Skip to main content
sharethis





ประไทคัดสรร - เวบไซต์กรุงเทพธุรกิจ 18 ตุลาคม 2548 เวลา 19:15 น. ไทยติดอันดับที่ 59 จากการจัดอันดับดัชนีคอร์รัปชั่นทั่วโลก 159 ประเทศ ขยับขึ้นจากปีก่อน 5 อันดับ




 


องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand)  เปิดเผยผลสำรวจการจัดอันดับดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี พ.ศ. 2548 พบว่า ประเทศไทยได้ 3.8 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อยู่อันดับที่ 59 จากทั้งหมด 159 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 7 จาก 25 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย 


 


CPI (Corruption Perceptions Index) คือ ดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งดรรชนีชี้วัดนี้แสดงให้เห็นการจัดอันดับจากความรู้สึกของกลุ่มตัวอย่างว่ามีปัญหาคอร์รัปชันในกลุ่มเจ้าหน้าที่ภาครัฐและนักการเมือง ที่มีการจัดอันดับเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ พ.ศ. 2538 โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านปัญหาคอร์รัปชัน และมีเครือข่ายกว่า 120 ประเทศทั่วโลก


 


สำหรับการจัดอันดับในปี พ.ศ. 2548 นี้ ได้มีการสำรวจเพื่อจัดอันดับความโปร่งใสของประเทศต่างๆ จาก 159 ประเทศทั่วโลก  ผลการจัดอันดับพบว่า  ประเทศไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุดเป็นอันดับ 1 จากที่เคยอยู่ในอันดับ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2547 ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 59 (3.8 คะแนน) ขยับขึ้นจากอันดับที่  64 (3.6 คะแนน) เมื่อปี พ.ศ. 2547 (ดูตารางที่ 2) สำหรับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย*ที่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับดีขึ้น  ได้แก่  ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย ส่วนประเทศที่ได้อันดับลดลง  ได้แก่  จีน ศรีลังกา เนปาล ฟิลิปปินส์เวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า และบังคลาเทศ  ประเทศในเอเชียที่มีการจัดอันดับเป็นปีแรก  ได้แก่  ลาว อยู่ในอันดับที่  77 และกัมพูชา  อยู่ในอันดับที่ 130


 


ประเทศที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2547 ได้แก่  อาร์เจนตินา ออสเตรีย โบลิเวีย  เอสโตเนีย ฝรั่งเศส กัวเตมาลา ฮอนดูรัส  ฮ่องกง ญี่ปุ่น จอร์แดน คาซัคสถาน เลบานอน มอลโดวา ไนจีเรีย กาตาร์ สโลวาเกีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ตุรกี ยูเครน และเยเมน


 


ประเทศที่มีคะแนนลดลงอย่างเห็นได้ชัด  ได้แก่  บาร์เบโดส เบลารุส คอสตาริกา กาบอง เนปาล        ปาปัวนิวกีนี รัสเซีย เซเชลล์ ศรีลังกา ซูรินาเม ตรินิแดดและโตเบโก  และอุรุกวัย


 


ประเทศที่เข้ามาใหม่ในและถูกจัดอันดับในปีนี้  ได้แก่  ลาว  กัมพูชา  อัฟกานิสถาน บูร์กินาฟาโซ   บุรุนดี อิควอทอเรียลกินี  ฟิจิ กายานา เลโซโท ไลบีเรีย รวันดา โซมาเลีย และสวาซิแลนด์


 


ดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันยังชี้ให้เห็นว่า คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่บั่นทอนศักยภาพการพัฒนา เป็นที่น่าสังเกตว่า  ประเทศที่อยู่อันดับท้ายๆ และมีคะแนนน้อยกว่า 2 คะแนน ล้วนเป็นกลุ่มประเทศที่ยากจน ได้แก่ ชาด บังคลาเทศ เติร์กเมนิสถาน พม่า เฮติ ไนจีเรีย อิควอทอเรียลกินี 


 


นอกจากนี้ บางประเทศที่มีคะแนนต่ำเป็นประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันแต่ยากจน ได้แก่ แองโกลา อาเซอร์ไบจาน ชาด เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก  คาซัคสถาน ลิเบีย ไนจีเรีย รัสเซีย เวเนซุเอลา และเยเมน ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีความโปร่งใสสูงสุดและมีคะแนนมากกว่า 9 คะแนนเป็นกลุ่มประเทศที่ถือว่าร่ำรวย ได้แก่ ไอซ์แลนด์ รองลงมาคือ ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก สิงคโปร์ สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ 


 


ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งการ ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการคอร์รัปชัน  ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548  แต่มีเพียง 42  ประเทศเท่านั้นที่มีคะแนนสูงกว่าครึ่ง ( 5 คะแนน) จากการจัดอันดับทั้งหมด 159 ประเทศ  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาคอร์รัปชันยังมี่ความรุนแรงและควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net