Skip to main content
sharethis

ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนทางด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยพายัพ ได้เคยจัดเสวนาเรื่อง แนวคิดและวิธีการแก้ไขผลกระทบของมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่ม เติมโดย พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2 และ 3) พ.ศ.2535 ต่อเด็กไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย หลายฝ่ายมองว่าควรแก้ไขโดยด่วน เพราะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเป็นตราบาปให้แก่เด็กตั้งแต่เกิด

ทั้งนี้หลักกฎหมายที่ปรากฏในมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 จะเห็นว่า มาตรานี้เป็นบทบัญญัติที่ให้ "ถือว่า" บุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยจากบุพการีต่างด้าวที่เข้าเมืองไม่ถาวร "เป็นคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

กล่าวคือ ทำให้คนที่เกิดในประเทศไทย กลายเป็นคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง!!

โดยความร้ายแรงของบทบัญญัติ และผลกระทบในทางข้อเท็จจริงต่อสังคม จะเห็นว่า บุคคลจำนวนมากทั้งทุกภาคส่วนของสังคม ต่างก็เห็นว่า มาตรา 7 ทวิ วรรค 3 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 30 และมาตรา 32

ในมาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 บัญญัติว่า "บุคคลย่อม
เสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรม
นูญ จะกระทำมิได้

มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นมาเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม"

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่า มาตรา 7 ทวิ วรรค 3 ย่อมขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 30 เพราะบุคคลธรรมดาทุกคนที่เกิดในประเทศไทย มิได้ตกเป็น "คนผิดกฎหมาย" ทุกคน เฉพาะแต่ "บุคคลที่เกิดในประเทศไทย โดยมีบุพการีเป็นคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในลักษณะถาวรเท่านั้น" ที่มาตรา 7 ทวิ วรรค 3 ระบุให้เป็นคนผิดกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ในขณะที่ ประเด็นการได้สัญชาติไทยหรือไม่ได้สัญชาติไทยของบุคคลที่เกิดในประเทศไทยนั้น ภายใต้มาตรา 7 ทวิ วรรค 2 ยังอาจอธิบายได้ในแง่มุมของหลักความเท่าเทียมกันของมนุษย์ กล่าวคือ บุตรของคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยอยู่ถาวรในประเทศไทย ควรได้รับสัญชาติไทยโดยอัตโนมัติ ก็เพราะครอบครัวของเขาอยู่อาศัยอย่างถาวรในประเทศไทย เขาจึงควรได้รับการยอมรับในสถานะของคนชาติในลักษณะที่ง่ายกว่า บุตรของคนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิอาศัยอยู่ประเทศไทยในลักษณะถาวร

เพราะฉะนั้น กรณีนี้ จึงไม่เลือกปฏิบัติ เพราะบุคคลในสถานการณ์หลัง ย่อมมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยน้อยกว่า บุคคลในสถานการณ์แรก คนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราวย่อมต้องออกไปจากประเทศไทย เมื่อระยะเวลาหรือเหตุในการอนุญาตให้อาศัยอยู่สิ้นสุด หรือคนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิอาศัยเลยในประเทศไทย ย่อมต้องออกไปจากประเทศไทยเมื่อถูกจับได้ว่า หลบหนีเข้าเมืองไทย การได้สัญชาติไทยจึงอาจไม่จำเป็น หากมิได้ใช้ชีวิตในประเทศไทย ดังนั้น การที่มาตรา 7 ทวิ วรรค 1 ปฏิเสธที่จะให้สัญชาติจึงไม่ขัดต่อมาตรา 30 บุคคลทั้งสองกลุ่มมิได้เป็นบุคคลในสถานการณ์เดียวกัน

แต่ประเด็นเกี่ยวกับความเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือไม่ของบุตรที่เกิดในประเทศไทย ของคนต่างด้าวภายใต้มาตรา 7 ทวิ วรรค 3 นั้น เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักห้ามการเลือกปฏิบัติในมาตรา 30 อย่างชัดเจน

จะเห็นว่า การเกิดในประเทศไทย ไม่ทำให้บุคคลที่เกิดในประเทศไทยจากบุพการีสัญชาติไทย หรือจากบุพการีต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยอยู่ถาวร ตกเป็น "คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย" ในขณะที่การเกิดในประเทศไทย กลับทำให้บุคคลที่เกิดในประเทศไทยจากบุพการีต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ชั่วคราวหรือเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตกเป็น "คนผิดกฎหมาย" ทำให้ตั้งข้อสังเกตเห็นว่า... บุคคลที่เกิดในประเทศไทยเช่นกัน กลับได้รับการปฏิบัติแตกต่างกัน ทั้งที่ความเป็นมนุษย์ของบุคคลทั้งสองกลุ่มมิได้แตกต่างกัน

โดยสรุป การที่มาตรา 7 ทวิ วรรค 3 กำหนดให้ "บุตรที่เกิดในประเทศไทยของคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยในลักษณะไม่ถาวร" ตกเป็น "คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย" แต่มิได้กำหนดให้ "บุตรที่เกิดในประเทศไทยของคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยในลักษณะถาวร" ตกเป็น "คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย" ดังนั้น มาตรา 7 ทวิ วรรค 3 นี้ จึงเป็นบทบัญญัติที่เอื้อต่อการเลือกปฏิบัติที่มิชอบ อันเป็นการไม่เคารพในหลักความเท่าเทียมกันของมนุษย์ อันเป็นสารัตถะของมาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

จะเห็นว่า ความแตกต่างที่ปรากฏในบุคคลที่เกิดในประเทศไทยนั้น มิใช่ข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การจะนำเอาความแตกต่างดังกล่าวมากำหนดให้บุคคลตกเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายนั้น จึงเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 30 อย่างชัดเจน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net