Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ- 23 เม.ย.48 ภาคประชาชน -นักศึกษา 6 องค์กร เสนอประธานที่ประชุมยูเอ็นว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมฯ ยกคดี "อุ้มทนายสมชาย" เป็นกรณีศึกษาแก้ปัญหาอาชญากรรมโดยรัฐ

วานนี้ตัวแทนเครือข่ายองค์กรนักศึกษา องค์กรประชาชน 6 องค์กร เดินทางไปยื่นหนังสือถึง ประธานที่ประชุมองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา เรียกร้องให้ที่ประชุมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ กำหนดมาตรการแก้ปัญหาการก่ออาชญากรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ก่อ

องค์กรฯ ประกอบด้วยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) [Student Federation of Thailand, SFT] กลุ่มเพื่อนประชาชน(FOP.) [Friend of People] คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน [Thai Coalition the Protection for Human Rights Defenders] คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(ศยป.) [Young People for Democracy Coordination Center, YPD] ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม(สสธ.)

"องค์กรนักศึกษาและเครือข่ายองค์กรประชาชน จึงขอให้ที่ประชุมนี้ได้พิจารณาหามาตรการแก้ ปัญหาอาชญากรรมที่ทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือทำโดยนโยบายรัฐด้วย เพื่อป้องกันและหามาตรฐานความรับผิดชอบในนามรัฐประเทศ โดยอาจใช้กรณีการอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตรเป็นกรณีตัวอย่างในการหามาตรการและบรรทัดฐานร่วมกัน และ2.ขอให้ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาหามาตร การดำเนินการกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการเมืองเป็นผู้กระทำผิดทางเศรษฐกิจหรือได้ประโยชน์ในทางนโยบาย" หนังสือฉบับดังกล่าวระบุ

หนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ได้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นและเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ และมีสาเหตุแห่งการก่อการร้ายที่มีความเกี่ยวโยงกันเป็นระบบในแง่ความสัมพันธ์ทางอำนาจ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมระหว่างชาติที่มีความเหลื่อมล้ำ

รวมถึงการเอาเปรียบกดขี่และนำมาซึ่งอคติ ซึ่งรัฐบาลในแต่ละประเทศจะต้องพิจารณาไปให้ถึงสาเหตุ อันจะได้นำไปสู่การป้องกันการก่อการร้าย หรือการป้องกันอาชญากรรม โดยที่ไม่ต้องเน้นการใช้กองกำลังทหารและอำนาจเข้าจัดการ

ซึ่งนั่นหมายถึงการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธเข้าจัดการปัญหาซึ่งก็เป็นการจัดการปัญหาที่ปลายเหตุและทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตที่เกิดจากการกระทำของทั้ง 2 ฝ่ายจำนวนมาก เนื่องเพราะความซับซ้อนของปัญหานี้ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงเพื่อตอบโต้ความรุนแรงได้ ดังที่เกิดขึ้นอยู่ในหลายประเทศในปัจจุบัน รวมทั้งสถานการณ์ในประเทศไทย

ทั้งนี้ ในปัจจุบันพบว่าการก่ออาชญากรรมที่รุนแรงและเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยนั้น พบว่าเป็นการก่ออาชญากรรมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง ซึ่งหากมองในประวัติศาสตร์ก็จะพบว่าอาชญากรรมที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐและที่เกิดจากนโยบายของรัฐนั้นเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ แต่ก็ยังไม่มีมาตรการใดที่สามารถดำเนินเอาผิดหรือลดอาชญา กรรมโดยรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐได้ และการประชุมในครั้งนี้ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญและกล่าวถึงอาชญา กรรมโดยรัฐแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net