Skip to main content
sharethis

ตัวแทนสมัชชาร่วมแถลงข่าวกับส.ว.นิรันดร์
------------------------------------------------------

รัฐสภา-16 มี.ค. 2548 กลุ่มตัวแทนเครือข่ายสมัชชาคนจนเคลื่อนขบวนเข้ารัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการตรวจสอบการแก้ไขปัญหากรณีผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน โดยมี น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว.จังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้รับเรื่องพร้อมแนะสื่อด้วยว่า อย่าเพิ่งเบื่อชาวบ้านถึงแม้เขื่อนจะเป็นเรื่องเก่าแต่ก็เป็นเรื่องเก่าที่ยังแก้ไม่ได้

นายสมเกียรติ พ้นภัย ตัวแทนกลุ่มสมัชชาคนจนจากเขื่อนปากมูล กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องมายื่นหนังสือต่อประธานกมธ.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็เพราะเป็นการติดตาม ทวงถาม งานที่รัฐบาลได้สัญญากับชาวสมัชชาไว้และยังคงค้างสะดุดอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเขื่อนที่ยังมีปัญหาค้างคาไม่จบสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา โรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ และเขื่อนโป่งขุนเพชร ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะตกอยู่กับชาวบ้านที่ไม่สามารถใช้วิถีชีวิตในการประกอบอาชีพแบบเดิมได้ ทำให้เกิดปัญหาความยากจนตามมา

ด้าน น.พ.นิรันดร์ ส.ว. จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนว่า แม้ว่าเรื่องปัญหาการสร้างเขื่อนนี้จะเป็นเรื่องเก่าที่สื่อเล่นมานานแล้ว และชาวบ้านก็ยังมาร้องเรียนตลอด จึงอยากให้สื่อคิดว่าปัญหาเขื่อนเป็นเรื่องเก่า แต่เก่าแล้วแก้ไม่ได้นี้คือปัญหา เพราะว่าการสร้างเขื่อนที่มีมาแต่เดิม โครงการเขื่อนต่าง ๆ ทำให้ปัญหาความยากจนเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในยุคสมัยใดก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้

"ปัญหาที่เกิดขึ้นก็มาจากพื้นที่จัดสรรในการทำมาหากินของชาวบ้านถูกทำลาย คนในเมืองอาจจะดูแล้วปกติ แต่ชาวบ้านจะรู้สึกเพราะว่าที่ดินเหล่านั้นเป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่เลี้ยงชีพ ทั้งหมดคือชีวิตของพวกเขา อย่างปัญหาของเขื่อนปากมูลที่ไม่เปิดมีการเปิดเขื่อนตามมติคณะรัฐมนตรี ทำให้ปลาจากแม่น้ำโขงไม่สามารถมาวางไข่ได้ ชาวบ้านไม่มีอาชีพทำมาหากินก็ต้องย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในเมืองกรุง" หมอนิรันดร์กล่าว

ส.ว. จ.อุบลราชธานีกล่าวต่อว่า ปัญหาดังกล่าวก็จะมาซ้ำกับกับนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องการแก้ปัญหาควายากจน ซึ่งทำให้เห็นว่ารัฐไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะว่าถ้าแก้ไขได้ตามนโยบายที่วางไว้ชาวบ้านก็คงจะไม่มาร้องเรียน และเมื่อชาวบ้านไม่ได้คำตอบจากภาครัฐเขาก็ต้องมาที่รัฐสภา

นางผา กองธรรม หนึ่งในกลุ่มตัวแทนสมัชชาฯ จากเขื่อนราษีไศล กล่าวว่า การมาทวงตามสัญญาหรือข้อตกลงจากรัฐที่ให้แก่พวกเราไว้นั้น เราไม่สามารถจะทำได้ตลอด การมาร้องเรียนแต่ละครั้งลำบากพอสมควรต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามา ทั้งนี้ก็เพราะชาวบ้านต้องการมาทวงสิทธิ์ของตน เพราะว่าสิ่งที่ชาวบ้านเสียหายไม่คุ้มสิ่งที่รัฐให้มา

ทั้งนี้ในช่วงเช้าวันเดียวกันทางกลุ่มตัวแทนสมัชชาคนจนได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพลังงานด้วยเช่นกัน เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่รับทราบและพิจารณาหนทางในการแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างภาครัฐและชาวบ้าน

สิรินภา อิ่มศิริ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net