Skip to main content
sharethis







      


 


 


 



 


 


 


ที่ผ่านมามีการคำนึงถึงเรื่องมนุษยชนมากจนเกินไป


 


พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี  รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) สนับสนุนการออกพระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เนื่องจากเห็นว่า เป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ไขปัญหาในภาคใต้ และรัฐบาลต้องการรักษาความสงบและความมั่นคงภายในประเทศ 


 


พล.อ.พัลลภยังมั่นใจว่า พระราชกำหนดดังกล่าว จะสามารถให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ แต่ต้องให้เวลารัฐบาลด้วยเพราะปัญหา ภาคใต้ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นแต่เกิดขึ้นมานานมากแล้ว


 


ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายวิตกกังวลกฎหมายฉบับดังกล่าว จะเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชนนั้น หากเปรียบเทียบระหว่างสิทธิมนุษยชนกับการรักษาความมั่นคงภายในประเทศแล้ว น่าจะเลือกการรักษาความมั่นคงของชาติมากกว่า และเห็นว่าที่ผ่านมามีการคำนึงถึงเรื่องมนุษยชนมากจนเกินไป จึงทำให้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดเป็นปัญหาใหญ่และลุกลามมากขึ้น 


 








รัฐบาลต้องตอบคำถามว่า เหตุใดต้องรีบเร่งออกกฎหมายฉบับดังกล่าว


 


น.พ.เหวง  โตจิราการ  ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการออกพระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับนี้โดยเร่งด่วน เนื่อง จากเห็นว่าเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วทั้งประเทศ ทั้งเป็นการทำลายสิทธิของประชาชนในพื้นที่และในอาคารสถาน และเป็นการสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง


 


น.พ.เหวง เรียกร้องรัฐบาลระหว่างร่วมเสวนา "การคัดค้านการออกพระราชกำหนดเผด็จการยุคใหม่" ว่า รัฐบาลต้องตอบคำถามว่า เหตุใดต้องรีบเร่งออกกฎหมายฉบับดังกล่าว ทั้งที่รัฐบาลประกาศเสมอว่า สามารถควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ได้


 


อย่างไรก็ตาม น.พ.เหวง เห็นว่า รัฐบาลควรใช้อำนาจนิติบัญญัติ  มากกว่าการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาดังเช่นที่ผ่านมา


                     


 


 


         


 









 


 


 



พระราชกำหนดดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาพื้นที่ภาคใต้อย่างผิดวิธี


 


นายสุวิทย์ วัดหนู ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป. ตั้งข้อสังเกต กรณีการออกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ว่า พระราชกำหนดดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาพื้นที่ภาคใต้อย่างผิดวิธี  


 


นายสุวิทย์เห็นว่า  รัฐบาลควรประเมินปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่าอยู่ในระดับใด ทั้งต้องอธิบายให้สังคมมีความชัดเจนก่อนการกำหนดใช้ เพราะส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเจตนา รวมถึงผลกระทบของ กฎหมายฉบับดังกล่าว


 


เนื่องจากข้อบังคับของ พ.ร.ก. เปรียบเสมือนการใช้อารมณ์กำหนดหลักเกณฑ์มากกว่าเหตุผล ซึ่งขัดแย้งตามหลักสันติวิธีของรัฐบาล สำหรับเหตุผลที่ ครป. ต้องการให้รัฐบาลชี้แจงหลักเกณฑ์ ของ พ.ร.ก. อย่างชัดเจนนั้น เนื่องจากเกรงว่า กฎหมายดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุที่นำสถานการณ์ไปสู่ระดับความรุนแรงที่มากขึ้น เพราะคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนร้ายทั้งหมด เปรียบเสมือนการลิดรอนสิทธิมนุษยชน


 


ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ยังกล่าวด้วยว่า หากพระราชกำหนดดังกล่าวแล้วเสร็จ สิ่งที่รัฐบาลควรคำนึงมากที่สุด คือ เรื่องของอำนาจเจ้าหน้าที่ของผู้ปฏิบัติใช้ โดยจะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจอย่างถูกวิธี ซึ่งหากนำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ พระราชกำหนดก็จะไม่มีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาอย่างแน่นอน


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net