Skip to main content
sharethis

"พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ... จะใช้ทันทีในการประชุมครม.นัดแรก เพราะทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว โดยจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันศุกร์นี้(11 มี.ค.) " นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวในวันนี้ ซึ่งเป็นวันประชุมครม.วันสุดท้าย พร้อมทั้งถือโอกาสนี้สรุปผลงานการประชุมครม.รัฐบาลทักษิณ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

เขาอธิบายด้วยว่าเหตุที่เลือกจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันศุกร์นี้ เพราะหากประกาศเร็ว บังคับใช้เร็วภายใต้ครม.ชุดเดิม รัฐมนตรีอาจจะสับสนได้ เนื่องด้วยมีการปรับเปลี่ยนหลักเดิมหลายประการ เพื่อลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพการประชุมครม.

ขณะเดียวกันเลขาธิการครม. ก็แถลงผลงานการประชุมของครม. โดยยืนยันว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาการประชุมครม.ชุดที่ 54 ภายใต้นายกรัฐมนตรี "ทักษิณ ชินวัตร" นั้นมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน!!!!

โดยมีการประชุมทั้งสิ้น 13,054 ครั้ง และในจำนวนทั้งหมดนี้น่าสนใจว่า เป็นวาระประธานแจ้งให้ทราบถึง 780 มติ ซึ่งนายบวรศักดิ์ชี้แจงว่า วาระดังกล่าวคือวาระที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แจ้งที่ประชุม โดยเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลแทบทั้งสิ้น

ซึ่งนั่นเท่ากับนายกรัฐมนตรีโยนวาระสำคัญๆ เข้าในที่ประชุมครม. เฉลี่ยสัปดาห์ละ 15 เรื่อง มากกว่าสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัยราว 5 เท่า

ส่วนวาระอื่นๆ นั้นแบ่งเป็นวาระเพื่อพิจารณา 1,221 มติ วาระเพื่อทราบ 8,040 มติ วาระทักท้วง 115 มติ และวาระจร 2,898 มติ

นายบวรศักดิ์กล่าวด้วยว่า ตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพที่สำคัญคือ การร่นเวลาประชุม จากเดิมที่ใช้เวลาทั้งวันเหลือเพียงครึ่งวัน ซึ่งเป็นเหตุมาจากมี ระบบลดเรื่องที่ไม่สำคัญ ทำให้ดำเนินการไปได้รวดเร็วขึ้น และมอบอำนาจเรื่องไม่สำคัญให้ตัดสินใจดำเนินการไปได้แล้วแจ้งคณะรัฐมนตรีทราบ

ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งช่วยให้เกิดการประชุมทางไกลได้แม้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีบางคนเดินสายตรวจราชการตามต่างจังหวัด อีกทั้งจากการคำนวณโดยละเอียดยิบพบว่าลดการใช้กระดาษได้กว่า 7,878,828 แผ่น

นอกจากนี้ยังมี การลดวาระจร ลงกว่าที่ผ่านมามาก และมี ระบบกลั่นกรองเรื่อง โดยคณะกรรมการกลั่นกรองที่มีอยู่หลายชุดภายใต้รองนายกรัฐมนตรีคนต่างๆ ทำให้ความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานราชการมีข้อยุติภายใต้คณะกรรมการกลั่นกรองเหล่านี้

สิ่งสำคัญที่เลขาธิการครม. พยายามยกเป็นข้อแตกต่างของครม.ชุดทักษิณ 1 ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่และริเริ่มขึ้นเป็นชุดแรก ก็คือ การประชุมที่มีลักษณะบูรณาการ ซึ่งเป็นการพิจารณาเรื่องต่างๆ ที่อยู่บน 3 ฐานหลัก คือ เป็นวาระสำคัญของรัฐบาล (Agenda) เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลมีนโยบายและโครงการต่างๆ ของตนเองอย่างชัดเจน เป็นจำนวนมาก และมีความเชื่อมโยงกันราวกับภาพจิ๊กซอว์ โดยเคล็ดสำคัญคือการพิจารณาไปทุกมิติ ทุกกระทรวงร่วมกันไป

ฐานที่ 2 คือ เป็นวาระของพื้นที่ (Area) ดังที่เห็นการประชุมสัญจร นกขมิ้นเหลืองอ่อนกันเป็นระยะๆ เพื่อให้การแก้ปัญหาในท้องที่ต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วทันใจ

ฐานที่ 3 คือ เป็นวาระที่กระทรวงเสนอตามอำนาจหน้าที่ (Function) ซึ่งเป็นจารีตที่ทำกันมาตามปกติ และครม.ก็จะพิจารณาตามที่กระทรวงนั้นๆ เสนอ

ทั้งหมดนี้นำไปสู่ประสิทธิภาพของการประชุมครม.ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

……..

นี่เป็นคำยืนยันถึงประสิทธิภาพของการประชุมครม. 4 ปีที่ผ่านมา จากการแถลงของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนเดียวกันกับที่ร่างพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่อ้างว่าเป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประชุมครม.

บางทีประเด็นสำคัญกว่าการเพิ่มประสิทธิภาพ น่าจะเป็นการตรวจสอบ "ประสิทธิภาพ" ที่มีอยู่นั้น ซึ่งปรมาจารย์ด้านกฎหมายหลายคนในรัฐบาลทักษิณที่เป็นกุนซือจัดการระบบกฎหมายอยู่ขณะนี้ไม่เคยพูดถึงเลยแม้แต่น้อย และยังคงไม่มีทีท่าว่าจะคำนึงถึงมันแต่ประการใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net