Skip to main content
sharethis

สงขลา-25 ก.พ.48 วันนี้ ที่โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ต อ.สิงหนคร จ.สงขลา เครือข่ายองค์กรมุสลิมแห่งเอเชีย( Asian Muslim Action Network : AMAN) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดอบรมการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยมีนักวิชาการ เอ็นจีโอ แพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมจากประเทศต่างๆ ที่เกิดปัญหาความขัดแย้ง เข้าร่วม36 คน

อามานก่อตั้งโดยกลุ่มมุสลิมสายกลางจาก 22 ประเทศ โดยสมาชิกของอามานเป็นองค์กรเอกชนมุสลิม อาทิ กลุ่มของอับดุลเราะห์ วาฮิด อดีตประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ส่วนของไทยมี รศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นกรรมการ

นายอิมติยาซ ยูซุ๊ป ประธานจัดการอบรม กล่าวว่า การจัดการอบรมครั้งนี้ในส่วนของไทยได้หยิบยกกรณีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความขัดแย้งจากโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย กรณีเขื่อนปากมูล กรณีชนกลุ่มน้อยชาวพม่าในประเทศไทย มาเป็นกรณีศึกษาในการจัดทำหลักสูตร การแก้ปัญหาตามแนวทางสันติวิธี ใช้เวลาการอบรมตั้งแต่วันที่ 21 -27 ก.พ.ศกนี้

นายอิมติยาซ กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยแนวทางสันติวิธีโดยการให้คู่กรณีหมายถึง รัฐบาลไทยกับผู้ก่อความไม่สงบมาเจรจากัน ทำได้ยากเพราะไม่รู้ว่า กำลังสู้รบกับใคร ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเปิดเผยออกมาให้ชัดเจน

ส่วนการหยิบยกปัญหาความขัดแย้งในต่างประเทศ ที่อามาน เป็นกรณีศึกษา ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ แคว้นอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ชนกลุ่มน้อยในประเทศบังคลาเทศ ความขัดแย้งในประเทศอัฟกานิสถาน อิรัก เป็นต้น

นายเอกราช อับดุซซอบุร ผู้ประสานงานอามานกล่าวถึงกรณีโอไอซี ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจรัฐบาลไทยที่ไม่ยุติความรุนแรงในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ถือว่า เป็นเรื่องที่ดีที่โอไอซีให้ความสนใจกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงให้เห็นว่า โอไอซีเริ่มมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิม หรือความขัดแย้งระหว่างมุสลิมด้วยกันเอง

นายเอกราชเห็นว่า ต่อไปนี้ โอไอซีอาจจะดำเนินการอย่างกรณีความขัดแย้งระหว่างมุสลิมบนเกาะมินดาเนากับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งครั้งนั้นโอไอซีได้ใช้มาตรการกดดันรัฐบาลให้ฟิลิปปินส์ดูแลชาวมุสลิมในประเทศ เทียบเท่ากับชาวคริสต์

นอกจากนี้ยังผลักดันให้เจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางตอนใต้ของประเทศ คือ MNLF ที่ประเทศซาอุดิอารเบียได้สำเร็จ จนกระทั่งมีการลงนามในสนธิสัญญาลิเบีย นำมาสู่การจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ โดยให้ MNLF ปกครอง และยอมรับเขตปกครองนี้ ให้เป็นสมาชิกของโอไอซี แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งเขตปกครองพิเศษมีปัญหาตามมาเพราะกลุ่ม MNLF ไม่ใช่ตัวแทนของชาวมุสลิมทั้งหมด จึงทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมด้วยกันเอง และเกิดกบฏอื่นๆ ขึ้นมาอีก เช่น กลุ่มอาบูซายับ นำมาสู่การฆ่าฟันกันระหว่างมุสลิมด้วยกันเอง เนื่องจากMNLF ยังมีการกดขี่มุสลิมด้วยกันเองด้วย แต่โอไอซีก็สามารถเข้าไปแทรกแซงและกดดันกลุ่มนี้ได้เช่นกัน

โอไอซี ยังเข้าไปช่วยเหลือชาวมุสลิมในหมู่เกาะมินดาเนา ซึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา เช่นเดียวกับส่วนอื่นของโลกที่ชาวมุสลิมได้รับความเดือดร้อน

สำหรับประเทศไทย การแก้ปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าวคงทำได้ยากเพราะ ยังไม่ชัดเจนว่า รัฐบาลไทยกำลังสู้รบกับใคร เพราะฉะนั้นสิ่งที่โอไอซีทำได้คือ ลงไปถึงระดับรากหญ้า และให้คนทั้งประเทศร่วมมือกัน และให้ประชาชนในพื้นที่3 จังหวัดภาคใต้ มีส่วนร่วมในการเรียกร้องสิทธิและความต้องการต่างๆ แต่ถ้าหากทราบคู่กรณีชัดเจนว่า เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดน โอไอซีอาจจะใช้วิธีให้ทั้งสองฝ่าย มาเจรจาเพื่อหาจุดร่วมที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ และยอมทำตามวิธีการที่กำหนดขึ้น โดยการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งเห็นว่า เป็นเรื่องที่ดี หากนำมาใช้ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย แต่ต้องให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมมากที่สุด

ด้าน ดร.โมน่า เจอร์ลี่ จิตแพทย์ ชาวอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรม กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะแสดงให้เห็นว่า โอไอซี ก็ให้ความสนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิม แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศมุสลิมก็ตาม และมีมุสลิมอยู่น้อยก็ตาม แม้โอไอซีเป็นองค์กรใหญ่ แต่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่จะต้องดำเนินการ แต่อาจมีบางส่วนที่โอไอซีอาจ เข้าไปมีส่วนรับผิดชอบปัญหาที่เกิดชึ้นกับชาวมุสลิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net