Skip to main content
sharethis

ประชาไท-30 มิ.ย. 48 "อลงกรณ์" แย้งร่างเดิมพ.ร.บ.ป่าชุมชนมาตรา 18 อาจเอื้อกลุ่มไม่หวังดีขอจัดตั้งป่าชุมชนซ้ำซ้อน เสนออำนาจวินิจฉัยให้กรรมการระดับจังหวัด-ชาติ

ที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนวันนี้ ได้หารือถึงมาตราที่ 18/1 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการขอจัดตั้งป่าชุมชุน โดยที่ประชุมได้หารือว่าหากมีผู้ยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนซ้อนกัน และไม่สามารถตกลงกันได้จะทำอย่างไร โดยในขั้นต้นที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า อาจพิจาณาให้คำร้องตกไปจนกว่าทุกชุมชนจะหารือกันได้

อย่างไรก็ตาม นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในกรรมาธิการ แย้งว่า แนวทางดังกล่าวแม้จะมีหลักการที่ดี แต่หากมีผู้ไม่หวังดีที่ไม่ต้องการให้เกิดป่าชุมชน ไม่ว่าจะเป็นนายทุน ผู้มีอิทธิพล หรือจะให้ร้ายหน่อยก็คือเจ้าหน้าที่รัฐเอง ก็สามารถใช้ช่องโหว่กฎหมายนี้ปลุกปั่นชาวบ้านไม่ให้ตกลงกันได้ ป่าชุมชุนก็จะไม่มีทางเกิดได้ จึงควรหามาตรการรองรับ

พร้อมกันนั้นได้เสนอให้ คณะกรรมการป่าชุมชนจังหวัดเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดในกรณีที่ชาวบ้านยื่นขอจัดตั้งป่าชุมชนแล้วตกลงกันไม่ได้ ซึ่งอาจจะให้ตกไปหมดตามแนวทางเดิม หรือเลือกหมู่บ้านที่พร้อมที่สุดและเข้าหลักเกณฑ์ที่สุด ส่วนหมู่บ้านอื่นที่ไม่ถูกเลือก และเห็นค้านสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อได้ที่คณะกรรมการป่าชุมชนแห่งชาติ

ในท้ายที่สุดที่ประชุมเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว และมอบหมายให้ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมาธิการร่วม ร่วมกับนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และคณะกรรมการกฤษฎีกา ดำเนินการต่อในการร่างมาตราดังกล่าวเพื่อเสนอที่ประชุมในคราวหน้า

ด้านนายเดโช ไชยทัพ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวถึงแนวทางดังกล่าวของกมธ.ร่วมว่า โดยส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านในพื้นที่มีการจัดสรรและร่วมมือกันจัดการป่าอยู่แล้ว ไม่ค่อยมีปัญหาความขัดแย้งแย่งชิงพื้นที่ แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้กับพื้นที่ป่าชุมชนแห่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้คนยังไม่เข้าใจหลักการของป่าชุมชนดีพอ มาตรการที่กมธ.รองรับไว้ก็อาจช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะคณะกรรมการป่าชุมชนระดับต่างๆ ที่มีอำนาจวินิจฉัยก็มีสัดส่วนที่มีการถ่วงดุลกันพอสมควร

น.ส.ศยามล ไกรยูรวงศ์ นักพัฒนาเอกชนซึ่งเคยเป็นกรรมาธิการในการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ระบุว่า ไม่ขัดข้องในโครงสร้างของมาตราที่ร่างขึ้นมาใหม่นี้ เพราะคิดว่าไม่ต่างจากโครงสร้างเดิมมากนัก และโดยธรรมชาติกลุ่มคนก็ต้องมีการขัดแย้งกันอยู่แล้ว จึงเป็นบทเรียนที่ดีให้คนรู้จักรวมกลุ่ม และปรับตัวให้เคารพกฎของป่าชุมชนที่ตั้งขึ้น โดยกรรมการจะต้องมีบทบาทสำคัญในการที่จะทำให้มีการจัดการชุมชนของตนอย่างเข้มงวด

"ชาวบ้านอาจจะมีความรู้สึกบ้างว่ากฎเยอะ ขั้นตอนมาก ขณะที่คนร่างกฎหมายอาจจะกลัวมากเกินไป เนื่องจากชุมชนที่ขอยื่นเป็นป่าชุมชนนั้นต้องมีความพร้อมพอสมควร และต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบต่อไปอีกมากอยู่แล้ว" น.ส.ศยามลกล่าว

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net