Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 2 ก.ย.48        "ผมทำนายเลยว่าไม่เกิน 10 ปี ที่เหล่านี้ต้องเป็นของเอกชน นี่เป็นเรื่องอันตรายมากๆ"ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวระหว่างแถลงข่าวเกี่ยวกับโครงการซีฟู้ดแบงก์ของรัฐบาล


 


ศ.เสน่ห์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลทบทวนโครงการซีฟู้ดแบงก์ หรือ คลังอาหารทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เนื่องจากกระทบต่อฐานทรัพยากรของชาติ โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นฐานทรัพยากรเขตร้อนของโลกที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยทั้งโลกมีพื้นที่เช่นนี้เพียง 7% หากรัฐบาลสนับสนุนให้สถานศึกษาให้มีการวิจัยฐานทรัพยากรที่เรามี จะได้ทรัพย์สินทางปัญญามากมาย


 


"อยากให้สังคมเข้าใจ ไม่ใช่อะไรที่แจกคนจนแล้วจะชอบธรรมหมด แปลงสินทรัพย์เป็นทุนต้องไม่ใช่แปลงสาธารณสมบัติ อันเป็นสมบัติของแผ่นดิน เพราะนี่เป็นต้นทุนชีวิตของคนทั้งชาติ ถ้าผิดพลาด ก็เป็นความหายนะของคนทั้งชาติ "ศ.เสน่ห์กล่าว  


 


ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ (กอส.) สภาทนายความและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หารือกันเพื่อหาแนวทางในการเปิดให้ประชาชนมีสิทธิในการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพราะปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่ภาคใต้ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความรุนแรง


 


นายวสันต์ พานิช ประธานอนุกรรมการในทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเก็บข้อมูลและศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2547 กล่าวว่า ระบบเอกสารสิทธิและระบบเกษตรภายใต้สัญญาจ้าง หรือ คอนแท็คฟาร์มิ่ง ที่รัฐบาลสนับสนุนนั้น จะทำลายสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญและสร้างความแตกแยกให้ประชาชน เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายที่กรมประมงจะออกเอกสารสิทธิให้คือคนจนที่เข้าโครงการจดทะเบียนคนจน ซึ่งจะไปรุกรานกลุ่มประมงพื้นบ้านเดิม ซึ่งมีปัญหามากอยู่แล้วจนรายได้ไม่พอยังชีพ


                      


นายวสันต์กล่าวว่า  คณะกรรมการสิทธิฯ ได้สรุปข้อเรียกร้องของกลุ่มประมงพื้นบ้าน และขอเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประมงพื้นบ้านกลับมาประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 1. รัฐบาลควรจัดการมิให้มีการนำเครื่องมือประมง ซึ่งแย่งชิงทรัพยากรอย่างรุนแรงของเรืออวนรุน อวนลาก ตลอดจนเรือปั่นไฟปลากระตัก และ 2. รัฐบาลควรจัดการกับผู้บุกรุกทำลายป่าชายเลน และดำเนินการฟื้นฟูป่าชายเลนอันเป็นแหล่งผลิตและอนุบาลสัตว์น้ำโดยด่วน เพื่ออนุรักษ์ฐานทรัพยากรอันประเมินค่ามิได้


                                                 


ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมประมงระบุว่าโครงการซีฟู้ดแบงก์มีพื้นที่เป้าหมายจัดทำเอกสารสิทธิ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่ประชาชนจำนวน 284,492 ไร่ โดยประชาชนที่ขึ้นทะเบียนคนจนจะเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกที่จะให้สิทธิในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งต้องให้ชุมชนท้องถิ่นร่วมคัดเลือก ส่วนการทำระบบ Contract Farming นั้น องค์กรสะพานปลาจะจัดตั้งบริษัทภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ และทำสัญญากับแหล่งทุนเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับสินเชื่อ ร่วมกับกรมประมง ประชาคม และแหล่งทุนในการประเมินมูลค่าใบรับรองสิทธิเพื่อแปลงเป็นทุน


 


ความคืบหน้าล่าสุด นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองอธิบดีกรมประมง ระบุว่าดำเนินการสอบสวนสิทธิ์พื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ส่วนแผนงานในปีงบประมาณ 2549 นั้น จะเร่งผลักดันเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลาในกระชัง รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยในพื้นที่ชายฝั่งทะเลจำนวน 10,000 ราย เข้าสู่โครงการแปลงสินทรัพย์ทุนกับสถาบันการเงิน โดยตั้งเป้าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 7,000 ราย รวมพื้นที่ประมาณ 50,000 ไร่ ซึ่งเกษตรกรแต่ละรายจะได้รับสินเชื่อประมาณ 100,000 บาท รวมเป็นวงเงินสินเชื่อประมาณ 700 ล้านบาท


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net