็นบ่อ เมื่อฝนตกหนักมีน้ำขังดินจึงอุ้มน้ำมากทำให้ดินอ่อน ซึ่งบริเวณรอบเกาะใหญ่มีการขุดหน้าดินไปขายจำนวนมาก


 


นายนฤทธิ์ ดวงสุวรรณ เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการฟื้นฟูล่มน้ำทะเลสาบสงขลา กล่าวว่า ปัญหาที่รุนแรงมากในพื้นที่น้ำท่วมเป็นเวลานานขณะนี้คือ ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปอยู่อาศัยในบ้านของตัวเองแล้ว และปัญหาเกี่ยวกับอาหารปศุสัตว์ ได้แก่ วัว ควาย แพะ และแกะ แม้ว่าทางราชการจะนำอาหารมาแจกแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ห่างจากตัวอำเภอมาก จะไปรับอาหารปศุสัตว์ไม่ทัน เพราะอาหารที่ทางราชการแจกให้หมดเสียก่อน อีกทั้งขณะนี้สัตว์เริ่มตาย เนื่องจากเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยและอาหารไม่เพียงพอ


 


นายอัมพร แก้วหนู ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า การหารือครั้งนี้ เพื่อจะช่วยเหลือชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่างยังยืน โดยจากข้อมูลที่ได้รับมีพื้นที่วิกฤต 300 หมู่บ้าน มีแนวโน้มว่าน้ำจะท่วมต่อไปอีก 2 สัปดาห์ หรืออาจถึง 1 เดือน ซึ่งขณะนี้คณะทำงานกำลังสำรวจข้อมูลความเสียหาย รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องและจัดทำแผนร่วมกับชุมชนแล้ว โดยในวัน 29 ธันวาคม 2548 ที่จังหวัดปัตตานี จะประชุมกลุ่มย่อยที่ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ต่างๆ และในวันที่ 30 ธันวาคม 2548 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จะประชุมสรุป เพื่อให้เห็นภาพความเสียหายและประมวลความต้องการของผู้ประสบภัยอีกครั้ง


 


ด้านนายอุดม ทิพย์เดโช หัวหน้าโครงการชลประทานสงขลา ระบุว่า ในพืทื้นที่อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ และ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ปริมาณน้ำลดลงค่อนข้างช้า เฉลี่ย 10 เซนติเมตรต่อวัน จึงทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของทั้ง 3 อำเภอ มีน้ำท่วมสูงประมาณ 50 -  150 เซนติเมตร แม้จะนำเครื่องสูบน้ำกว่า 100 เครื่อง ช่วยสูบน้ำออกจากพื้นที่ตลอดทั้งวันก็ตาม เหตุที่ระบายน้ำได้ช้า เนื่องจากทะเลสาบสงขลาตื้นเขิน


 


ครม.อนุมัติงบร่วม500ล้านซ่อมแซมโรงเรียนใต้


ในวันเดียวกัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอของบประมาณเป็นวงเงิน 486 ล้านบาท เพื่อนำไปซ่อมแซมและทำนุบำรุงสถานศึกษาซึ่งเป็นโรงเรียนขั้นพื้นฐานของรัฐและเอกชนที่ถูกน้ำท่วม จำนวน 2,164 แห่ง และช่วยเหลือบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิตจากอุทกภัย 9 ราย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ร่วมกับศูนย์อนามัย ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคภายหลังน้ำลด รวมถึงซ่อมแซมสถานการบริหารสาธารณสุขจำนวน 81 รายการ รวมวงเงินกว่า 44 ล้านบาท รวมทั้งชดเชยค่ายาและเวชภัณฑ์ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ อีก 50 ล้านบาท


 


ในที่ประชุม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังได้สั่งการให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการผ่อนปรนภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ หลังเดินทางไปตรวจสภาพน้ำท่วมในภาคใต้ และให้สถาบันการเงินของรัฐพิจารณาขยายเวลาชำระหนี้ให้กับประชาชน รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณามาตรการรับซื้อโค-กระบือ ภายใต้โครงการโคล้านครอบครัว ซึ่งการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีพบว่าเกษตรกรมีปัญหาเกี่ยวกับอาหารสัตว์ และถึงแม้ว่าน้ำเริ่มลดลงแต่หญ้าที่จะนำมาเลี้ยงสัตว์ยังมีปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่อง 20-30 วัน ถ้าเกษตรกรต้องการขายโคก็ให้กระทรวงเกษตรฯ รับซื้อ แต่ถ้าไม่ประสงค์ขายก็ให้รับฝากเลี้ยงได้


 


ขณะที่ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งหญ้าแห้งจำนวน 20 ตัน ลำเลียงโดยรถไฟ 6 โบกี้ ไปลงที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อนำไปแจกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ จังหวัดสงขลา ที่ประสบภัยน้ำท่วม


 


"คงศักดิ์"ชี้น้ำลดคนชายแดนจับมือรัฐเพิ่ม


 พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ได้มีการสำรวจตัวเลขความเสียหายทั้งในส่วนถนนและบ้านเรือน พบว่า มีประมาณ 500 ล้านบาท โดยยืนยันว่ามีงบประมาณช่วยเหลือเพียงพอ เพียงแต่ต้องสำรวจความเสียหายโดยเร็วและช่วยเหลือให้ตรงความต้องการของชาวบ้าน โดยหลังน้ำลดลงจะช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภคเป็นอันดับแรก จากนั้นจะสำรวจความเสียหายของบ้านพัก และการเกษตร


 


พล.อ.อ.คงศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น รัฐบาลได้ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เมื่อน้ำลดทำให้ชาวบ้านร่วมมือกับรัฐมากขึ้น อย่างการกดดันผู้ร้าย 3 คน จนหลบหนีไปได้ ถือเป็นแนวทางที่ดีขึ้น แต่การก่อคตวามไม่สงบจะกลับมาอีกเนื่องมีการก่ออิทธิพลของกลุ่มก่อความไม่สงบขึ้นมาใหม่


 


นาย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงน้ำทะเลหนุนทำให้บางพื้นที่ระดับน้ำยังไม่ลด เมื่อน้ำทะเลลดก็จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบายออกทะเลและขุดเจาะช่องระบายน้ำเพิ่ม สภาพโดยทั่วไปขณะนี้ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาและบางส่วนของจังหวัดพัทลุงที่ติดกับทะเลสาบสงขลา ส่วนที่จังหวัดปัตตานี มีเพียงรอบนอกเขตเทศบาลเมืองปัตตานีเท่านั้น


 


นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ในช่วงน้ำลดได้เข้าสำรวจพื้นที่การเกษตรและถนนที่ถูกน้ำท่วม พบว่ามีค่าเสียหายเพิ่มอีกประมาณ 7 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหายเป็น 128 ล้านบาท แต่เชื่อว่ามูลค่าความเสียหายจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากยังมีน้ำท่วมขังหลายแห่งที่เป็นที่ลุ่ม


 


ที่จังหวัดพัทลุงพบคนไข้ที่มีอาการคล้ายโรคฉี่หนู 6 คน ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลพัทลุงแล้ว โดยมีอาการหนัก 1 คน  


 กลับหน้าแรกประชาไท      

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net