Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ- 12 ก.ค.48 "ผมมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยพื้นฐานยังเข้มแข็ง วันนี้เพียงแต่หยอดน้ำมันอีกนิดเดียวก็วิ่งฉิว" พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในการแถลงนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเร่งด่วนของประเทศ ในงานกาล่าดินเนอร์ครบรอบ 72 ปี มงฟอร์ตวิทยาลัย ณ หอประชุมกองทัพเรือซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางช่องโมเดิร์นไนน์ และเป็นที่จับตาดูของประชาชนรวมถึงสื่อมวล ชนทั่วไป ในสภาวะที่เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจที่กำลังถดถอย

พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมรับว่า แม้เศรษฐกิจไทยในระดับมหาภาคจะมีเสถียรภาพดี แต่ปัญหาสำคัญขณะนี้คือ ราคาน้ำมันที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างมาตรการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้ประชาชน

ในส่วนของมาตรการเพิ่มรายได้นั้น นายกรัฐมนตรีระบุว่าจะมีการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการทุกระดับชั้น 5% พร้อมทั้งปรับขึ้นเงินตอบแทนข้าราชการบำนาญในอัตราเดียวกัน เริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยใช้งบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท

มาตรการต่อมา จะให้คณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วยภาครัฐ เอกชน และลูกจ้าง หารือกันเพื่อเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้ผู้ใช้แรงงาน โดยพ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่าเบื้องต้นมีการหารือกันว่าอาจจะเพิ่มขึ้น 6 บาทสำหรับแรงงานไร้ฝีมือ ขณะที่แรงงานชั้นอื่นนั้นรัฐบาลจะสร้างแรงจูงใจให้เอกชนฝึกอบรมแรงงานให้มีความชำนาญมากขึ้น เพื่อจะได้ค่าตอบแทนมากขึ้น โดยที่นายจ้างสามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมมาลดหย่อนภาษีได้ 200 %

นอกจากนี้ยังจะสร้างแรงจูงใจแก่ภาคธุรกิจเอกชนในการเพิ่มเบี้ยยังชีพให้แก่ลูกจ้างพนักงานที่เงินเดือนน้อย โดยคนที่ได้รับเงินเดือนไม่ถึง 10,000 บาทจะปรับเพิ่มขึ้น 1,000 บาท แต่หากเพิ่มแล้วยังไม่ถึง 7,000 บาทก็จะขอให้เพิ่มจนถึง 7,000 บาท โดยเงินส่วนที่เพิ่มนี้นายจ้างนำมาลดหย่อนภาษีได้ 150% แต่ห้ามเปลี่ยนเงินเดือนเป็นเบี้ยยังชีพ

ในส่วนของคนชรา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6 ล้านคนนั้น นายกรัฐมนตรีระบุว่า ในจำนวนนั้นเป็นผู้ยากไร้ประมาณ 1.1 ล้านคนและได้รับเบี้ยเลี้ยงอยู่ 300 บาทต่อเดือนต่อคน เพียง 500,000 คนหรือครึ่ง หนึ่งเท่านั้น แต่รัฐบาลจะขยายเบี้ยเลี้ยงให้ครบทั้งหมด

ขณะที่เงินเดือนของอาสาสมัคร (อสม.) ที่ทำงานกับภาครัฐจากเดิมได้รับรับปีละ 7500 ในปีหน้าเพิ่มให้เป็น 10,000 บาท และจะประสานกับองค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อหาทางจัดเงินสนับสนุนการทำกิจกรรมของแม่บ้านหมู่บ้านต่างๆ พัฒนาสินค้าโอท็อป

ที่สำคัญยังมีการจัด "งบประมาณภาคประชาชน" ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย โดยจะจัดงบประมาณแก่คณะกรรมการหมู่บ้านโดยตรง หมู่บ้านละ 250,000 บาท เพื่อบริหารจัดการแก้ปัญหาและสร้างรายได้ให้กับตนเอง ใช้งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

ในภาคเกษตรโดยเฉพาะเรื่องข้าว จะมีการเชิญรัฐมนตรีในประเทศที่ทำการผลิตข้าวมาหารือเพื่อต่อรองดึงราคาข้าวให้สูงขึ้น ดังเช่นกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ส่วนเรื่องกุ้งซึ่งเป็นสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญนั้น นายกรัฐมนตรีระบุว่าได้หารือกับนางสาวคอนโดลิซซา ไรซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐแล้วคาดว่าจะมีการทบทวนเรื่องเอดีกุ้ง มีผลในเดือนก.ย.นี้ และสหภาพยุโรปก็รับจะให้สิทธิพิเศษทางภาษีเรื่องกุ้งเช่นกัน

นอกจากนี้ยังระบุถึงมาตรการปล่อยเม็ดเงินออกสู่ระบบ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังคงค้างอยู่ 3.7 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ย้ำไปยังปลัดกระทรวงและอธิบดีกรมต่างๆ ว่าหากระบายงบไม่ออกถือว่าไร้ประสิทธิภาพอย่างรุนแรง แต่หากใช้ไม่ทันจริงๆ ก็ขอคืนเพื่อจัดการใหม่ เช่นนี้แล้วเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจึงไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน

อีกทั้งจะให้มีการจัดจ้างงานในชนบท โดยใช้งบการผู้ว่าซีอีโอ งบท้องถิ่น และงบกลาง พัฒนาให้เกิดการจ้างงาน เช่น การปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว ขณะที่บรรดาผู้รับเหมาในโครงการของรัฐ หากดำเนินการเสร็จ สามารถใช้แบงก์การันตรีเบิกจ่ายเงินได้เลยโดยไม่ต้องรอตามขั้นตอนของระบบราชการ

ในส่วนของการลดรายจ่ายของประชาชนนั้น นายกรัฐมนตรีระบุว่าปัญหาน้ำมันเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าเกือบทั้งหมด ทำให้มีราคาสูงกว่ามาเลเซีย อย่างไรก็ตาม นอกจากการณรงค์ให้มีประหยัดภายในประเทศแล้ว ยังได้หารือกับทั้งผู้นำจีน ผู้นำภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงรมว.ต่างประเทศสหรัฐ เพื่อให้ร่วมมือกันชะลอการเก็งกำไรของเฮ็ดจ์ฟัน ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาน้ำมันแพงและเป็นอันตรายต่อประเทศกำลังพัฒนามาก

"สำนักงานสถิติพบว่าประชาชนไม่ขัดข้องเลยในมาตรการประหยัดน้ำมัน เวลานี้กทม.จะเปิดขายเอ็นจีวีมากขึ้น กำลังจะเปลี่ยนรถบรรทุก รถเมล์ และอีกมากมาย เพื่อลดการนำเข้าน้ำมัน และเรื่องไบโอดีเซล กำลังทำเป็นร่ำเป็นสัน ถ้าพื้นที่ในไทยไม่พอปลูก ประเทศเพื่อนบ้านเขาเต็มใจ พยายามเร่งให้เร็วที่สุด" นายกรัฐมนตรีระบุ

ขณะเดียวกันโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคก็จะขยายบริการเพิ่มขึ้น โดยนายกรัฐมนตรียืนยันหนักแน่นว่าไม่มีการรวมกองทุนด้านสวัสดิการทั้ง 4 กองทุนตามที่เป็นข่าวและเป็นกังวลกันอย่างแน่นอน หากแต่ต้องรวมระบบรายจ่ายเป็นหนึ่งเดียวเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้บริการ

ส่วนโครงการเมกกะโปรเจ็คท์ นั้นพ.ต.ท.ทักษิณยืนยันว่า เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งโครงการเกี่ยวกับน้ำ รถไฟฟ้า

ท้ายที่สุดนายกรัฐมนตรีได้ขอเรียกร้องให้ประชาชนชาวไทยเชื่อมั่นในประเทศของตนเอง

"ไม่ต้องรักผม ไม่ต้องชอบผม แต่ขอให้รักประเทศของตัวเอง ผมมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยพื้นฐานยังเข้มแข็ง วันนี้เพียงแต่หยอดน้ำมันไปอีกนิดเดียวก็วิ่งฉิว ขออย่างเดียวอย่าท้อถอย อย่าท้อใจ ผมพูดไปนี่ก็เตือนตัวเองด้วย" นายกรัฐมนตรีกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net