Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - 6 ต.ค.48        กรีนพีซจับมือองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมตรวจอากาศนิคมฯ มาบตาพุด พบสารพิษก่อมะเร็งเกินมาตรฐานหลายตัว ด้านสผ.ยังอ้อมแอ้ม รับประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว แต่ยังอนุมัติผุดโรงงานใหม่กว่า 100 โรง


 


กลุ่มกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม (CAIN) และโกลบอล คอมมิวนิตี้มอนิเตอร์ ได้ร่วมกันเปิดเผยรายงานเรื่อง "อะไรอยู่ในอากาศ ความลับที่คนมาบตาพุดและคนไทยยังไม่รู้"


 


โดยนำเสนอผลการเก็บตัวอย่างอากาศบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ตลอดระยะเวลา 5 เดือน พบสารเคมีกว่า 20 ชนิด และสารก่อมะเร็งหลายชนิดที่เกินระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (US EPA)


 


สารเคมีอันตรายที่พบได้แก่ 1.เบนซีน สูงเกินมาตรฐานเฝ้าระวัง 60 เท่า   2.ไวนิลคอลไรด์ สูงเกินมาตรฐานเฝ้าระวัง 86 เท่า   3.คลอโรฟอร์ม สูงกว่ามาตรฐานเฝ้าระวัง 119 เท่า  4. ไดคลอโรอีเธน สูงเกินมาตรฐานเฝ้าระวัง 3,378 เท่า  5.สารประกอบอินทรีย์ระเหย และสารประกอบกำมะถัน 6-12 ชนิด โดยการตรวจวัดสภาพอากาศทำโดย "หน่วยกระป๋องตรวจมลพิษอากาศ" (Bucket Brigade) ที่เป็นอุปกรณ์เบื้องต้นไม่สลับซับซ้อนชาวบ้านสามารถเรียนรู้การใช้งานได้ จากนั้นนำตัวอย่างอากาศไปตรวจสอบยังห้องปฏิบัติการที่สหรัฐอเมริกา


 


ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 บนพื้นที่กว่า 2,400 ไร่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงงานปิโตรเคมี โรงงานเคมี โรงกลั่นน้ำมัน และอุตสาหกรรมอื่นๆ กว่า 90 โรง มีปล่องปล่อยอากาศเสียกว่า 290 ปล่อง และมีชุมชนอาศัยอยู่โดยรอบ 25 ชุมชน ต่อมาในปี 2540 เกิดข่าวกลิ่นเหม็นจากโรงงานภายในนิคม ทำให้ชาวบ้านล้มป่วยจำนวนมาก กระทั่งมีการจัดตั้งคณะทำงานติดตามผลการแก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญเรื่องกลิ่นจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหา สำเร็จในอีก 4-5 ปีต่อมา


 


นายธารา บัวคำศรี เจ้าหน้าที่จากกรีนพีซระบุว่า โครงการนี้เพียงต้องการสร้างความเข้มแข็งให้ชาวบ้านในการเฝ้าระวังมลพิษภายในชุมชนของตนเองด้วยเครื่องมือง่ายๆ แต่ได้มาตรฐาน เพราะที่ผ่านมาการตรวจวัดต่างๆ ขึ้นอยู่กับผู้เชี่ยวชาญมากเกินไป


 


ขณะที่นายวัชยุทธ วงค์ภุชงค์ ตัวแทนชาวบ้านมาบตาพุด แสดงความเห็นว่า เครื่องมือกระป๋องตรวจมลพิษอากาศเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามให้หน่วยราชการตรวจสอบมาโดยตลอดแต่ก็ไม่เคยได้ผล


 


"ขนาดเราปีนไปเก็บตัวอย่างควันพิษที่ปล่องไฟโรงงานเอาไปตรวจ ก็ยังไม่ได้ผล เพราะบ้านเราใช้ระบบค่าเฉลี่ย มันก็ไม่เคยเกินมาตรฐานซักที"


 


นายวัชยุทธกล่าวต่อว่า แต่ไม่ว่าจะสหรัฐจะรับรองมาตรฐานอย่างไรก็ยังมีปัญหาการยอมรับจากราชการและบริษัทเอกชนอย่างยากจะหลีกเลี่ยง อีกทั้งการตรวจสอบในครั้งนี้ใช้เวลาค่อนข้างนานเกือบ 2 ปีทำให้ข้อมูลไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งไม่แน่ใจว่าสภาพอากาศจะเลวร้ายยิ่งขึ้นแล้วหรือไม่


 


"แต่เห็นผลการตรวจสอบคราวนี้แล้วพวกเราค่อนข้างตกใจ เพราะมีสารเคมีที่ก่อมะเร็งอยู่ในอากาศมากมาย ก่อนหน้านี้ชาวบ้านทำได้อย่างมากก็แค่ร้องเรียนเมื่อมีกลิ่นเหม็น ในขณะที่สารพิษหลายตัวมันไม่มีกลิ่น" นายวัชยุทธกล่าว


 


ด้านนายสนธิ คชวัตน์ ตัวแทนจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า เรื่องมลพิษในเขตมาบตาพุดยังมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันอยู่ แต่ขณะนี้คณะทำงานที่ทำการศึกษาได้ขยายการตรวจสอบสภาพอากาศบริเวณนั้นออกไปอีก 6 เดือนเพื่อดูว่าอากาศยังสามารถรองรับมลพิษได้อีกหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ทำการศึกษาอยู่นี้ สผ.ก็ได้เตรียมอนุญาตโรงงานใหม่ในนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่งแล้วกว่า 100 โรง


 


ตัวแทนจากสผ.ระบุด้วยว่า ขณะเดียวกันทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ได้มีมติไปแล้วว่าให้ประกาศเขตมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษไว้ก่อน เนื่องจากทางสาธารณสุขรายงานว่ามีชาวบ้านป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจจำนวนมาก โดยรายละเอียดการกำหนดพื้นที่นั้น คาดว่าจะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมในวันที่ 27 ต.ค.นี้ จากนั้นจะต้องมีการร่างแผนปฏิบัติงานจากหลายภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อหาข้อกำหนดว่าระหว่างที่เป็นเขตควบคุมมลพิษนี้ ต้องการให้มีมาตรการจัดการอย่างไร และจะให้มีการอนุญาตก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่หรือไม่


 


"อีกเรื่องที่สำคัญคือ ที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้เรามัวแต่มุ่งศึกษาสารจำพวกซัลเฟอร์ โดยไม่สนใจพวก VOC หรือไอระเหยสารอินทรีย์ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ที่ออกจากปล่องโรงงานที่เผาไหม้ไม่หมด ปัจจุบันนี้เราไม่รู้เลยว่ามันมีเยอะแค่ไหน"นายสนธิกล่าว


 


ด้านนายสมาน ตั้งทองทวี รองผู้ว่าการ(กิจการพิเศษ) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า การที่ชาวบ้านเก็บตัวอย่างอากาศไปตรวจสอบเป็นเรื่องควรสนับสนุน แต่สารพิษที่ละเอียดอ่อนบางตัวตรวจสอบลำบากและเครื่องมือที่ชาวบ้านใช้อาจไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม มาตรฐานโรงงานในนิคมมาบตาพุดนั้นเข้ามาตรฐานสากล แต่ชาวบ้านยังติดภาพปีศาจของโรงงานเมื่อครั้งที่เกิดปัญหาเมื่อปี 2540


 


รศ.ดร.สุชาตา ชินะจิตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เสนอว่า เรื่องการเข้าถึงข้อมูลของชาวบ้านเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นควรมีการศึกษาว่าระบบข้อมูลนั้นมีหรือไม่ อยู่ที่ไหน และควรผลักดันให้เกิดเครื่องมือที่จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น เช่น PRTR ซึ่งเป็นการกำหนดสารพิษจำนวนหนึ่งที่โรงงานจำเป็นต้องรายงานต่อสาธารณะ โดยในประเทศญี่ปุ่นได้ผลักดันเป็นกฎหมายแล้ว


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net