Skip to main content
sharethis

ยังจำชื่อนี้กันได้หรือไม่ "นางสาวสยาม"

เครื่องบินพลเรือนลำแรกของไทย เมื่อ 72 ปีก่อน น.อ.เลื่อน พงศ์โสภณ อดีตส.ส.นครราชสีมา 6 สมัย ผู้ประดิษฐ์รถสามล้อถีบ และคิดค้นการขี่มอเตอร์ไซด์ไต่ถัง รถไถนา และรถโกคาร์ทคันแรกของเมืองไทย รวมทั้งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เขาเป็นนักบินพลเรือนคนแรกของไทยที่ขับเครื่องบิน TRAVEL AIR 2000 ชื่อนางสาวสยามข้ามประเทศลาว เวียดนาม เข้าสู่จีนในช่วงสงครามสำเร็จ เมื่อเดือนมิถุนายน 2475 ด้วยเวลา 5 วัน และประสบเหตุการณ์ตื่นเต้นมากมาย

และ น.อ.วีรยุทธ ดิษยศริน ประธานมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ใช้เวลาถึง 7 ปีในการโคลนนิ่งเครื่องบินลำประวัติศาสตร์ลำนั้นขึ้นใหม่อย่างพิถีพิถันด้วยวงเงินกว่า 10 ล้านบาท และเชื่อว่าคนไทยมีฝีมือทางการบินไม่แพ้ต่างชาติเช่นที่ น.อ.เลื่อน ทำได้สำเร็จ และจะขอย้อนรอยเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์นั้นอีกครั้งด้วยโครงการบินย้อนรอยประวัติศาสตร์เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี "นางสาวสยาม" เปิดตัวไปเมื่อ 17 ธันวาคม 2544

แต่เมื่อเปิดตัวโครงการแล้ว เริ่มต้นภารกิจ นางสาวสยามได้ติดขัดต้องเลื่อนไป เพราะเกิดอุบัติเหตุตกลงกลางทุ่ง เพราะน้ำเข้าคาร์บูเรเตอร์ นาวาอากาศเอกวีรยุทธปลอดภัย และมุ่งมั่นกับภารกิจนี้ต่อไป แต่ภารกิจของ "นางสาวสยาม" ก็ยังไม่ลุล่วง

กำลังรอคอย น่านฟ้าประเทศเพื่อนบ้านเปิดรับเพื่อการเชื่อมความสัมพันธ์ครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้อยู่

"นางสาวสยาม"วันนี้เป็นเช่นไรแล้ว ?

"พลเมืองเหนือ" ได้พบกับ น.อ.สำราญ เกสร ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้านักบิน มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าให้ฟังว่า "นางสาวสยาม" ยังอยู่ในสภาพดี พร้อมที่จะบินอยู่ที่มูลนิธิฯ ที่ดอนเมือง ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2547 ตนและประธานฯ ได้ทำตามความมุ่งหมายเดิมคือบินย้อนรอยจากเชียงใหม่ - กรุงเทพ - นครพนม - อุบลราชธานี และยังอยากบินต่อไปยังเมืองซัวเถา ประเทศจีน แต่ก็ยังคงติดขัดเรื่องใบอนุญาตการบินผ่านน่านฟ้าประเทศลาว เวียดนาม และจีน ซึ่งกำลังรออยู่ และทันทีที่ได้รับอนุญาตเราจะปฏิบัติภารกิจตามความมุ่งมั่นเดิมแน่นอน

ก่อนหน้านี้ น.อ.วีรยุทธ ดิษยศริน ได้เคยให้สัมภาษณ์ "พลเมืองเหนือ"ถึงเครื่องบินนางสาวสยามหลังเกิดอุบัติเหตุได้ไม่นานว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมบิน เพราะตรวจสอบและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ขณะนี้ก็เก็บดองลักษณะหล่อน้ำมันใส่ในลูกสูบเพื่อไม่ให้เกิดสนิม และเปิดการเจรจากับประเทศจีน ลาว และเวียดนามเพื่อขอทำการบินอีกครั้ง

เส้นทางบินที่นางสาวสยามร่อนผ่าน ทั้งเชียงใหม่ - ลำปาง -กรุงเทพ -นครราชสีมา -ขอนแก่น - นครพนม - อุบลราชธานี - บุรีรัมย์ และกลับมายังนครราชสีมา และกรุงเทพ สะสมระยะบินได้ 2,000 กว่าไมล์แล้ว นับเป็น 2 ใน 3 ของระยะทางที่จะบินไปยังเมืองจีน รอคอยเพียงการเจรจาว่าจะสำเร็จเมื่อใดเท่านั้น ซึ่งเดิมได้คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะเริ่มบินได้ในปี 2548

"ผมก็ขอให้ประชาชนให้กำลังใจและติดตามผลการเจรจา สัญญาว่าจะทำให้ดีที่สุด แต่ออกนอกประเทศ อยู่ที่ต่างประเทศให้ความสนใจและความเข้าใจ กับความสามารถของคนไทยไปเจรจาว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นร่วมกันคือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ด้วยครับ" คุณแตง หรือ น.อ.วีรยุทธเคยบอกไว้เช่นนั้น

นอกเหนือการรอคอยภารกิจสำคัญของการย้อนรอย "นางสาวสยาม" กำลังมีโครงการจะทำอีกหน้าที่หนึ่ง ซึ่งน.อ.สำราญ บอกว่า น.อ.วีรยุทธ มีโครงการจะให้นางสาวสยาม ซึ่งเป็นเครื่องบินพลเรือนลำแรกของไทย เป็นเครื่องบินลำแรกที่จะร่อนลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิในวันประกอบพิธีเปิด ซึ่งได้ยื่นเรื่องต่อกระทรวงคมนาคมไปแล้ว และรอการประสานงานกลับ รวมทั้งรอวันที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้วเสร็จ

เชื่อว่า คนไทยยังคงรอคอย…และเป็นกำลังใจให้กับภารกิจของ "นางสาวสยาม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net