Skip to main content
sharethis

นิวยอร์ก-ไอพีเอส-3 พ.ค.48 ข้อมูลกก.พิทักษ์ผู้สื่อข่าวซึ่งรายงานสู่สาธารณะเนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลกวันนี้ ชี้ชัดว่า เหตุผลที่ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่ถูกสังหารมาจากข่าวที่พวกเขาเสนอ หาใช่เพราะการสู้รบหรือเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงภัยไม่

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิทักษ์ผู้สื่อข่าว (The Committee to Protect Journalists: CPJ ) หรือ ซีพีเจ องค์กรไม่แสวงผลกำไร มีสำนักงานอยู่ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา นำเสนอรายงานเกี่ยวกับการฆาตกรรมผู้สื่อข่าว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ข้อมูลซีพีเจ ระบุว่า นับจากปี 2543 ประเทศฟิลิปปินส์เกิดเหตุฆาตกรรมผู้สื่อข่าวสูงที่สุดในโลกคือ 18 ราย รองลงมาคือ อิรัก มีนักข่าวถูกฆาตกรรม 13 คน โคลัมเบีย 11 คน บังคลาเทศ 9 คนและรัสเซีย อย่างน้อย 7 คน โดย 5 ประเทศนี้ มีนักข่าวถูกฆ่าตายจากการปฏิบัติหน้าที่มากที่สุด รวมกันเกือบครึ่งของจำนวนทั้งหมด

ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ยอดผู้เสียชีวิตจำนวน 121 คน จากทั้งหมด 190 คนนั้น ไม่ได้เสียชีวิตในบริเวณที่มีการสู้รบหรือเสี่ยงทำข่าวอันตราย แต่กลับตายเพราะข่าวที่พวกเขานำเสนอ โดยผู้ลงมือมีส่วนเกี่ยวข้องหรือพัวพันกับข่าวนั้นๆ

ประเด็นที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ คดีกว่า 85% ไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้

แอน คูเปอร์ ผู้อำนวยการซีพีเจ กล่าวว่า ความล้มเหลวในการสอบสวนและลงโทษคนผิด เท่ากับว่ารัฐบาลใน 5 ประเทศนี้ กำลังส่งเสริมฝ่ายที่พยายามปิดปากสื่อผ่านทางความรุนแรง และความรุนแรงก็จะเป็นอุปสรรคขวางเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร

รายงานของซีพีเจระบุด้วยว่า กรณีของฟิลิปปินส์นั้น ผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิต ล้วนเคยนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการทุจริตของรัฐบาลและตำรวจ การค้ายาเสพติดและการเปิดโปงกิจกรรมที่ผิดกฎหมายของกลุ่มแก๊ง
อาชญากรรม

แตกต่างจากที่อิรัก ซึ่งผู้สื่อข่าวเสียชีวิตด้วยสาเหตุการสู้รบเป็นสาเหตุ แต่จากการรวบรวมข้อมูลของ
ซีพีเจ ก็พบด้วยว่า การตายของนักข่าว 13 คนจาก 41 คน ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานนั้น เป็นการฆาตกรรม และกว่าครึ่งของนักข่าวที่ถูกฆ่า เป็นเป้าหมายของฝ่ายต่อต้าน เพราะใกล้ชิดอยู่ในสังกัด หรือถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกับกองกำลังต่างชาติ องค์กรต่างชาติหรือกลุ่มการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net