Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 16 มิ.ย.48 ภาคประชาสังคมร้องผู้ตรวจการด้านสิทธิที่จะมีสุขภาพดี สหประชาติ ห่วงเอฟทีเอไทย-สหรัฐ กระทบการเข้าถึงยาของประชาชน

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WATCH)และพันธมิตรได้ยื่นจดหมายถึง นาย Paul Hunt ชาวนิวซีแลนด์ ผู้ตรวจการพิเศษด้านสิทธิของทุกคนในการมีสุขภาพกายและใจตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่จะมีได้ของสหประชาชาติ(right of everyone to the enjoyment of the highestattainable standard of physical and mental health)

ในจดหมายระบุถึงความกังวลโดยเฉพาะในการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริการอบที่4 ที่จะมีถึงในวันที่ 11กรกฎาคมนี้ที่รัฐมอนทานาประเทศสหรัฐอเมริกาในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งจะทำลายความสามารถของประเทศในการเข้าถึงยา อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าในการเจรจาเอฟทีเอกับอีกหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและกลุ่มเอฟต้า ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาจะใช้มาตรฐานเดียวกับที่สหรัฐฯเรียกร้อง

ทางกลุ่มฯ จึงขอให้ผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติได้เข้ามาตรวจสอบและตักเตือนรัฐบาลไทยถึงบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลในการต้องปกป้องสิทธิในการมีสุขภาพดีของประชาชนซึ่งไม่ควรจะถูกขัดขวางโดยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการจัดทำเขตการค้าเสรี อีกทั้งยังจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตักเตือนรัฐบาลไทยให้เปิดเผยข้อมูลการเจรจาหารือกับภาคประชาสังคม และทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สิทธิในการเข้าถึงยาก่อนการลงนามข้อตกลงการค้าใดๆ

ทั้งนี้การยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการพิเศษเป็นไปตามข้อตกลงต่างๆของสหประชาชาติที่ประเทศไทยได้เป็นภาคีไว้ โดยสหประชาชาติจะตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศภาคีคือการกระทำผ่านผู้ตรวจการพิเศษ (special rapporteur) กระบวนการของผู้ตรวจการพิเศษเปิดให้ภาคประชาสังคมสามารถยื่นหนังสือให้ข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิในการมีสุขภาพดีได้

โดยที่ผ่านมาประเทศไทยเคยได้รับคำร้องขอในการเข้ามาตรวจสอบสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนจากผู้ตรวจการพิเศษเพียง 1 ครั้งคือในปี 2546แต่รัฐบาลไทยปฏิเสธที่จะให้ผู้ตรวจการพิเศษเข้ามาทำหน้าที่ทำให้ภาพพจน์ของไทยในฐานะประเทศภาคีเป็นไปในทางลบเพราะถือว่าไม่ให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน

อนึ่ง องค์กรที่ร่วมลงนามประกอบไปด้วยกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน,เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย,มูลนิธิเข้าถึงเอดส์,กลุ่มศึกษาปัญหายา,คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค,
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, คณะทำงานโลกาภิวัตน์,สมัชชาคนจน,มูลนิธิชีวิตไท,องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย,โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ,โครงการวิจัยและปฏิบัติการงานพัฒนา (FOCUS) และ
องค์กรหมอไร้พรมแดน (เบลเยี่ยม)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net