Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษ

"ตอนนี้ ผมขอทดแทนคุณปลาบึกทั้ง 4 ตัวด้วยการส่งพวกมันกลับคืนสู่บ้านเกิดในธรรมชาติ เพื่อให้พวกมันได้แหวกว่ายในแม่น้ำอย่างเสรี และหวังว่ามันจะช่วยเพิ่มจำนวนประชากรปลาบึกในธรรมชาติ ซึ่งเป็นปลาเอกลักษณ์ของแม่น้ำโขงด้วย " นายอิง วันนาธ ชาวประมงเขมรที่จับปลาบึกได้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว กล่าว

วันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะตัวแทนของ WWF องค์กรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ระดับโลก ร่วมกับกรมประมง และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของประเทศกัมพูชา จัดพิธีปล่อยปลาบึกวัยเจริญพันธุ์ 4 ตัวคืนสู่แม่น้ำโขง ณ จุดที่แม่น้ำสายนี้เชื่อมต่อกับทะเลสาบเขมร (โตนเลสาบ) ในกรุงพนมเปญ เนื่องจากปลาบึกเป็นปลาเฉพาะถิ่นที่ใกล้สูญพันธุ์ถึงขั้นวิกฤติ และการปล่อยปลาบึกในครั้งนี้ยังจะเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนประชากรปลาบึกตามธรรมชาติขนาดโตเต็มวัยให้กับลุ่มน้ำโขงด้วย

ดร.คล้อด มาร์ติน ผู้อำนวยการใหญ่ WWFสากล และดร.ชาน สะรัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของกัมพูชา ร่วมกันเป็นประธานในพิธีปล่อยปลาบึก ซึ่งจัดขึ้นที่ด้านหน้าพระบรม มหาราชวังแห่งกัมพูชา ซึ่งไม่ไกลจากจุดที่ปลาบึกทั้ง 4 ตัวนี้ถูกจับขึ้นมาจากแม่น้ำโขงเมื่อราว 7 ปีที่แล้ว ในโอกาสนี้ WWFและกรมประมงของกัมพูชาได้มอบประกาศนียบัตรแสดงความชื่นชมและยกย่องนายอิง วันนาธ เจ้าของปลาใจบุญซึ่งเป็นผู้บริจาคปลาบึกทั้ง 4 ตัวเพื่อจะให้พวกมันได้กลับคืนสู่ธรรมชาติ

สำหรับปลาบึกที่ได้รับอิสรภาพทั้ง 4 ตัว ซึ่งแต่ละตัวหนักราว 45-50 กิโลกรัม และลำตัวยาวประมาณ 1.5 เมตร ถูกนำไปเลี้ยงอยู่ในบ่อนาน 7 ปีนับตั้งแต่วันที่ถูกจับขึ้นมาขณะที่ยังเป็นเพียงลูกปลา ปนกับลูกปลาสวายที่ดูคล้ายกันตอนเล็ก และถูกเลี้ยงรวมกันอยู่ราว 1,500 ตัว เพราะขณะนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าพวกมันคือปลาบึกแห่งลุ่มน้ำโขงที่ใกล้จะสูญพันธุ์ จนกระทั่ง 1 ปีถัดมา เมื่อขนาดของปลาทั้ง 4 ตัวนี้ใหญ่โตเกินกว่าปลาสวายในบ่อ

นายอิง วันนาธ ผู้เป็นเจ้าของจึงเก็บปลาบึก 4 ตัวนี้ไว้เป็นปลานำโชค ที่จะนำพาความมั่งคั่งมาสู่ครอบครัวและกิจการของตน

"ตอนนี้ ผมขอทดแทนคุณปลาบึกทั้ง 4 ตัวด้วยการส่งพวกมันกลับคืนสู่บ้านเกิดในธรรมชาติ เพื่อให้พวกมันได้แหวกว่ายในแม่น้ำอย่างเสรี และหวังว่ามันจะช่วยเพิ่มจำนวนประชากรปลาบึกในธรรมชาติ ซึ่งเป็นปลาเอกลักษณ์ของแม่น้ำโขงด้วย " นายอิง กล่าว

หลังจากที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ่อมานานมาก คงไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าปลาบึกทั้ง 4 ตัวนี้จะมีสัญชาติญาณในการอพยพย้ายถิ่นและวางไข่ได้ตามธรรมชาติหรือไม่ ทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่บางตัวอาจปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตในแม่น้ำได้ไม่ดีนัก

ดังนั้น การปล่อยปลาบึก 4 ตัวนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่องานด้านการศึกษาวิจัย ซึ่งนักวิจัยก็ได้ติดป้ายไว้ที่ตัวปลาบึกทั้ง 4 ก่อนที่จะปล่อยไป เพื่อบอกชาวประมงที่อาจจับมันขึ้นมาอีก ให้แจ้งต่อต่อกรมประมงทันทีที่จับปลาเหล่านี้ได้ เพื่อที่กรมประมงของกัมพูชาจะได้บันทึกเป็นข้อมูลแล้วปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง โดยชาวประมงจะได้รับเงินชดเชยจากการแจ้งด้วย

ดร.ชาน สะรัน กล่าวว่า นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543 เป็นต้นมา กรมประมงของกัมพูชาได้ทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆหลายแห่ง ในการปล่อยและติดป้ายที่ตัวปลาบึก เพื่อศึกษาและติดตามเส้นทางการอพยพของปลาชนิดนี้

ดร.มาร์ติน ได้กล่าวในสุนทรพจน์เปิดงานว่า หากปลาบึกกลุ่มนี้ถูกจับได้และได้รับการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง ก็ย่อมแสดงว่าพวกมันไม่เพียงแต่ปรับตัวอยู่รอดในแม่น้ำโขงได้เท่านั้น แต่ยังสามารถฟื้นฟูสัญชาติญาณตามธรรมชาติในการอพยพและวางไข่ได้ด้วย โดยปกติแล้ว ที่กัมพูชาจะมีคนจับปลาบึกได้เพียงปีละ 5-6 ตัวเท่านั้น การเพิ่มจำนวนปลาบึกวัยเจริญพันธุ์ 4 ตัวคืนสู่แม่น้ำโขง จึงนับเป็นการต่อชีวิตให้กับสถานภาพปลาบึกในธรรมชาติอย่างแท้จริง

ก่อนหน้านี้ เคยมีรายงานว่า ปลาบึกในแม่น้ำโขงจะอพยพเป็นระยะทางไกลมากเพื่อวางไข่ ดังนั้น ปลาบึกที่จับได้ในเขตกัมพูชา จึงอาจเป็นกลุ่มเดียวกับที่มาวางไข่ในเขตภาคเหนือของไทยก็ได้ แม้พื้นที่ 2 จุดนี้จะห่างกันเกินกว่า 1,000 กิโลเมตรก็ตาม และเพื่อความอยู่รอด ปลาบึกและปลาอื่นๆอีกหลายชนิดที่ใช้เส้นทางอพยพร่วมกัน จำเป็นต้องรักษาช่องทางให้ว่ายน้ำได้อย่างอิสระในแม่น้ำโขง รวมถึงแม่น้ำสาขาที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง

แต่ปัจจุบัน พวกมันกำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่สำคัญคือ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเขื่อน รวมถึงการประมงที่เกินความพอดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำประมงขนาดใหญ่ที่สามารถสกัดกั้นทางเดินน้ำในแม่น้ำได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ โครงการปรับปรุงการเดินเรือแม่น้ำโขงเพื่อการพาณิชย์ หรือโครงการระเบิดแก่ง ก็นับเป็นภัยคุกคามที่น่าวิตกอีกประการหนึ่ง เพราะอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อแหล่งที่อยู่ของปลา โดยเฉพาะพื้นที่วางไข่ และด้วยเหตุนี้ WWFร่วมกับกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของกัมพูชา จึงเร่งผลักดันให้เจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบดูแลงานด้านนี้ ทั้งในประเทศกัมพูชาเอง และประเทศเพื่อนบ้านที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ให้ร่วมกันปกป้องความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำโขง เพื่อเป็นการช่วยอนุรักษ์ปลาบึกด้วยอีกทางหนึ่ง โดยหวังว่าจะใช้ปลาบึกเป็นตัวแทนของสัตว์น้ำอีกหลากหลายชนิดที่ทำให้ลุ่มน้ำโขงเป็นแหล่งที่ให้ผลผลิตทางการประมงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

โครงการ Living Mekong Programmeของ WWFเป็นการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรทั้งที่เป็นหน่วย งานภาครัฐ และองค์กรเอกชนอื่นๆในแถบลุ่มน้ำโขง โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การรักษาสภาพความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงให้คงอยู่ตลอดไป

ทั้งนี้ เป็นที่เชื่อกันว่า การที่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลกและมีกระแสน้ำที่ไหลได้อย่างต่อเนื่องไม่ติดขัด ทั้งยังมีพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงตลอดเส้นทาง คือสาเหตุหลักที่ทำให้แม่น้ำสายนี้กลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสามารถให้ผลิตผลทางการประมงสูงถึงปีละ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 56,000 ล้านบาท)

ทาง WWFคาดหวังว่า โครงการอนุรักษ์ปลาบึก ซึ่ง Living Mekong Programme ดึงขึ้นมาเป็นตัวชูโรงและเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์แห่งลุ่มน้ำโขง จะสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ พร้อมกับช่วยปกป้องวิถีชีวิต และการทำมาหากินของประชาชนหลายล้านคนที่อาศัยและพึ่งพาลุ่มน้ำโขงแห่งนี้ไปในขณะเดียวกันด้วย

* หมายเหตุ *
หนังสือ " กินเนส บุ๊ค ออฟ เวิลด์ เรคคอร์ด " บันทึกว่าปลาบึกแห่งลุ่มน้ำโขงเป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยตัวที่โตเต็มที่จะมีความยาวถึง 3 เมตรและหนัก 300 กิโลกรัม โดยเป็นปลาท้องถิ่นที่พบเฉพาะในลุ่มน้ำโขงเท่านั้น

เมื่อราว 100 ปีที่แล้ว ปลาบึกแห่งลุ่มน้ำโขงยังมีจำนวนประชากรหนาแน่นและพบได้ทั่วไปในแม่น้ำโขง รวมถึงแม่น้ำสาขาของลำน้ำโขง ตั้งแต่เวียดนามจนถึงภาคใต้ของจีน แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา จำนวนปลาบึกและปลาขนาดใหญ่ชนิดอื่นในลุ่มน้ำแถบนี้กลับลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าจำนวนประชากรของปลาบึกลดลงถึงร้อยละ 90 ในช่วงเวลาเพียง 20 ที่ผ่านมา

เนื่องจาก ปลาบึกเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในระดับน้ำลึกจนถึงติดก้นแม่น้ำ ทั้งในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา มันจึงกินอาหารจำพวกพืชเป็นหลัก ซึ่งได้แก่สาหร่ายและอินทรีย์สาร ที่อยู่ตามหินและพื้นท้องน้ำ

ปลาบึกมักถูกชาวประมงจับได้โดยใช้ข่าย เพราะเป็นอาหารจานโปรดของคนส่วนใหญ่ที่อาศัยในแถบลุ่มน้ำโขงตอนกลาง โดยมีการจับกันมากทางประเทศไทย โดยเฉพาะที่อำเภอเชียงของ ซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของปลาบึก แต่ในระยะหลัง จำนวนปลาที่จับได้ลดน้อยลงทุกที แม้ในปีถึง 2 ปีที่ผ่านมาจะมีรายงานว่ามีคนจับปลาบึกได้บ้าง แต่ก็มีเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น

โดยในช่วง 3 ปีก่อน ไม่เคยมีใครสามารถจับปลาบึกได้ในเขตอำเภอเชียงของอีกเลย ส่วนที่กัมพูชา มีรายงานว่าชาวประมงจับปลาบึกได้เพียงไม่กี่ตัวในแต่ละปี โดยมักจะติดมากับโพงพางหรือลี่ หรือที่เรียกกันว่า Dai

ภัยที่คุกคามปลาบึกและปลาขนาดใหญ่อื่นๆอีกหลายชนิดในแม่น้ำโขง ได้แก่ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่นเขื่อน ซึ่งเป็นตัวปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาเหล่านี้ และทำให้ประชากรปลาบางกลุ่มถูกกักบริเวณ ซึ่งหากปลาไม่สามารถว่ายน้ำขึ้นลงระหว่างต้นน้ำกับปากน้ำได้ ปลาบึก ก็จะไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ และไม่มีโอกาสผสมพันธุ์กับปลาจากที่อื่น ซึ่งนอกจากจะทำให้จำนวนประชากรปลาลดลงแล้ว ยังทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมโดยรวมตกต่ำลงด้วย

ส่วนโครงการปรับปรุงการเดินเรือแม่น้ำโขงเพื่อการพาณิชย์ (ระเบิดแก่ง) นับเป็นตัวการสำคัญที่ไปทำลายแหล่งวางไข่ของปลาบึก ขณะที่การทำประมงเกินขนาดก็ยิ่งทำให้ประชากรปลาบึกที่มีอยู่เหลือน้อยลงอีก และยังก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้แสวงหาผลประโยชน์ในพื้นที่แถบนี้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันเร่งหากลยุทธการจัดการที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

ดาว์โหลดภาพปล่อยปลาบึก พนมเปญ ได้ที่นี่http://www.wwfthai.org/thai/jour

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net