Skip to main content
sharethis

ประชาไท-17 พ.ค. 48 คนสูญหาย จาก "ทนง" - "สมชาย" , เหตุการณ์ พฤษภา 35 - เหตุการณ์ภาคใต้ 48 ผ่านมา 13 ปีไม่เจอแม้แต่คนเดียว "จรัล" ชี้ ต่างชาติยังมีพบ ให้รัฐศึกษาวิธีจากต่างชาติเป็นแนวทางและหาทางเยียวยาชดเชย

นายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานจัดงาน 13 ปีพฤษภา ประชาธรรม กล่าวถึงกรณีคนหายจากเหตุการณ์ทางการเมืองว่า ในประเทศไทยยังไม่มีกระบวนการจริงจังในการค้นหา อาจเป็นเพราะมีจำนวนน้อยกว่าต่างชาติ ซึ่งมีการสูญหายเป็นหลักพันหรือหลักหมื่น แต่ก็มีกระบวนการค้นหาทำให้ญาติได้รับศพหรือรู้ความเป็นไปบ้าง ในขณะที่ประเทศไม่เคยหาเจอเลย

นายจรัล กล่าวต่อว่า แม้ประเทศไทยจะมีผู้สูญหายจากเหตุการณ์การเมืองไม่มากนัก เช่น นายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจที่โดนอุ้มก่อนเหตุการณ์ พฤษภาคม 35 ไม่นาน ในเหตุการณ์พฤษภาคม 35 เองก็มีผู้สูญหายเพียง 35 คน และต่อมานายสมชาย นีละไพจิตรทนายความนักสิทธิมนุษยชน หายตัวไปเมื่อปีก่อน จึงนับว่าน้อยหากเทียบกับต่างชาติ แต่การสูญหายแม้แต่คนเดียวก็ไม่ควรเกิดขึ้น

นายจรัล ยกตัวอย่างการตามหาผู้สูญหายทางการเมือง ในบางประเทศว่า มีกระบวนการติดตามหาด้วยการออกกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ทำการลักพาตัวที่มารายงานตัว

ในกรณีที่มีการปะทะรุนแรงจนทำให้มีผู้สูญหายจำนวนมาก จะใช้วิธีขอความร่วมมือจากหน่วยงานทหาร ตำรวจที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบขณะปะทะ ว่าหน่วยไหนจัดการตรงไหน มีความเสียหายตรงไหน มีการขนย้ายคนหรือไม่ และย้ายไปไหน เพื่อเป็นข้อเท็จจริงในการติดตามผู้สูญหาย

แต่ในประเทศไทยไม่เคยมีการจัดการในลักษณะนั้น อย่างมากแค่เชิญญาติมาให้ปากคำ ดังนั้นในกรณี พ.ค. 2535 ทุกหน่วยที่เข้ามาปะทะกับผู้ชุมนุมควรต้องมาให้ปากคำด้วย เพื่อให้รู้ว่าหน่วยใดทำหน้าที่อย่างไร แต่เท่าที่ รู้คือยังไม่เคยมีการจัดการลักษณะนี้

ทั้งนี้ นายจรัลได้เสนอ การตั้งองค์กรจัดการติดตามผู้สูญหายขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยระบุว่า แม้กระทรวงยุติธรรมกำลังมีการตั้งศูนย์ติดตามผู้สูญหาย ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม ตนมีข้อติงว่าศูนย์นี้จะไม่มีทางตามหาผู้สูญหายได้หากไม่มีความร่วมมือจากทหารและตำรวจอย่างจริงใจ

นอกจากนี้อาจต้องมีกฎหมายรองรับ ซึ่งปัจจุบันไทยก็มี พระราชบัญัตินิรโทษกรรมอยู่แล้วซึ่งอาจนำมาปรับใช้ได้ แต่ที่ผ่านมามักใช้กับกรณีรัฐประหาร

ด้านการเยียวยาช่วยเหลือผู้ศูนย์หายในเหตุการณ์ พ.ค. 35 เบื้องต้น นายจรัล เสนอให้ชดเชยเป็นเงิน ด้วยการเอา 3 เท่าของรายได้ขั้นต่ำคูณด้วย 13 แก่ญาติผู้สูญหายแต่ขณะนี้เรื่องยังดำเนินการช้า เพราะกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังยังไม่ค่อยเห็นด้วยเนื่องจากรัฐเคยช่วยเหลือไปบ้างแล้วในลักษณะประชาสงเคราะห์

อย่างไรก็ตาม นายจรัลได้ชี้แจงไปว่าการชดเชยเยียวยาครั้งนี้เป็นหลักการใหม่ ที่รัฐจะต้องจ่ายค่าเสียหาย ให้ฐานะผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย กระทรวงการคลังควรเสนอญัตติเข้าวาระ ครม.ให้เร็วที่สุด

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net