Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 4 มิ.ย. 48 "ระหว่างสื่อกับรัฐต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน แต่รัฐต้องการให้สื่อเสนอข้อมูลของฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว ขณะที่สื่อต้องเสนอข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน และสมดุล ทุกวันนี้บทบาทของสื่อถูกขัดขวางการทำงาน ซึ่งความจริงแล้วการรายงานจะต้องมีระบบ ทั้งฝ่ายรัฐและสื่อต้องประสานกัน" นายกวี จงกิจถาวร อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าว

เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดอภิปรายถกประเด็นเรื่อง "การจัดการสถานการณ์วิกฤติของรัฐและสื่อมวลชน" ระหว่าง นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี และนายกวี จงกิจถาวร อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตัวแทนฝ่ายสื่อมวลชน โดยมีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายกวี กล่าวต่อว่า "สื่อต้องการอิสระเสรี มีวิจารณญาณและความรับผิดชอบสูงสุด ซึ่งสื่อ
สามารถทำกันเองได้ แต่ปัญหาคือเมื่อรัฐเข้ามากลับเกิดสิ่งตรงกันข้าม โดยพยายามปิดบังในการทำงานเฉพาะกิจต่างๆ ซึ่งข่าวจำเป็นต้องสื่อสารข้อมูลอย่างเปิดเผย และรัฐต้องเคารพในในบทบาทนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม นายกวี ได้เสนอความหลากหลายเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อสื่ออีกด้วย โดยแบ่งสื่อเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทแรกชอบความหวือหวา เหมารวม เร้าใจ ประการต่อมาคือ สะท้อนความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าของท้องถิ่นนั้นเพียงอย่างเดียว ประเภทสุดท้ายต้องการอธิบายทุกอย่าง โดยเข้าใจสถานการณ์ แต่ประเภทหลังนี้มีเป็นส่วนน้อย ซึ่งสื่อเองก็จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเช่นเดียวกัน

"ในยามวิกฤติสื่อถูกต่อว่าว่าทำยุ่งและต้องการข่าวเพียงอย่างเดียว โดยไม่ดูว่ามีผลเสียอย่างไรหรือไม่ ส่วนบทบาทการแก้ปัญหาของสื่อถ้าจะแก้ปัญหาในระดับเดียวกับรัฐบาล ก็จะยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะรัฐบาลมีอำนาจสูงสุดในการปกครอง ขณะที่สื่อมีหน้าที่เสนอข่าวและให้ข้อมูลทั้งในยามปกติและยามวิกฤติ" นายกวี กล่าว

ทั้งนี้ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า สื่อต้องได้ข้อมูลที่ถูกต้องรวดเร็วจากฝ่ายรัฐ โดยรัฐและสื่อต้องแลกเปลี่ยนและเคารพกันและกันด้วย โดยต้องนำเสนอข้อมูลข่าวอย่างถูกต้อง ซื่อตรง และสมดุล ซึ่งรัฐกับสื่อนั้นความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ด้านนายจาตุรนต์ มองว่า "บทบาทของฝ่ายรัฐคือความเป็นจริงและสื่อเอาไปเผยแพร่ต่อ การที่สื่อผสมความเห็นเข้าไปด้วยนั้นอาจเป็นการช่วยให้เหตุการณ์ดีขึ้นหรือว่าซ้ำเติมก็ได้ ถ้าจะแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างรัฐกับสื่อก็จะเกิดประโยชน์มาก โดยรัฐต้อง ไม่ออกกฎหมายมาจำกัดกฎเกณฑ์ของสื่อ หากแต่การได้สื่อสารแลกเปลี่ยนกันคือประโยชน์สูงสุด"

ขณะเดียวกัน นายจาตุรนต์ เห็นว่า ข่าวที่ออกมานั้นไม่ได้หมายความว่าคือสิ่งที่เกิดขึ้นเอง แต่มีเหตุการณ์มารายงาน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าแล้วแต่สื่อจะเลือกเหตุการณ์และแง่มุมใดในการนำเสนอ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการใช้คำอยู่ด้วย โดยนายจาตุรนต์ ตั้งคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องใช้ถ้อยคำนั้นๆ

นอกจากนี้ นายจาตุรนต์ มองสถานการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ว่า ในกระบวนการแก้ปัญหา สื่อสมควรที่จะต้องปรับแนวทางเสนอข่าว เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น อีกส่วนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็ต้องที่จะสามารถเข้าใจได้ว่าปัญหาภาคใต้ว่าไม่เป็นเหมือนอาชญากรรมทั่วไป หรือเป็นสิ่งที่ประเทศไทยเองเลือกไม่ได้ ซึ่งแท้จริงแล้วปัญหาภาคใต้ไม่ใช่อาชญากรรมปกติ แต่มีหลายมิติอยู่ในนั้นและมีความซับซ้อนอยู่

"แง่มุมและการนำเสนออะไรต่อสังคมนั้น ต้องคำนึงถึงว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด ผมไม่ได้บอกว่าหน้าที่ของสื่อกับรัฐต้องเท่ากันหรือเป็นสิ่งเดียวกัน แต่สุดท้ายต้องมีจุดร่วมกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างต้องการทำสิ่งที่ดีที่สุดแก่ประเทศ" รองนายกฯ กล่าวทิ้งท้าย

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net