Skip to main content
sharethis

หลังจากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีไม่สามารถเปิดตัวได้ตามกำหนดการเดิมคือ 13 เมษายนที่ผ่านมา ปมปัญหาสำคัญที่กำลังถูกจับตาคือประเด็นของ "สัตว์" โดยเฉพาะกรณีที่ต่างชาติวิจารณ์ถึงการแลกเปลี่ยนสัตว์ระหว่างรัฐบาลไทยกับเคนยา

กรณีของเคนยานั้นเกิดขึ้นมาภายหลัง ในแง่มุมของสัตว์นั้น เมื่อ 3 ปีก่อนเคนยามิได้อยู่ในแผน หากแต่สัตว์ที่จะเข้ามาสู่โครงการนี้คือสัตว์ภายในประเทศส่วนหนึ่ง และสัตว์จากประเทศออสเตรเลีย

แต่ทันทีทีนายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีเคนยาได้หารือกันและปรากฏเป็นข่าวออกมาว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการแลกเปลี่ยนสัตว์ครั้งนี้ก็หนาหู และแพร่ขยายไปหลายประเทศ

ระหว่างวันที่ 18 มีนาคม - 24 เมษายน 2548 นางเพ็ญศักดิ์ จักสูตรจินดา ส.ว.สกลนคร และนายวิบูลย์ แช่มชื่น ส.ว.กาฬสิทธ์ ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และคณะจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางไปยังประเทศเคนยา เพื่อพบกับทั้งตัวแทนองค์กรเอกชน และภาครัฐบาลของเคนยา ให้ได้รับทราบข้อมูลว่ามีความรู้สึกและเข้าใจต่อโครงการแลกเปลี่ยนสัตว์ครั้งนี้เช่นไร

"พลเมืองเหนือ" ได้สัมภาษณ์พิเศษทางโทรศัพท์ นายวิบูลย์ แช่มชื่น ส.ว.สกลนครทางหลังการเดินทางกลับมาเพียง 1 วัน

พลเมืองเหนือ : ท่านไปเคนยาพบกับใครบ้าง ?
วิบูลย์ : คณะเราไปคุย 2 ส่วน คือภาคประชาชน และภาครัฐ โดย KWS คือ Kenya Wildlife Service ผมนัดหมายคุยกับภาคประชาชน ส่วนท่าน ส.ว.เพ็ญศักดิ์ คุยกับภาคราชการ ผู้ที่นัดหมายภาคประชาชนให้เราคือองค์การ BORN FREE FOUNDATION ซึ่งดูแลงานด้านสัตว์ป่าระดับโลก และมีองค์กรที่เกี่ยวข้องจาก 10 องค์กร ราว 30 คน รวมทั้งผู้สื่อข่าวด้วย มาร่วมพูดคุยถึงโครงการที่ไทยและเคนยาจะร่วมมือกันด้านสัตว์ป่า ซึ่งผมอยากจะให้เรียกว่า Thai-Kenya Safari Park มากกว่า ไนท์ซาฟารี

ท่าทีของเขาเป็นอย่างไร
ความรู้สึกต่อสาธารณะไม่ค่อยดี การสื่อสารกันของคนภายในประเทศเคนยา กลัวว่าจะเกิดการล่าสัตว์ป่า เพราะมีสัตว์หลายประเภทที่เขาหวงมาก เช่นยีราฟ แรดดำ แรดขาว (อยู่ในรายการด้วย) เป็นเพราะว่ามีสัตว์จำพวกหนึ่งเช่น ลูกช้าง ลูกแรด ที่เป็นกำพร้า พ่อแม่ของสัตว์เหล่านี้ถูกล่า ถูกตัดงาไป องค์กรพิทักษ์สัตว์ของเขาก็ดูแลอยู่ตั้งแต่อายุ 3 - 6 เดือน เลี้ยงเหมือนลูกเลย แต่พออายุได้ 2-5 ปีก็จะปล่อยให้ไปอยู่รวมกันในป่าธรรมชาติเอง เขาบอกว่าถ้าเราไปเอาสัตว์พวกนี้มา เขาฆ่าสัตว์พวกนี้ให้ตายดีกว่าจะให้เอามาขังในไทย

ถึงขั้นนั้น
เพราะเขามีภาพที่เห็นว่าซาฟารีพาร์คในกรุงเทพไม่รื่นหูรื่นตาสำหรับเขา กรณีของลิงจากอินโดนีเซียเขาก็บอกว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ภาพการค้าสัตว์ป่าที่สวนจตุจักรก็มีอยู่ คล้ายๆ กับเขารู้สึกว่าเราจะเอาสัตว์ของเขามาทรมานมากกว่า ความรู้สึกพวกนี้ฝ่ายไทยเองก็จะต้องเข้าใจด้วย
และให้หลักประกันเขาให้ได้ว่า

1. ไม่ได้นำสัตว์มาจากป่าที่เขาเป็นห่วง เพราะก็มีสัตว์ส่วนหนึ่งที่มีการเลี้ยงโดยคนอยู่ 2.ไทยและเคนยาควรมีบันทึกข้อตกลงให้ชัดเจนในความร่วมมือระหว่างประเทศ ควรมีคณะกรรมการจากกระทรวงต่างประเทศมาร่วมมือกันซึ่งสิ่งที่เราจะช่วยเขาได้คือเรื่องระบบน้ำที่เขาต้องการ การเจาะบาดาลให้เห็นเป็นรูปธรรม ช่วยเขาในสิ่งที่เขาต้องการ ส่วนที่ภาคประชาชนที่คัดค้านวิตกเรื่องการนำสัตว์และการดูแลสัตว์ป่า ก็จะต้องลงรายละเอียดว่าเรามีสัตว์ในรายการอะไรบ้าง เป็นสัตว์ที่เขาหวง หรือสัตว์ที่เขาต้องห้ามหรือไม่ เช่นกรณีของ CITES สัตว์บางประเภทต้องทำในลักษณะการวิจัย โดยเฉพาะสิงโต ควายป่า และช้าง ดังนั้นควรจะได้แยกเป็นเรื่องๆ ไป แต่ประเด็นสำคัญคือเราจะต้องมีความพร้อม

แต่ความพร้อมของเราคือสิ่งที่เขากังวลหรือไม่ เช่นเรื่องของบุคลากรที่จะดูแลสัตว์
ตรงนั้นเราต้องมีความพร้อมก่อน และควรมีการผลิตสัตวแพทย์ด้านสัตว์ป่าเพื่อร่วมกันดูแลสัตว์ เขารับเรื่องการใช้ขอสับเพื่อฝึกช้างแบบบ้านเราไม่ได้เลยนะ บอกว่าไม่ได้มาตรฐาน เกรงว่าจะเอาสัตว์เขามาทรมาน ข้อกล่าวหาเราเรื่องคุกขังสัตว์ยังมีอยู่ เพราะที่เคนยาจะปล่อยสัตว์คละกันให้ธรรมชาติดูแล กินกันบ้าง เหยียบกันตายก็มาก เป็นไปตามธรรมชาติของสัตว์ป่าที่อยู่ร่วมกัน

แล้วรัฐบาลของเขา ตอบประชาชนเขาไม่ได้หรือว่า สัตว์ที่มีอยู่ในรายการที่จะให้ไทยนั้นจะนำมาจากไหน
วิบูลย์: ส.ว.เพ็ญศักดิ์ เป็นผู้ไปคุยกับ Kenya Wildlife Service ส่วนผมคุยกับภาคประชาชน เรานัดได้วันเดียวกันพอดี ซึ่งรายละเอียดนี้ทั้งไทยและเคนยาจะต้องคุย สัตว์ที่ว่าจะหาจากไหน จะส่งไปอย่างไร ซึ่งตอนนี้รัฐบาลเคนยายังไม่ได้เงินค่าขนส่งจากไทยไปสักนิดเดียว เพราะการพูดคุยยังไม่ตกผลึก และหากจะเลี้ยงสัตว์แบบเขาในบ้านเรา จะเลี้ยงกันอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ผมตอบเขาไม่ได้เหมือนกัน เพราะที่เคนยา เขาเลี้ยงสัตว์แบบทุ่งซาวานาเป็นทุ่งโล่งแห้งๆ และปล่อยให้อยู่แบบคละกันไปทั้งหมด แต่แบบบ้านเรา เขาถามผมว่าไนท์ซาฟารีมีพื้นที่เท่าไหร่ ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่ประเด็นเพราะสามารถขยายพื้นที่ได้ แต่ความเป็นป่าร้อนชื้นมรสุมของบ้านเรามันต่างจากภูมิประเทศของเคนยา ซึ่งผมและคณะก็จะต้องมาลงพื้นที่ดูไนท์ซาฟารีที่เชียงใหม่ด้วยในราวต้นเดือนพฤษภาคมนี้

แล้วอนุกรรมการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภาจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
เราต้องประชุมสรุปข้อมูล เสนอต่อรัฐบาลโดยตรง เพราะรอวาระประชุมวุฒิคงอีกนาน
ผมไม่อยากคัดค้านไนท์ซาฟารีที่เชียงใหม่ อยากให้เดินหน้าและทำให้ดี คงจะต้องมีข้อเสนอหลายประการโดยเฉพาะสิ่งที่เขากังวลว่าอย่าส่งสัตว์จากป่าที่เขาเคยปล่อยสัตว์เข้าไป วุฒิสภาเราเกรงจะเกิดปัญหาความขัดแย้งจากภาคประชาชนแล้วบานปลาย เท่าที่ฟังข้อมูลพบว่าประธานาธิบดีเคนยากับนายกรัฐมนตรีของไทยได้พูดคุยกัน จะร่วมมือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไทยและเคนยา แต่ประเด็นเรื่องสัตว์ป่าอีกกรณีคือ สัตว์ป่าสำหรับเขามีการดูแลถึงระดับกระทรวง เพราะถือว่าเป็นประโยชน์ต่อวงการท่องเที่ยวของเขาซึ่งก็คือรายได้ของประเทศ มีนักท่องเที่ยวที่ไปมากคือคือฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ อเมริกัน ญี่ปุ่น และจีน

ส่วนการบริหารจัดการ เราคงจะต้องเตรียมคนให้พร้อมก่อน ทั้งสัตวแพทย์ และบุคลากรเรายังขาด การจะมีเงินไปซื้อสัตว์คงจะไม่เพียงพอ ถ้าเรายังไม่เตรียมเรื่องคน ของแบบนี้ต้องใช้เวลา โครงการนี้หากจะขยายเวลาเพื่อให้เกิดความพร้อมก็คงไม่สายเกินไป อาจจะเชิญคนดูแลสัตว์จากเคนยามาหารือเรื่องวิธีการดูแลสัตว์ร่วมกัน และคณะเราคงจะขอเชิญ ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ซีอีโอโครงการมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม การที่เราไม่มีอะไรแล้วอยากได้ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร แต่นานาชาติมีกติกาอย่างไร ก็ต้องมีในบันทึกข้อตกลงกัน มิเช่นนั้นมีปัญหาแน่ เราต้องการรักษาความรู้สึกที่ดีของไทยกับเคนยาไว้.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net