Skip to main content
sharethis


นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "การสร้างความสมานฉันท์ และร่วมกันฟื้นฟูท้องถิ่นภาคใต้" ในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ ประจำปี 2548 จัดโดยภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 29 กันยายน 2548 ที่โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีเนื้อความ ดังนี้...


 


ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 800 - 900 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 800 - 900 ราย มีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก และยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกมากมาย เป็นสถิติที่ไม่น่าภาคภูมิใจ แม้ในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้จะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นมาต่อเนื่อง แต่ก็เป็นในลักษณะประปราย ซึ่งน้อยกว่าช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา คำถามก็คือเป็นเพราะอะไรและจะแก้ปัญหากันอย่างไร


 


เป็นหน้าที่ของ กอส.ที่จะต้องหาคำตอบให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วก็สร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นมา สมานฉันท์ทั้งเรื่องในของศาสนาและประชาชน กอส.มีกรรมการ 2 คนที่เป็นพระ คนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ และอีกคนหนึ่งเป็นพระนักคิดนักเขียน นอกจากนี้ก็ยังมีผู้นำศาสนาอิสลาม ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ


 


กอส.ต้องสะท้อนความหลากหลายมีอยู่ในพื้นที่ แต่เราไม่ใช่หน่วยงานบริหาร ไม่มีอำนาจทางกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น


 


กอส.มีหน้าที่เสนอแนะหาต้นเหตุที่เป็นรากเหง้าของปัญหา และนำเสนอต่อรัฐบาลที่มีอำนาจทางการบริหารและนิติบัญญัติถูกต้องตามกฎหมาย ให้เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหา หากภายในระยะเวลา 2 ปีนี้ความรุนแรงยังไม่ลดลง ก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประชาชนและภาคใต้ของเรา


 


จากปัญหาดังกล่าวทำให้มีประชาชนอพยพออกนอกพื้นที่แล้วนับหมื่นคน ไม่เฉพาะ 131 ชาวไทยมุสลิมที่หลบหนีเข้าประเทศมาเลเซีย ยังมีประชาชนอีกมากที่หนีออกนอกพื้นที่รวมทั้งมาที่หาดใหญ่นี้ด้วย แสดงให้เห็นความหวาดกลัวของประชาชน


 


ในอีก 3 - 4 เดือน จะทำรายงานเสนอไปยังรัฐบาลถึงข้อสรุปของ กอส. ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของรัฐบาล แต่อยากให้สังคมร่วมกันคิด เพราะ กอส.ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่สังคมต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ


 


ในแอฟริกาใต้ซึ่งเคยเกิดความวุ่นวายมาก่อน เมื่อเหตุการณ์สงบก็มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อคั้นหาความจริงและสมานฉันท์ขึ้นมา แม้แต่ประธานาธิบดีบุชของหสรัฐอเมริกาก็ออกมาขอโทษกรณีที่การให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกพายุแคทริน่าไม่ดีพอ


 


เพราะฉะนั้นใน 9 มาตรการหลัก 14 ข้อ ที่ กอส.เสนอต่อรัฐบาล ก็คือการเปิดเผยความจริงขึ้นมาและพร้อมที่จะรับผิดชอบ มาตรการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องรายวัน นโยบายที่รัฐบาลจะให้แก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเป็นนโยบายที่ดีไม่ใช่นโยบายรายวัน ต้องทำต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ต้องแน่ใจว่าไม่ไปซ้ายไปขวา และรัฐบาลต้องพร้อมสำหรับการให้อภัย


 


การให้อภัยจะเกิดไม่ได้ตราบใดที่ประชาชนยังข้องใจในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งการไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งรัฐบาลต้องกล้าเปิดเผยความจริง ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนและต้องรับผิดชอบ ที่ผ่านมามีแต่ผู้รับชอบไม่มีใครกล้ารับผิดและไม่เคยมีการแสดงความเสียใจ


 


การดำเนินการด้วยสันติวิธี ซึ่งสันติวิธีไม่ใช่การยอมจำนนต่อความรุนแรง แต่เป้นกระบวนการหนึ่งของการแก้ปัญหาความรุนแรง


 


การสร้างความทรงจำและการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์ไม่ใช่การบันทึกเหตุการณ์เชิงสถิติว่า เกิดกี่ครั้ง มีคนตายเท่าไหร่ แต่ประวัติศาสตร์คือการอธิบายเหตุการณ์ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไร และมีผลกระทบอย่างไร ไม่ใช่การแจ้งเหตุการณ์ ถ้าเป็นเช่นนี้แน่นอนความรุนแรงลดลง ความสมานฉันท์เกิดขึ้น


 


ความทรงจำไม่ใช่ในเรื่องของการสร้างความเคียดแค้น แตเป็นการทำความเข้าใจเหตุการณ์


 


ในเรื่องความมั่นคง ช่วงหลังๆ เมื่อพูดถึงความมั่นคง คนจะนึกถึงความมั่งคงของรัฐอย่างเดียว ซึ่งเป็นความคิดที่แคบ โดยมองว่าเป็นความมั่นคงระหว่างประเทศกับประเทศ เป็นการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ หรือเป็นหน้าที่ของตำรวจกับทหารเท่านั้น


 


แต่ในกฎบัตรข้อแรกของสหประชาชาติไม่ได้พูดถึงรัฐเลย เพราะความมั่นคงนั้นหมายถึงการรักษาความมั่นคงให้กับประชาชน เพราะฉะนั้นรัฐต้องรับผิดชอบในการรักษาความมั่นคงให้กับประชาชน ต้องดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งในภาคใต้ของไทย รัฐยังดูแลไม่สมบูรณ์ นั่นคือการสร้างความมั่นคงให้มนุษย์


 


ในภาคใต้หากรัฐไม่เปิดเผยความจริงให้ทันเวลา อาจทำให้รัฐเสียเปรียบกลุ่มกองโจร เพราะประชาชนไม่เชื่อถือ ไม่ศรัทธารัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนก็ไม่พร้อมที่จะเปิดเผยความจริงตามที่เขารู้ เพราะกลัว เราเรียกร้องให้ประชาชนเปิดเผยข้อมูล แต่รัฐเองก็ไม่เปิดเผยความจริงออกมา เขาก็ไม่กล้าพอแน่นอน


 


ภาคใต้ในขณะนี้ตกอยู่ในบรรยากาศแห่งความกลัว ไทยพุทธก็กลัว ไทยมุสลิมก็กลัว เพราะฉะนั้นต้องเร่งให้ประชาชนมีความเชื่อถือรัฐก่อน จึงจะแก้ปัญหาได้


 


ขอชมเชยเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยที่รับผิดชอบแก้ไขวิกฤติที่บ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่ใช้ขันติธรรมในการแก้ไขปัญหาโดยไม่ยอมเดินเข้าหลุมพรางที่คนร้ายขุดวางไว้


 


วันนั้นหากเจ้าหน้าที่ตัดสินใจเข้าจู่โจม ซึ่งมองตามศักยภาพแล้วก็สามารถทำได้ แต่ผลที่ตามมาอาจจะเป็นอีกแบบ เหมือนกับดุซงญอ ตากใบ หรือกรือเซะ เพราะเข้าใจว่าอย่างไรแล้วทหารนาวิกโยธินทั้ง 2 นายก็คงไม่รอด เมื่อเกิดการยิงกันขึ้น เหตุการณ์ก็จะยิ่งโกลาหล และอาจมีการตายมากขึ้น ทั้งเด็กและผู้หญิง


 


จริงอยู่การสูญเสียทหารนาวิกโยธินทั้ง 2 นายเป็นสิ่งที่น่าเสียใจและน่าสลด แต่เราต้องเข้าใจว่า คนที่ก่อเหตุต้องการสร้างความหวาดกลัว และแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่สามารถให้ความปลอดภัยแก่ประชาชนได้ จนต้องพึ่งเขา ฉะนั้นเราต้องรู้เท่าทันและอย่าตกหลุมพราง


 


เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีคดีอุกฉกรรจ์จำนวนถึง 85% ที่รัฐบาลไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ มีเพียง 15% เท่านั้นที่รู้ว่าใครทำจนนำมาสู่การจับกุมผู้ก่อเหตุ แต่ในจำนวนดังกล่าว มีหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่จับผิดตัวจนต้องปล่อยไปในที่สุดเนื่องจากไม่มีหลักฐานเอาผิด


 


จากการลงพื้นที่และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่าส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและพอเพียงอิงอยู่กับหลักธรรมในศาสนาอิสลาม ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าวิถีชีวิตดังกล่าวสอดคล้องกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงชี้แนะให้พสกนิกรดำรงตนตั้งอยู่บนความพอเพียงไม่ฟู่ฟ่าหรูหรา ประกอบสัมมาอาชีพอย่างพออยู่พอกิน


 


แต่ก็พบว่าประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังยากจนมากกว่าพื้นที่อื่น ได้รับโอกาสน้อยกว่าพื้นที่อื่น เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่สืบทอดวิถีชีวิตตามหลักศาสนาที่บรรพบุรุษได้ปูแนวทางไว้ ซึ่งตรงกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมากที่สุด ไม่คิดที่จะใช้เงินเกินเหตุ มีชีวิตอยู่อย่างสมถะ พอดี พอใจ และพอเพียงในสิ่งที่มีอยู่


 


แต่กระแสทุนนิยม บริโภคนิยม ทำให้วิถีชีวิตดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป บางพื้นที่มีการแย่งชิงทรัพยากรกันอย่างหนักระหว่างชาวบ้านกับนายทุนผู้มีอิทธิพล ดังนั้นการใช้นโยบายแก้ปัญหาในพื้นที่นี้ควรต้องมีการคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมากับแนวทางทุนนิยมด้วย เพราะเรื่องการค้าเสรีนั้น บางพื้นที่ก็สามารถทำได้ แต่อาจสร้างปัญหาให้อีกบางพื้นที่ ต้องแยกแยะให้ถูก


 


รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงและได้รับบริการในเรื่องที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมาหากิน เข้าถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนา การดำเนินชีวิตและอนาคตของตนเอง ให้ชุมชนได้มีโอกาสจัดการปัญหาของตนเองตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ม.56 ม.78 ซึ่งเชื่อว่ารัฐสามารถทำได้ อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่เท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net