Skip to main content
sharethis

"ข้อเสนอต่อเรื่องคุณภาพชีวิตและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ" ชุดนี้


จะเสนอต่อรัฐมนตรีและข้าราชการในกระทรวงหลัก 4 กระทรวง ในเวทีสัมมนาเรื่อง "สิทธิของคนในสังคมพิการ" วันที่ 23 ธันวาคม 48 นี้ ที่วุฒิสภา มีรายละเอียด ดังนี้


 


กระทรวงมหาดไทย


1.  การออกบัตรประชาชนสำหรับผู้พิการ  เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนไทยทุกคนย่อมได้รับ กรณีผู้พิการก็เช่นกัน  การจำกัดสิทธิยกเว้นไม่ต้องทำบัตรประชาชนสำหรับผู้พิการบางประเภท บางลักษณะ ดังการออกกฎกระทรวงว่าด้วยบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำบัตรประชาชน อาจมีผลต่อการใช้สิทธิของผู้พิการในเรื่องอื่นๆด้วย เช่น การได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาล การทำธุรกรรมต่างๆ  ดังนั้น การยกเว้นนี้แม้มีเจตนาดีในการเอื้ออำนวยความสะดวกให้ผู้พิการ แต่ไม่ควรใช้เป็นข้ออ้างของเจ้าพนักงานอำเภอ เขต แขวง ในการไม่ออกบัตรให้ในกรณีผู้พิการไปดำเนินการขอออกบัตร หรือมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม  แตกต่างจากคนอื่นๆที่รัฐต้องมีหน้าที่ออกบัตรให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ


           


นอกจากนี้ ควรประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่ของกรมการปกครองได้เข้าใจ และไม่ละเมิดสิทธิประชาชน รวมถึงการจัดหน่วยเคลื่อนที่ออกไปในท้องถิ่นทุรกันดารที่การคมนาคมไม่สะดวกเพื่อดำเนินการออกบัตรให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้พิการประเภทต่างๆ ที่มีความยากลำบากและสิ้นเปลืองในการเดินทาง เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นพลเมือง


 


2.  การดำเนินการ และการมีมาตรการที่เข้มแข็ง เพื่อสนับสนุน และตรวจสอบการก่อสร้างอาคารต่างๆ ตามที่มีประกาศกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับคนพิการและคนชรา พ.ศ. ๒๕๔๘ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ๑ ก.ย. ๔๘ ระบุชัดเจนในเรื่องการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ เช่น ทางลาด ลิฟท์  ป้ายนำทางที่เอื้อทั้งต่อผู้พิการทางการมองเห็น การได้ยิน


           


ควรมีมาตรการสนับสนุนการปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ เช่น การประชาสัมพันธ์วงกว้างให้ประชาชนรับรู้แนวคิดเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่เฉพาะผู้พิการ แต่รวมถึงผู้สูงอายุ ผู้เจ็บป่วย ฯลฯ การมอบรางวัลในทุกปี การจัดประกวดการออกแบบอาคารเพื่อคุณภาพชีวิตที่สะดวกสบาย ให้มีการสัมมนาหรือประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐและองค์กรคนพิการ เพื่อหาแนวทางปฏิบัติต่อกฎหมายนี้ ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง


 


3.  การสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมดำเนินการ  โดยการออกกฎระเบียบของท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านสาธารณูปโภคที่เอื้ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ทั้งทางเดิน ทางเท้า อาคารสถานที่ และการให้บริการด้านสวัสดิการทางสังคมอื่นๆสำหรับผู้พิการ นอกเหนือจากอาคารที่อยู่ภายใต้ควบคุมของกฎกระทรวง


 


4. การทำความเข้าใจกับ อปท. ในการจ่ายเบี้ยยังชีพให้คนพิการเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบัน อบต. เทศบาล แต่ละแห่งจ่ายเบี้ยยังชีพให้คนพิการต่างกัน แม้ว่าจะมีคำชี้แจงและแนวทางจากกระทรวงงมหาดไทยแล้วก็ตาม ทำให้คนพิการที่อยู่ต่างพื้นที่กันเกิดความสับสนและมีคำถามมากมาย


 


กระทรวงคมนาคม


การดำเนินการให้เกิดขึ้นจริงในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางของผู้พิการทุกประเภท 


 


1. สิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพ ให้พิจารณาเจตนารมณ์ในการออกกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับคนพิการและคนชรา พ.ศ. ๒๕๔๘ แม้จะไม่มีผลย้อนหลังจากวันที่ ๑ ก.ย. ๔๘ ก็ตาม แต่เป็นเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญและนโยบายของรัฐบาล



  1. ระบบขนส่งมวลชน  ต้องมีการบังคับให้ตัวรถ อาคารผู้โดยสาร อาคารจอดรถ และอาคารหรือสิ่งอื่นๆที่เกี่ยวข้องจัดทำทางลาด ชานชาลาสำหรับรถเข็นเข้าสู่ตัวรถ พื้นที่ในตัวรถสำหรับผู้พิการ การให้ข้อมูลเส้นทางเดินรถ การเข้าออกของรถ ในรูปแบบที่ผู้พิการทุกประเภทสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้สะดวก ปลอดภัย

  2. ระบบขนส่งสาธารณะ มีการควบคุมให้ปฏิบัติต่อผู้พิการโดยเท่าเทียมกับผู้โดยสารอื่นๆและต้องอำนวยความสะดวกในการใช้บริการ การปรับปรุงตัวรถให้สามารถเข้าถึงของผู้พิการโดยสะดวก การจัดทำชานชาลาที่เหมาะสม การมีมารยาทต่อผู้พิการ การให้บริการข้อมูลข่าวสารการเดินทาง ตารางการเดินรถ เรือ สำหรับผู้พิการทุกประเภท

 


2.  สิ่งอำนวยความสะดวกทางสังคม



  1. การลดหย่อนค่าโดยสาร  สำหรับผู้พิการทุกประเภท และเป็นระบบเดียวกัน ดำเนินการโดยการออกคำสั่งของหน่วยงานโดยตรง ไม่จำเป็นต้องเมื่อได้รับการร้องขอจากแต่ละคนหรือแต่ละประเภทหรือองค์กรของผู้พิการ ไม่ควรมีความลักลั่นกันโดยอ้างเหตุว่าไม่ได้ทำหนังสือขอมาอย่างเป็นทางการ แต่ควรเป็นจิตสำนึกของหน่วยงานผู้ให้บริการที่ต้องจัดอำนวยความสะดวกเหล่านี้ให้ และมีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง ทั่วถึง และเข้าถึงกลุ่มผู้พิการทุกประเภท

  2. การยกเว้นหรือลดหย่อนค่าโดยสารหรือค่าระวาง ของกายอุปกรณ์เกี่ยวกับการคมนาคม เช่น รถเข็น ไม้เท้า ผู้ช่วยเหลือหรือคนนำทาง  สุนัขนำทาง เหล่านี้ต้องได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการเดินทาง หรือได้รับการลดหย่อนค่าโดยสารกรณีคนนำทาง หรือผู้ช่วยเหลือผู้พิการในแต่ละประเภท

 


3. สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ให้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนในการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ คนชรา คนป่วย ผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ ภายในอาคารผู้โดยสาร อาคารสำนักงาน อาคารหน่วยงานอื่นทั้งหมด เช่น อาคารคลังสินค้า ศุลกากร ฯลฯ รวมทั้งสภาพแวดล้อมภายนอก โดยเน้นการประสานงานใกล้ชิดกับองค์กรของคนพิการและผู้เชี่ยวชาญด้านคนพิการ


 


กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


1. ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ควรทำหน้าที่ผู้เชื่อมประสานกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนให้มีการดำเนินการด้านสิ่งอำนวยความสะดวก  โดยเฉพาะการติดตาม ตรวจสอบ และให้ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม ควรทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้หญิง ในการติดตามตรวจสอบและกระตุ้นให้กระทรวงอื่นๆดำเนินการ


 


2. การจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านคนพิการแห่งชาติ แก้ไขปรับปรุงพระราชการบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้มีการปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรม-การที่มีสัดส่วนของเจ้าพนักงานของรัฐ  กลุ่มผู้พิการ และผู้ทรงคุณวุฒิในสัดส่วนที่เหมาะสมกว่าเดิม


 


3. การทบทวนและปรับปรุง พรบ.ฟื้นฟูฯ ๒๕๓๔ ให้มีบทลงโทษ เพิ่มมาตรการจูงใจให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายมากขึ้น 


 


4. การให้บริการของหน่วยงานในกระทรวง  ที่ไม่เอื้ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ที่ต้องเดินทางไปหลายจุด หลายอาคาร หรือแม้แต่หลายแห่ง เพื่อดำเนินการใดใดเกี่ยวกับผู้พิการในกระทรวง ควรจัดให้บริการต่างๆเกี่ยวกับผู้พิการมารวมอยู่ ณ จุดเดียว องค์กรเดียว ทั้งการขึ้นทะเบียนผู้พิการ การส่งเสริมสนับสนุน การฝึกอาชีพ การสงเคราะห์  ควรเป็นบริการที่เบ็ดเสร็จในหน่วยงานเดียว



  1. การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในระดับจังหวัด เช่น การกู้เงินประกอบอาชีพ ที่แต่ละจังหวัดดำเนินการแตกต่างกัน บางจังหวัดไม่มีการประชุม จึงไม่อาจดำเนินการให้ผู้พิการใช้ประโยชน์ได้ ควรเร่งรัดให้คณะอนุกรรมการคนพิการประจำจังหวัดให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการ หรือเปิดโอกาสให้องค์กรเครือข่ายผู้พิการในแต่ละจังหวัดเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการ

  2. การสร้างทัศนคติในสังคมเรื่องผู้พิการ เป็นการส่งเสริมเรื่องคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน ที่ให้ประชาชนตระหนักว่าผู้พิการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่สมควรได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับทุกคน ไม่จำเป็นต้องการเฉพาะความเมตตา สงสาร และการสงเคราะห์ แต่ควรเป็นการเคารพ และเปิดโอกาสให้ดำรงชีวิต มีงานทำ ได้เหมือนคนทั่วไป  เพื่อสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยในสังคมไทย และการยอมรับความแตกต่าง หลากหลายของเพื่อนมนุษย์ในสังคม

 


กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


1.  ต้องพัฒนาเวบไซต์ของหน่วยงานรํฐ และการสนับสนุนให้หน่วยงานเอกชนจัดทำเวบ


ไซต์ ที่ผู้พิการทุกประเภทสามารถเข้าถึงได้  การให้ความสำคัญกับการพัฒนาซอฟแวร์ การวิจัย  เพื่อสร้างช่องทางการเข้าถึงให้มากขึ้น รวมถึงการออกกฎระเบียบบังคับให้ต้องดำเนินการ


 


2.  องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร คือการกระตุ้นให้คณะกรรมการกิจการกระจาย


เสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้พิการทุกประเภท  การให้ความสำคัญกับผู้พิการในการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางนโยบายเกี่ยวกับการสื่อสาร การสารสนเทศ และการกระจายเสียง  การเอื้ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการลดหย่อนค่าบริการต่างๆ จนถึงการยกเว้นค่าบริการ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานของผู้พิการนั้น เช่น การใช้แฟกซ์สาธารณะสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน การมีรายการวิทยุ โทรทัศน์ ที่ผู้พิการทางการได้ยิน ทางสายตา สามารถเข้าถึงได้เช่น มีล่ามภาษามือ มีช่องเสียบเสียงต่างหาก เป็นต้น


 


3.  ให้ความสำคัญกับเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ของผู้พิการทุกประเภท  การพิจารณา


ทบทวนการออกกฎกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวโยง ให้เพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล การสร้างแรงจูงในให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา จัดทำช่องทางให้ผู้พิการเข้าถึงข้อมูลที่มีอยู่มากแล้วได้สะดวก เช่น ทำให้เวบไซต์หน่วยงาน ข้อมุลในเวบไซต์  เข้าถึงผู้พิการทางการมองเห็นได้


 


การปรับปรุง พรบ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ต้องได้รับการพิจารณาร่วมกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี  โดยเฉพาะในหมวดว่าด้วยคณะกรรมการระดับชาติ


           


ข้อเสนอเหล่านี้เป็นข้อเสนอในทางปฏิบัติ ที่มีกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบกระทรวง รองรับอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ  และต่อเนื่องเพียงพอ เราทราบดีว่าท่านรัฐมนตรีมีหน้าที่ในการกำกับการทำงานของเจ้าพนักงานของรัฐ จึงหวังให้มีการเร่งรัด ตรวจสอบ ให้มีการปฏิบัติการโดยเร็ว เราไม่อาจรับข้อเสนอใดใดของรัฐมนตรีเกี่ยวกับการตั้งคณะทำงานตรวจสอบปัญหา เพราะปัญหาเหล่านี้มีรายงาน มีสรุปอยู่เพียงพอแล้ว ขณะนี้จึงเป็นเวลาให้การดำเนินการให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง


           


ทั้งนี้ กลุ่มองค์กรเครือข่ายผู้พิการ ขออนุญาตติดตามผลการดำเนินการตามข้อเสนอนี้อย่างต่อเนื่อง และหวังว่าจะมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด


 


 


เครือข่ายองค์กรผู้พิการ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net