Skip to main content
sharethis

ประชาไท-20 ม.ค.48 หนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร.0503/14/พ ลงวันที่ 6 ม.ค.48 อาจจะหลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่พอจะใช้อ้างอิง ให้เราสามารถเห็นร่องรอยความเป็นมาของ "ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ..." อันเป็นต้นเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย โดยเฉพาะ นักวิชาการ ภาคประชาชน หรือกระทั่งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

แม้ว่า รัฐบาลโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะให้สัมภาษณ์ลดกระแสคัดค้านว่า ยังต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ในการดำเนินการ แต่จากเอกสารราชการฉบับดังกล่าวกลับชี้ชัดว่า รัฐบาลได้ออกแบบให้กฎหมายสำคัญฉบับดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างชอบธรรมอยู่แล้ว

------------------

เอกสารประทับตรา ด่วนที่สุด ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร.0503/14/พ ลงวันที่ 6 ม.ค.48 เรื่อง ร่างพระราช บัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... ส่งถึง รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม อ้างถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ว่า คณะรัฐมนตรีได้มอบ หมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) พิจารณาแนวทางการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและศึกษากฎหมายเฉพาะสำหรับเขตเศรษฐกิจของไทย

หนังสือระบุว่า ก่อนหน้านี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มอบหมายให้คณะทำงานด้านกฎหมายซึ่งมี นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานดำเนินการศึกษาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยคณะทำงานได้ยกร่าง พรบ.เขตพิเศษ พ.ศ. ...

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พ.ย.47 นายวิษณุ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กรมศุลกากร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มาหารือพิจารณา ร่าง พรบ.ดังกล่าว ซึ่งก็ได้รับเสียงสะท้อนว่า กฎหมายดังกล่าวสามารถตอบสนองความต้องการของคณะรัฐมนตรี และสามารถปรับใช้กับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดน โครงการเมืองใหม่ จังหวัดนครนายก และโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ แต่มีข้อสังเกตเพิ่ม
เติมในประเด็นสำคัญ กล่าวคือ

ควรจะแก้ไขชื่อร่าง พรบ.จากเดิม "ร่างพระราชบัญญัติเขตพิเศษ พ.ศ. ..." เป็น "ร่างพระราช
บัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ..." และ

การตราพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบในร่างพรฏ. ให้นายกรัฐมนตรีส่งร่าง พรฏ.ต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบ

รวมทั้งสมควรให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมมอบหมายให้คณะทำงานชุดนายมีชัย ไปปรับปรุงตามข้อสังเกตดังกล่าว

ทั้งให้นายวิษณุส่งเรื่องให้กับ กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาเสนอความเห็นภายใน 1 เดือน และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในการประชุมที่จังหวัดเชียงราย ดังที่ปรากฏเป็นมติคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 48 ที่ผ่านมา

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net