Skip to main content
sharethis

ประชาไท-12 มิ.ย. 48 "ในอดีตคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เชื่อว่า ความไม่สงบเกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณของรัฐ คนเชื่อว่า เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำทั้งหมด ปัจจุบันยิ่งทำให้เขาเชื่อยิ่งขึ้น เพราะลองคิดดูว่าทางการส่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจลงไปหลายหมื่น แต่ทำไมถึงจับคนฉีดสเปรย์ข้อความแบ่งแยกดินแดนในระยะหลายร้อยกิโลเมตรไม่ได้" นายพงศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศบาลเมืองยะลา กล่าว

เวทีเสวนาข้อเท็จจริงจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วันนี้ (12 มิ.ย.) ผู้ร่วมเสวนาส่วนใหญ่เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้ขณะนี้เป็นปัญหาที่เกิดจากความ รู้สึกทั้งทางวัฒนธรรมและศาสนาที่สะสมมาไม่ต่ำกว่า 10-20 ปี ทั้วชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่า เหตุการณ์ความไม่สงบบางอย่าง อาจมีเจ้าหน้าที่รัฐเองอยู่เบื้องหลัง

ผศ. วรวิทย์ บารู นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีเจ้าหน้าที่รัฐแอบแฝง จนทำให้อาณาจักรแห่งความกลัวขยายตัวเพราะชาวบ้านในพื้นที่ไม่รู้ว่า ใครคือ ฝ่ายที่เป็นที่พึ่งของตนกันแน่ และต่อไปอาณาจักรแห่งความกลัวนี้จะนำไปสู่ภาวการณ์ไร้ขื่อไร้แปต่อไป

โดย ผศ.วรวิทย์ ยกตัวอย่าง สัญญาณที่แสดงว่าเริ่มมีความกลัวและไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ ว่า เคยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนหนึ่ง เห็นการยิงกันที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับการสร้างสถาน การณ์ความไม่สงบ และสามารถเป็นพยานได้ แต่ รปภ.คนดังกล่าว กลับไม่กล้าพูดในเวลาสอบสวน เพราะกลัวโดนอุ้ม

อย่างไรก็ตาม นายวรวิทย์ ระบุว่า เมื่อมีคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์(กอส.) เกิดขึ้น โดยเสนอแนวทางสันติวิธีแก้ปัญหา ทำให้คนในพื้นที่เริ่มมีความคาดหวัง และพอที่จะทำให้สังคมเชื่อได้ เพียงแต่รัฐบาลต้องมั่นคง อย่าไขว้เขว

"มาตรการ กอส. 3 ข้อที่ออกมา เพราะคิดว่าต้องเตือนนายกรัฐมนตรีให้มั่นคง และมั่นใจในสันติวิธี เพราะ พอเดินมาระยะหนึ่งแล้ววอกแวกทำให้เหมือนกำลังโกหกสังคม " นายวรวิทย์ กล่าว

นอกจากนี้นายวรวิทย์ ยังระบุว่ามีการพูดคุยกันบ้างกับบางคนใน กอส. ว่าจะเสนอให้ กอส.ร่วมมือกับสื่อเปิดหน้าหนังสือเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับความสมานฉันท์ด้วย

ด้านนาย มูฮัมมัด อายุบ ปาทาน ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นในจังหวัดยะลา กล่าวว่า สื่อมวลชนควรนำเสนอข่าวให้รอบด้านมากขึ้น ไม่ใช่เน้นไปที่ความรุนแรงเพียงอย่างเดียว แต่ภาพวิถีชีวิตที่ความหลาก หลายทางวัฒนธรรมสามารถอยู่รวมกันได้กลับถูกละเลย จนเสียความสมดุล

ดังนั้น สื่อควรที่จะต้องหามาตรการเปิดพื้นที่ลักษณะดังกล่าว เพื่อสร้างการเรียนรู้ด้านสันติวิธีด้วย โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์จะมีอิทธิพลทางสังคมมาก เนื่องจากสามารถรับรู้ได้ทั้งภาพและเสียง ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ควรมีภาพประกอบข่าวเพื่อทำให้สังคมได้เห็นภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net