Skip to main content
sharethis


ประชาไท—14 พ.ย. 48     ครป.เสนอทางออกปัญหาม็อบครู ตั้งกรรมการอิสระหลายฝ่ายทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นทั่วประเทศภายใน 6 เดือน ขณะที่ครูทั่วประเทศยังคงนัดชุมนุมตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ

 


หลังจากที่ครูทั่วประเทศออกมาคัดค้านการถ่ายโอนสถานศึกษาไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา แม้ในวันเดียวกันได้มีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ผ่อนปรนให้การโอนย้ายโรงเรียนให้เป็นไปโดยสมัครใจแล้วก็ตาม แต่ครูยังคงยืนหยัดคัดค้านในแทบทุกจังหวัด โดยเดิมกำหนดให้วันที่15 พ.ย.นี้ เป็นวันสิ้นสุดระยะเวลารับคำขอการประเมินของ อปท.ที่ต้องการรับโอนสถานศึกษา แต่อาจจะมีการยืดระยะเวลาไปจนถึงวันที่ 15 ม.ค.2549


 


นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของอปท.ว่า ในปีการศึกษา 2549 นี้จะต้องยืดระยะเวลาในการรับคำขอการประเมินของ อปท.ที่ต้องการรับโอนสถานศึกษาออกไปเป็นวันที่15 ม.ค.2549 หรือก่อนเปิดภาคเรียนในปีการศึกษาใหม่ 120 วัน


 


โดยหลังจาก อปท.ยื่นคำขอระบุชื่อโรงเรียนที่จะขอรับโอนมาแล้ว จะมีการตั้งคณะกรรมการประเมินประกอบด้วยผู้แทนจากท้องถิ่น 3 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน และครู 3 คน ซึ่งคณะทำงานจะนำข้อสรุปการยืดระยะเวลาและการตั้งคณะทำงานเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาเพื่อนำเข้าครม.ในวันอังคารที่15 พ.ย.นี้


 


นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึงสาเหตุที่ครูทั่วประเทศออกมาคัดค้านการถ่ายโอนสถานศึกษาไปอยู่กับอปท.ว่า ไม่ใช่ประเด็นครูไม่เข้าใจหรือรัฐบาลทำความเข้าใจกับกลุ่มครูน้อยเกินไป แต่ปัญหาสำคัญเกิดจากกลุ่มครูไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อมั่นศักยภาพและการบริหารจัดการของ อปท.ว่าจะรับผิดชอบ หรือจัดการศึกษาให้เกิดคุณภาพสูงสุดได้


 


ฉะนั้นแม้ ครป.จะเห็นด้วยว่าในระยะยาวต้องถ่ายโอนการศึกษาไปให้ท้องถิ่นตามแนวทางกระจายอำนาจตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ต้องมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลต้องยกระดับและส่งเสริมให้ อปท.เข้มแข็งและสร้างศรัทธาได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ปล่อยให้ท้องถิ่นเป็นเพียงแขนขาของระบบซีอีโอหรืออำนาจรวมศูนย์ และบรรดานักเลือกตั้งต้องพิสูจน์ความจริงใจในการกระจายอำนาจให้ อปท.มากกว่านี้ไม่ใช่มุ่งใช้ อปท.เป็นเพียงแขนขาของฝ่ายการเมืองหรือเป็นเพียงฐานเสียงทางการเมืองเท่านั้น โดยเฉพาะแนวนโยบายประชานิยมของรัฐบาลเข้าไปทำลายสถานภาพของ อปท.และความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นอย่างรุนแรงทำให้ท้องถิ่นต้องคอยพึ่งพิงจากส่วนกลางเป็นหลัก


 


"เพื่อให้ปัญหาการถ่ายโอนได้ข้อยุติที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวมอย่างแท้จริงไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งกรรมการอิสระระดับชาติที่ประกอบไปด้วย ตัวแทนรัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาธิการ ตัวแทนครู ตัวแทน อปท. ตัวแทนนักวิชาการด้านการศึกษา และตัวแทนภาคประชาสังคม เพื่อจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากสังคมอย่างกว้างขวางและให้ได้ข้อสรุปเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายและคำนึงถึงคุณภาพการศึกษาของชาติอย่างแท้จริง โดยมีกรอบเวลาทำงานประมาณ 6 เดือน" นายสุริยะใส กล่าว


 


สำหรับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการโอนย้ายการศึกษานี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากนำเรื่องนี้ไปเล่นการเมือง เมื่ออยู่กับท้องถิ่นก็พูดเรื่องกระจายอำนาจ แต่ 3-4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้เพิ่มความพร้อมให้แก่ท้องถิ่นและเพิ่มงบประมาณให้น้อยมากแต่เมื่อไปพูดกับครูก็ประกาศว่าจะไม่มีการโอนถ่าย


 


ขณะที่นายรุ่ง แก้วแดง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องทำตามกฎหมาย พ.ร.บ.การกระจายอำนาจ พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แล้วเสร็จในปี 2549 และถ่ายโอนงบประมาณให้องค์กรปกครองท้องถิ่นร้อยละ35 จากรายได้ทั้งหมด โดยมีความเชื่อที่ว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชน การจัดบริการต่างๆประชาชนจะได้รับประโยชน์มากกว่า เหมือนกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่กำหนดว่าคนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนดีที่สุดคือตัวผู้เรียน


 


นายรุ่ง ยังกล่าวต่อไปว่า ในการกระจายอำนาจขณะนี้มีอยู่ 2 เรื่องที่ยังไม่ได้ดำเนินการ คือการศึกษากับสาธารณสุข สำหรับในส่วนการศึกษาจะโอนในส่วนที่ไม่กระทบกับการศึกษาโดยตรงก่อน เช่น โครงการอาหารกลางวัน นมโรงเรียน สำหรับการโอนการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นจะให้มีผลกระทบน้อยที่สุด โดยได้มีการหารือกับคณะกรรมการผู้กำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดูแลด้านนโยบาย มาตรฐาน และการจัดการศึกษา ซึ่งจะเป็นไปตามแนวปฏิรูประบบราชการ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net