Skip to main content
sharethis

ในการประชุม" วิชาการ" และ "ธุรกิจ" ถ่านหินที่สำคัญของโลก หรือ Coaltrans Thailand 2005 ระหว่างวันที่ 24-25 มกราคม 2548 ที่จัดขึ้นที่จังหวัดลำปางนั้น มีประเทศผู้ผลิตและผู้ค้า "ถ่านหิน" รายใหญ่ของโลกมาร่วมวงกับเราไม่น้อย ทั้งออสเตรเลีย อินโดนีเซีย แคนาดา เยอรมัน และอีกหลายประเทศ เพื่อพูดคุย "ด้านดี" ของถ่านหิน การจัดการสิ่งแวดล้อม อนาคตการตลาด และแสวงหาความร่วมมือเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำธุรกิจพลังงาน

โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ของไทยเป็นเจ้าภาพหลัก ในฐานะเป็นหน่วยผลิตไฟฟ้าของไทย และในฐานะที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดยักษ์ของประเทศ คือ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

งานนี้หลายคนสะดุ้งโหยง เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมารู้จักโรงไฟฟ้าแม่เมาะในฐานะต้นเหตุที่ทำให้ชาวบ้านหลายหมู่บ้านในละแวกใกล้เคียงป่วยเรื้อรังและล้มหายตายจากเป็นใบไม้ร่วง

กระนั้นก็ตาม วัตถุประสงค์ของงานนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า นอกจากจะหารือเรื่องธุรกิจแล้ว ยังเป็นไปเพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่แท้จริงของโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่เป็นปัญหามานาน รวมทั้งประชาสัมพันธ์แก่สาธารณชนว่า การผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงนั้น ทำให้ต้นทุนต่อหน่วย "ถูก" ลง ส่งผลดีกับเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าตลอดจนเหมืองถ่านหินนั้นสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างดี เพราะถ่านหินถือเป็นพลังงาน" สะอาด" และเป็นทรัพยากรที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

ในเรื่อง "ถูก" นั้น เมื่อเทียบต้นทุนการผลิตกับเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ แล้วต้องยกให้ถ่านหิน เพราะนางสุธารัตน์ อังจันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าการควบคุมระบบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ยืน
ยันในเรื่องต้นทุนการผลิตว่า ต้นทุนก๊าซธรรมชาติจะอยู่ที่ประมาณ 1.34-1.40 บาทต่อหน่วย น้ำมันเตาประมาณ 2.10 บาทต่อหน่วย น้ำมันดีเซลประมาณ 4.40 บาทต่อหน่วย ถ่านหินประมาณ 0.60บาทต่อหน่วย

แม้ในยามปกติที่การผลิตไฟฟ้าจะใช้ก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนสูงถึงกว่า 70% แต่ท่ามกลางการคาดการของกฟผ.ที่ว่าความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยเฉลี่ยปีละ 7 % กว่า ประกอบกับการวางท่อส่งก๊าซโครงการร่วมไทย-มาเลเซีย ยังล่าช้ากว่าจะเสร็จก็กรกฎาคม 2549 ทำให้กฟผ.ต้องหันมาใช้เชื้อเพลิงที่ต้นทุนต่ำสุดในการรองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว

อีกทั้งแหล่งถ่านหินที่สำคัญอย่างแม่เมาะก็สามารถขุดเจาะถ่านหินมาใช้ได้ถึง 890 ล้านตัน หรือใช้ผลิตไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 75 ปี

ส่วนเรื่อง "ดี" นั้น กฟผ. ยืนยันถึงประสิทธิของเทคโนโลยีในการจัดการว่า ทั้งเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าแม่เมาะไม่ก่อมลภาวะ โดยมีการใช้เทคโนโลยีช่วยในการลดผลกระทบอีกชั้นหนึ่ง ทั้งการติดตั้งเครื่องดักก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ระบบไฟฟ้าสถิตดักจับฝุ่นที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงมีการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่แหล่งผลิตและสถนชุมชนใกล้เคียงจนมีประสิทธิ ภาพสวยงาม โดยเฉพาะเหมืองแม่เมาะที่มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก จนได้ชื่อว่า Green Mine หรือ มีการเอาใจใส่ในสิ่งแวดล้อมทุกขั้นตอนเป็นอย่างดี

ความสะอาดนี้ ยังรวมไปถึงความพยายามที่จะนำเข้าถ่านหินคุณภาพดีจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลกมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า โดยถ่านหินที่ว่านี้ผลิตก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์น้อยกว่าถ่านหินชั้นเลวอย่างลิกไนต์ที่ได้จากแหล่งในประเทศไทย

แน่นอน การสร้างวาทกรรมใดๆ ขึ้นในสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อชาวบ้านผู้มีประสบ การณ์ที่แลกมาด้วยชีวิตและชุมชนของตนเอง พยายามยืนยัน "ด้านลบ" ของโรงไฟฟ้าถ่านหินตลอดมา ดังนั้น จึงมีการจัดเวทีคู่ขนานขึ้นเพื่อให้ข้อมูลอีกชุดหนึ่ง ชุดเดียวกันกับชุดเปิดตัวที่ทำให้หลายคนรู้จักกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะในปี 2538

อดีตอันเจ็บปวดของ "แม่เมาะ" *

ความเจ็บป่วยด้วยอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจของชาวบ้านแม่เมาะ รวมถึงสัตว์เลี้ยงและพืชพันธุ์ที่เสียหายจากการปล่อยมลพิษของโรงไฟฟ้าเมาะเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนมาตั้ง 2538
เนื่องจากการใช้ "ถ่านหิน" เป็นพลังงานในกระบวนการผลิต จะมีการปล่อยกำมะถันออกมา อันก่อให้เกิดฝุ่นละอองและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งเป็นสารพิษหลัก
ก๊าซที่ว่านี้จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจระคายเคืองและบวมขึ้น หลอดลมตีบลง หายใจลำบาก แสบจมูก แน่นหน้าอกจนหายใจไม่ออก หอบหืด แม้ไม่สะสมในร่างกาย
แต่หากได้รับติดต่อเป็นเวลานานจะมีผลเช่นเดียวกับควันบุหรี่ คือ ทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจและระบบการกรองป้องกันของเสียและเชื้อโรค อาจเกิดการติดเชื้อและมีผลเฉียบพลันถึงเสียชีวิตได้ ผลเรื้อรังคือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปอด หากผู้ป่วยสูบบุหรี่ จะทำให้พิษจากบุหรี่สะสมในปอดนานกว่าปกติ โอกาสเกิดมะเร็งจะมีมากขึ้น

อันที่จริงสาเหตุของปัญหานี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๓๕ เพราะความผกผันของอากาศ กล่าวคือ ในปี ๒๕๓๕ อากาศหนาวเร็วกว่าปกติ ลมหนาวปะทะกับลมร้อน ทำให้ลมเปลี่ยนทิศไปทางตะวันออกเฉียงใต้เข้าหมู่บ้านสบป้าด ซึ่งอยู่ในหุบเขาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโรงไฟฟ้า อุณหภูมิของอากาศที่ผกผันทำให้เกิดเพดานอากาศ ดักสารพิษที่ปล่อยจากปล่องโรงไฟฟ้าซึ่งสูง 80 เมตร และ 150 เมตร ของทั้ง 11 โรงผลิตไฟฟ้าภายในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และดึงเอาสารพิษที่ถูกกักไว้ใต้เพดานอากาศลงสู่พื้นดิน ทั้งที่ปกติไม่เคยมีปัญหาเรื่องลมเปลี่ยนทิศและเรื่องสารพิษมาก่อน
หลังจากเหตุการณ์จ่ายเงินชดเชยกว่า ๔ ล้านบาท โดยจ่ายให้ผู้ป่วยในรายละ ๕ พันบาท ผู้ป่วยนอกรายละ ๑ พันบาท จ่ายเงินค่าเสียโอกาส ในการทำงานในช่วงที่ป่วยรายละ ๑๐๐ บาทต่อวัน รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหาย ที่เกิดกับสัตว์และพืชผลทุกกรณี
อย่างไรก็ตาม เงินที่จ่ายชดเชยนี้เป็นการจ่ายตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงและที่เห็นผลเสียหายอย่างชัดเจน มิใช่เป็นการชดเชยผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
กลุ่มคนที่อ่อนแอทั้งคนที่เคยได้รับสารพิษเป็นเวลานาน เด็ก คนชรา คนเป็นโรคหัวใจ ภูมิแพ้ หรือโรคระบบทางเดินหายใจ เริ่มมีอาการเจ็บป่วยอย่างเฉียบพลัน ผู้ป่วยซึ่งรวมทั้งชาวบ้านและพนักงานมีกว่า ๑,๐๐๐ และถึงขนาดที่หลายคนที่ต้องมีถังออกซิเจนประจำบ้าน ซึ่งจะได้รับการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปยังเพื่อนบ้านที่ยากจนเมื่อเจ้าของถังออกซิเจนตายลง
เรื่องราวความเจ็บปวดนี้ยังเป็นประเด็นต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านกันอย่างยืดเยื้อ ตลอด จนการจัดการสิ่งแวดล้อมก็ดูเหมือนยังไม่ลงตัว หากแต่เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชนเพียงบางครั้งบางคราว จนหลายคนอาจลืมเลือนกรณีนี้ไปแล้ว

เวทีระดับโลกว่าด้วย "ถ่านหิน" ของกฟผ. และเวทีคู่ขนานของชาวบ้านและเอ็นจีโอนี้ ก็ถือเป็นการต่อสู้กันอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างความจริงว่าด้วย "ความสะอาด" ของถ่านหิน และ "ความเจ็บปวด" ของชาวบ้าน

*เรียบเรียงจากสมุดปกขาวทีดีอาร์ไอ "อากาศเป็นพิษที่แม่เมาะ : ทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า" ฉบับ 1 ส.ค.2536

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net