Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 8 ก.ย.48        ในการประชุมคณะกรรมาธิการ่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.... ยังคงถกเถียงกันว่า "พื้นที่ป่าอนุรักษ์พิเศษ" หรือพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำเสนอนั้น สมควรกำหนดไว้ในกฎหมายหรือไม่


 


โดยที่ประชุมมีมติให้มีการโหวตเรื่องนี้อีกครั้งในวันพฤหัสบดีที่15 ก.ย.นี้ และมอบให้นายอภิวัฒน์ เศรษฐรักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หนึ่งในกรรมาธิการรวบรวมข้อมูลมานำเสนอให้ชัดเจนว่าพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ 19 ล้านไร่ที่ทส.ต้องการกันออกจากการจัดตั้งป่าชุมชนนั้นอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง และมีชุมชนตั้งอยู่ภายในนั้นจำนวนเท่าไร เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ


 


นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้นายพนัส ทัศนียานนท์ ส.ว.ตาก ไปทำการปรับปรุงถ้อยคำในมาตรา 23/1,23/2 ว่าด้วยการจัดตั้งและจัดการป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งนายพนัสเห็นว่ายังหละหลวมมานำเสนอในการประชุมคราวหน้า ซึ่งนายพนัสระบุว่าจะนำร่างทั้ง 3 ฉบับ คือของนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์และคณะ ร่างของนายอภิวัฒน์ เศรษฐรักษ์ และร่างของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา


 


"อย่างคำว่า "ดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง" (มาตรา23/1) กลายเป็นรู้โหว่เบ้อเริ่ม ถ้าคณะกรรมการป่าชุมชนจังหวัดที่พิจารณาอนุญาตไม่เอาใจใส่จริง มันก็จะเป็นปัญหาใหญ่ เปิดช่องให้ศรีธนญชัยไล่ชี้ป่าชุมชนทั้งที่จริงๆ ไม่ได้ทำ ผลที่สุดป่าก็หมด เราจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด"นายพนัสกล่าว


 


นายอภิวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ในเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษที่ไม่ต้องการให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนนั้น ในทางปฏิบัติทางทส.ได้คุยกับภาคประชาชนที่ได้เข้าพบกับรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าในการทำแนวเขตนั้นจะให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมด้วย อีกทั้งวานนี้ (7 ก.ย.) ที่ตัวแทนเครือข่ายป่าชุมชนเข้าพบอนุกรรมาธิการทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ก็มีการชี้แจงเรื่องนี้จนเป็นที่เข้าใจแล้วเช่นกัน


 


นายอภิวัฒน์ระบุด้วยว่า ในพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ 19 ล้านไร่นั้น ส่วนใหญ่แล้วไม่มีชุมชนอยู่ จะมีอยู่บ้างก็เป็นจำนวนน้อย โดยข้อมูลตามมติครม.31 มิ.ย.41 มีคนที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ รวมถึงป่าสงวน ราว 420,000 คน และในการสร้างป่าชุมชนนั้น ส่วนใหญ่ชุมชนจะเลือกพื้นที่ที่มีป่าอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งต่างๆ มีทั้งที่ดีและไม่ดี การเขียนเรื่องพื้นที่อนุรักษ์พิเศษจึงจะเป็นประโยชน์ในการรักษาป่าสมบูรณ์อย่างยิ่งยวด


 


ทั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมระบุตัวชี้วัดพื้นที่อนุรักษ์พิเศษที่ไม่ต้องการให้มีการอนุญาตจัดทำป่าชุมชนว่า 1. เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ 2.มีความหลากหลายทางชีวภาพ 3.เป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบาง ได้แก่ ความลาดชันสูง ดินง่ายต่อการพังทลาย และปริมาณน้ำฝนสูง 4.เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ 5. มีลักษณะเด่นของพื้นที่ เช่น ลักษณะเด่นทางธรณี เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์


 


คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการระบุพื้นที่อนุรักษ์พิเศษในร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน เพราะจะทำให้ประชาชนสับสน พอมีกระแสข่าวเรื่องนี้ชาวบ้านเป็นห่วงกันมากว่าพื้นที่ที่ชาวบ้านดูแลมายาวนานและเป็นป่าสมบูรณ์ รัฐบาลจะเอาพื้นที่ของเขามาทำพื้นที่อนุรักษ์พิเศษโดยกันชาวบ้านออกด้วยหรือไม่


 


น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน กล่าวว่า การกำหนดพื้นที่อนุรักษ์พิเศษไว้ในกฎหมาย เท่ากับเป็นการเขียนว่า "ห้ามขอ" ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างมาก ทางออกในเรื่องนี้จึงน่าจะเขียนในเชิงหลักการการอนุญาตให้จัดตั้งป่าชุมชนว่าจะ "ห้ามให้" ในกรณีใดบ้าง หรือหากทางทส.ยืนยันจะเขียนว่า "ห้ามขอ" ก็ต้องมีคำตอบชัดเจนว่าชุมชนที่ดูแลป่าสมบูรณ์มา 40-50 ปี จะมีส่วนร่วมในการกำหนดเขตอย่างไร และหากเขาขอให้ขยับการกำหนดเขตอนุรักษ์พิเศษ ทางกรมอุทยานฯ ก็ควรต้องยอม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net