Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 14 มิ.ย. 48 "รัฐธรรมนูญปัจจุบันพูดถึงความโปร่งใส ประชาชนมีสิทธิมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายรัฐ แต่ในประสบการณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่าพันธะตามรัฐธรรมนูญกลับถูกละเลยเกือบโดยสิ้นเชิง ผมขอยืนยันตรงนี้ ซึ่งสร้างความหนักอกหนักใจในการทำงานของเรา เพราะถือเป็นการลิดรอนสิทธิในเบื้องแรก" ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

ศ.เสน่ห์แสดงความกังวลว่า การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของไทยกับประเทศต่างๆ ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยเปิดเผยข้อมูลใดๆ แก่ประชาชน ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ไทยมักเสียเปรียบทางการค้าในเวลาต่อมา โดยขณะนี้กระบวนการเจรจากับสหรัฐก็ยังไม่สิ้นสุด

"ขออย่างเดียวให้รัฐบาลยึดถือพันธะผูกพันตามรัฐธรรมนูญ แต่ผมอยากเรียนว่าจนบัดนี้ ทั้งความไม่โปร่งใส การเคารพในสิทธิของประชาชนและการรู้ข้อมูลข่าวสารยังไม่มีเลย ซึ่งในขณะนี้ไม่รู้ว่ารัฐบาลและคณะผู้เจรจาได้ตัดสินใจหรือกำลังทำอะไรอยู่" ศ.เสน่ห์ กล่าว

ขณะที่นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อนุกรรมการด้านทรัพยากรชีวภาพและทรัพย์สินทางปัญญา มองว่า การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐยังไม่มีความโปร่งใสในทั้งสองฝ่าย โดยกล่าวว่า ขณะนี้ไทยตกอยู่ในกับดักหลุมพรางของสหรัฐ เพราะเขาเรียกร้องตั้งแต่การเจรจาครั้งแรกที่ฮาวาย ให้ไทยยอมลงนามในสัญญาการรักษาความลับ แต่ไทยขอถือสัญญาสุภาพบุรุษแทน ซึ่งนั้นหมายถึงการไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ ที่ใช้แลกเปลี่ยนในการเจรจา

"เท่ากับว่าสหรัฐกำลังปฏิบัติผิดกฎหมายของตนเองที่ให้คู่เจรจาปิดบังข้อมูล ทั้งที่สหรัฐก็มีบทบัญญัติว่าวัตถุประสงค์ของการเจรจาต้องโปร่งใส ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ ซึ่งตรงนี้ไทยเข้าไปในกับดักนั้น โดยรับคำมั่นสัญญาว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูล แม้แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไปขอข้อมูลยังบอกว่าให้ไม่ได้เพราะเป็นความลับ" นายบัณฑูรชี้แจง

ด้าน นายเจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไทย มาตรา 224 ในเรื่องที่ว่าด้วยสนธิสัญญาระหว่างประเทศ หากมีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ต้องมีกฎหมายอนุวัตรการตาม ทั้งนี้มาตราดังกล่าวเป็นกระบวนการสุดท้ายที่รัฐบาลต้องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบและถูกต้องตามกฎหมาย แต่แท้จริงแล้วประเทศไทยแทบทำอะไรไม่ได้เลย ในการแก้ไขรายละเอียดข้อตกลงเอฟทีเอแม้แต่ตัวอักษรเดียว ซึ่งเท่ากับไม่มีหลักประกันใดๆ ให้แก่ประชาชนเลย

นอกจากนี้ นายเจริญ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า "รัฐบาลมีอำนาจในการออกกฎหมายลบล้างจารีตประเพณีวัฒนธรรมข้าวหรือไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ประกอบกับมาตรา 46 เคยมีตัวอย่างศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าแป้งข้าวหมากไม่ขัดต่อกฎหมายการสุรา เพราะถือเป็นการปฏิบัติตามจารีตประเพณี"

"แท้จริงแล้วกระบวนการผลักดันเอฟทีเอ คือการทำลายสิทธิของส่วนรวมให้เป็นสิทธิของปัจเจกบุคคล โดยเอาพ.ร.บ.สิทธิบัตรเป็นเครื่องมือนั่นเอง" นายเจริญ กล่าวตบท้าย

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net