Skip to main content
sharethis

 








ประชาไท - 4 ส.ค.48        กระทรวงพาณิชย์เชิญเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานเลขานุการองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) มาบรรยายเกี่ยวกับบทบาทของดับบลิวทีโอ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่สื่อมวลชน ก่อนจะมีการประชุมบลิวทีโอรอบโดฮา (Doha Development Agenda) ที่ฮ่องกงในเดือน ธ.ค.นี้ โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมทั้งสิ้น 148 ประเทศ

แหล่งข่าวจากดับบลิวทีโอคนดังกล่าวระบุว่า การเจรจารอบนี้จะเป็นการมุ่งประเด็น ไปยังประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งในเรื่องเป้าหมายยังมีความขัดแย้งกัน แม้ในประเทศกำลังพัฒนาเองก็มีความแตกต่างกัน บางกลุ่มเน้นการตั้งกำแพงภาษีเพื่อปกป้องเกษตรกรภายในประเทศของตน บางกลุ่มเน้นการส่งออกและต้องการให้ประเทศคู่ค้าลดกำแพงภาษี ซึ่งไทยในจัดอยู่ในประเภทหลังนี้ การเจรจาจึงยังคงมีความยืดเยื้อเรื่อยมา โดยส่วนใหญ่แล้วการติดขัดในการเจรจาอยู่ในลักษณะประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศพัฒนาแล้วขัดกันเองภายในกลุ่ม


 


นอกจากนี้ดูจากประวัติศาสตร์การเจรจารอบอุรุกวัยแล้วมีความล่าช้าไปกว่า 3 ปี ซึ่งก็มีแนวโน้มที่รอบโดฮา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2544 และยังเจรจาอยู่จนถึงขณะนี้อาจจะมีความล่าช้าไปด้วย ดังที่เมื่อเร็วๆ นี้นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ผู้อำนวยการดับบลิวทีโอเองก็ส่งสัญญาณเตือนแล้วว่าการเจรจารอบโดฮานี้กำลังอันตราย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งทำงานอย่างรวดเร็วมากขึ้น


 


แหล่งข่าวจากดับบลิวทีโอยังระบุถึงเหตุของสัญญาณเตือนดังกล่าวด้วยว่า เพราะการเจรจาในเวทีดับบลิวทีโอมีความซับซ้อน อีกทั้งมีการเจรจา 2 ระดับคู่กันตลอดทั้งทางเทคนิคและทางการเมือง ซึ่งในส่วนของสินค้าเกษตรนั้น ปัญหาเทคนิคใหญ่ว่าด้วยการอุดหนุนการส่งออก การอุดหนุนภายใน และการเปิดตลาดโดยลดกำแพงภาษีนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าจะใช้สูตรใด ดังนั้น การเจรจาในทางการเมืองซึ่งจะต้องทำในช่วงเดือน ก.ค.- ธ.ค.นี้ก่อนที่จะมีการเจรจาอย่างเป็นทางการที่ฮ่องกง คงต้องทำงานหนักขึ้น เพราะต้องเร่งในส่วนของเรื่องเชิงเทคนิคที่ยังไม่เสร็จสิ้นด้วย


 


นายการุณ  กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แม้แต่ละประเทศจะหาข้อตกลงร่วมกันได้ในเรื่องภาษี แต่ก็ยังมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี( NTBs ) อื่นๆ อีกมาก ส่วนความล่าช้าของการเจรจาในเวทีดับบลิวทีโอเป็นเพราะการตัดสินใจทางการเมืองจะเป็นตัวกำหนดเทคนิคต่างๆ แล้วโดยปกติประเทศใหญ่มักจะไม่กล้าแบไพ่จนนาทีสุดท้าย ซึ่งทำให้ประเทศเล็กๆ ลำบากและการเจรจาเป็นไปอย่างล้าช้า จนหลายประเทศหันมาเจรจาแบบทวิภาคี


 


ปลัดกระทรวงกล่าวว่า เมื่อเวทีดับบลิวทีโอล่าช้า ฝ่ายนโยบายจึงเร่งการเจรจาเป็นรายประเทศ และขณะนี้ทางกระทรวงพาณิชย์กำลังร่างยุทธศาสตร์ใหม่ที่จะเน้นภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาการเจรจาเขตการค้าเสรีทวิภาคี (เอฟทีเอ) กับสหรัฐก็รู้แล้วว่าลำบาก เพราะมีประเด็นมากมาย หากสร้างฐานในอาเซียนได้ จะสร้างอำนาจต่อรองได้มากขึ้น


 


"การทำข้อตกลงแบบทวิภาคีประเทศที่จะได้เปรียบที่สุด คือ ประเทศใหญ่ที่สุด เพราะเขาจะบังคับได้ทีละประเทศๆ โดยเขาไม่สนใจประเทศเล็กๆ แค่ประเทศหลักยอมรับซัก 20-30 ประเทศก็โอเคแล้ว ในที่สุดมันก็อาจถึงยุคที่จะกลับไปสู่พหุภาคีอีกทีหนึ่ง หลังจากไปถึงระดับหนึ่ง เพราะเวลานี้โลกมันเป็นอำนาจเดี่ยว ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดกติกาโลกทั้งหมด"


 


ขณะที่แหล่งข่าวจากดับบลิวทีโอคาดว่า หากมีการทำเอฟทีเอเพิ่มมากขึ้น จะเป็นแรงกดดันให้ต้องนำเรื่องเข้าในเวทีดับบลิวทีโอมากขึ้น อีกทั้งแหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาสหรัฐไม่ค่อยสนใจเวทีเจรจาของดับบลิวทีโอ เพราะมัวผลักดันเขตการค้าเสรีอเมริกากลาง จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้กฎหมายเขตการค้าเสรีอเมริกากลางของสหรัฐเพิ่งผ่านสภา ดังนั้น ต่อไปนี้สหรัฐน่าจะเจรจากับไทยได้คล่องขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสนใจดับบลิวทีโอน้อยลงหรือไม่


 


"ข้อดีของการเจรจาแบบพหุภาคีของดับบลิวทีโอก็คือ มันเป็นตำราเล่มเดียวสำหรับทั้งโลก ขณะที่เอฟทีเอมีตำราเป็น 100 เล่ม และการเจรจาแบบพหุภาคียังสามารถสร้างพันธมิตรที่จะมีอำนาจต่อรองได้ดีกว่าอีกด้วย" แหล่งข่าวจากดับบลิวทีโอกล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net